×

กกร. คงประมาณการ GDP ปีนี้ที่ 2.75-3.5% ห่วงส่งออกไทยครึ่งปีหลังชะลอ เหตุเศรษฐกิจทั่วโลกจ่อถดถอย กังวลภาคธุรกิจไทยรับมือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว

07.09.2022
  • LOADING...

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2565 ไว้ที่ 2.75-3.5% อานิสงส์การเปิดประเทศและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แม้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัวกว่าคาด เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง ห่วงส่งออกไทยครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเข้าสู่ภาวะถดถอยจากประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป พร้อมกังวลต้นทุนของภาคธุรกิจอย่างค่าไฟฟ้า, ค่าธรรมเนียม FIDF และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะฉุดการฟื้นตัว แนะรัฐทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว

 

วันนี้ (7 กันยายน) ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกันยายน 2565 เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มีมติคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.75-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0-8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่ายังจะอยู่ในกรอบ 5.5-7.0% 

 

พร้อมทั้งมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังสูงต่อไป เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในเดือนกันยายน และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงภายหลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรง ทำให้แนวโน้มส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่จะมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตลดลง

 

การท่องเที่ยว-มาตรการภาครัฐ แรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

 

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.12 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน และในระยะข้างหน้ายังจะได้อานิสงส์จากการขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าเดิม

 

ส่งออกครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลกระทบ แต่ไม่รุนแรง

 

ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะชะลอตัว เนื่องจากความเสี่ยงที่ประเทศเศรษฐกิจหลักจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มองว่าสินค้าแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยสินค้าที่มีความจำเป็นมากอาจได้รับผลกระทบน้อย 

 

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังอธิบายต่อว่า การส่งออกของประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สินค้าส่งออกกลุ่มวัตถุดิบภายใน เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งนับเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องการไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร โดยในกลุ่มนี้ไทยก็ยังสามารถนำเข้ามาแปรรูปแล้วส่งออกได้เรื่อยๆ จึงไม่น่ามีผลกระทบอะไร นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาทด้วย 

 

ขณะที่สินค้าส่งออกอีกกลุ่มซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบทุนมาผลิตอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานในโลก เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับตัวและหาแหล่งทดแทน

 

กังวลเรื่องต้นทุนภาคธุรกิจฉุดการฟื้นตัว

 

ที่ประชุม กกร. แสดงความกังวลว่า ต้นทุนของภาคธุรกิจที่กำลังสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง ได้แก่

 

  1. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด 
  2. การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  3. ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน ที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ

 

ดังนั้นที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการ จากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising