×

สภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ-สมาคมธนาคารไทย ประเมินน้ำท่วมปีนี้สร้างความเสียหาย 5 พัน – 1 หมื่นล้านบาท ทั่วประเทศ ระบุรุนแรงน้อยกว่าปี 2554

05.10.2022
  • LOADING...
น้ำท่วม

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะสร้างความเสียหายรวมทั้งประเทศประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เพิ่ม หวังอานิสงส์ท่องเที่ยวช่วยหนุน

 

วันนี้ (5 ตุลาคม) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2565 รวมทั้งประเทศ โดยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ภาคเอกชนยังมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ กระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สำหรับภาคการเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ส่วนใหญ่มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และโรงงานจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ไม่น่าจะเหมือนกับปี 2554 แต่จะท่วมเป็นบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความสบายใจ เนื่องจากเขื่อนหลักๆ ยังมีพื้นที่ในการสำรองน้ำได้อยู่เฉลี่ยอีก 20% ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนมีการเตรียมตัวอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเครื่องสูบน้ำและกระสอบทราย เป็นต้น

 

พร้อมทั้งระบุว่าจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังทราบข่าวว่าปีนี้จะมีน้ำมากจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทางภาคอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญ เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

 

ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP จากอานิสงส์ท่องเที่ยว

ที่ประชุม กกร. ยังปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เล็กน้อย โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.75-3.5% เนื่องจากได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอาจกระทบการส่งออก

 

ขณะเดียวกัน กกร. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสู่กรอบ 7.0-8.0% จากเดิมที่ 6.0-8.0%

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.17 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ทยอยฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากภาวะน้ำท่วม

 

ปรับกรอบคาดการณ์ ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีนี้

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่ประชุม กกร. ได้ปรับคาดการณ์ไปอยู่ในกรอบ 6.0-6.5% จากเดิม 5.5-7.0% พร้อมระบุว่าอัตราเงินเฟ้อไทยยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป

 

ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาพอุปสงค์ของโลกมีการชะลอตัวลง

 

เตรียมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

กกร. ได้มีการหารือถึงประเด็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่นและแข่งขันได้ โดย กกร. จะมีการหารือกับภาคเอกชน โดยจะเชิญ CEO จากแต่ละกลุ่มธุรกิจร่วมกันหารือเพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า พร้อมกับสร้างแนวทางความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

 

เกรียงไกรระบุอีกว่า จากกรณีประเทศไทยถูกปรับลดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน จากอันดับที่ 28 ไปสู่อันดับที่ 33 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความผันผวนต่างๆ และการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น มีความจำเป็นที่ภาคเอกชนต้องรีบเร่งร่วมพัฒนาขีดความสามารถกับภาครัฐ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายและ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค ต้นทุนแฝง และต้นทุนทางตรงต่อผู้ประกอบการในประเทศและต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

 

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องราคาพลังงานยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างมาก โดยค่าไฟฟ้าของไทยยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising