×

กกร. หั่น GDP อีกรอบ เหลือโต 0.5-2% หนุนรัฐออก พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท พยุงเศรษฐกิจ

19.05.2021
  • LOADING...
กกร. หั่น GDP อีกรอบ เหลือโต 0.5-2% หนุนรัฐออก พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท พยุงเศรษฐกิจ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2564 และได้ข้อสรุปว่า กกร. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 0.5-2% เนื่องจากเห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงเชิงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอก 3 

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธาน กกร. กล่าวว่า กกร. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5-2% จากเดิมที่ประเมิน (เมษายน 2564) ไว้ในกรอบ 1.5-3% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม  

 

ด้านการส่งออก กกร. คงประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 5-7% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคงประมาณการไว้ในกรอบ 1-1.2%

 

“การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ ธปท. และสภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2%”

 

กกร. กล่าวว่า การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การสื่อสารแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจนไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน และจะทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ 

 

ด้านเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาส 1 ปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีโมเมนตัมดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป 

 

ทั้งนี้ กกร. เสนอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 เรื่อง คือ 

 

  1. เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4

 

  1. เร่งผลักดัน พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

 

  1. เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

 

  1. เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย

 

“เรื่องที่เสนอให้รัฐเร่งทำเป็นเรื่องการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบให้มากขึ้นและเร็วขึ้น อย่างโครงการคนละครึ่ง กำหนดเดิมคือเดือนกรกฎาคม แต่เสนอให้ทำเร็วขึ้นเป็นมิถุนายน เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริงและสร้างการหมุนเวียนได้จริง ส่วน พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาทก็อยากให้ผ่านได้โดยดี และอยากเห็นแผนการใช้จ่ายงบส่วนนี้ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง” สุพันธุ์กล่าว 

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย หนึ่งในสถาบันของ กกร. กล่าวว่า แม้จะมี พ.ร.ก. เงินกู้อีก 7 แสนล้านบาท ยังเชื่อว่าระดับเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะรับได้ และหากติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกจะเห็นว่าหลายประเทศได้ใช้มาตรการทางการคลังที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม เนื่องจากในปัจจุบันนี้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ  

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X