เราได้ยินคำเตือนมากมายจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงได้เห็นความผันผวนของตลาดหุ้นและตลาดเงิน สืบเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา เราอาจยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่า สงครามการค้าสร้างความแตกต่างในดัชนีตลาดหลักทรัพย์อย่างไร
ในบทสัมภาษณ์โดย MarketWatch ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ดูบราฟโก ลากอส-บูจาส หัวหน้านักกลยุทธ์ตราสารทุนแห่งสถาบันการเงิน เจ.พี. มอร์แกน เชส ในสหรัฐฯ ระบุว่า ความขัดแย้งในนโยบายการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีการประมาณการว่า ข้อพิพาทหรือการเจรจาที่คืบหน้าระหว่างสองฝ่ายอาจสร้างผลต่างในดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้มากถึง 800 จุดเลยทีเดียว (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ค. ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดที่ระดับ 2,999.91 จุด)
ลากอส-บูจาส เปรียบเทียบว่า ตลาดหุ้นก็เหมือนกับแผ่นน้ำแข็งบางๆ เมื่อถูกกระทบจากผลลัพธ์ของการค้า หากคุณมีข้อตกลงการค้า และข้อตกลงนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ย 1 หรือ 2 ครั้ง เราอาจเห็นดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้นสู่กรอบ 3,200-3,300 จุด
แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นที่กดดันดัชนีปรับตัวลงสวนทาง ประกอบกับข้อพิพาททางการค้ามีความตึงเครียดขึ้น เราก็จะได้เห็นดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงในกรอบ 2,500 จุด หรือต่ำกว่าระดับปิดสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ถึง 16.6%
เขาชี้ให้เห็นว่า ณ เวลานี้ ความสำคัญของข้อตกลงการค้าที่นำไปสู่การลดกำแพงภาษี อาจบดบังนโยบายการเงินของ Fed หรือแม้แต่ตัวเลขในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะดีลที่ยุติเทรดวอร์จะช่วยลดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้า ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจอเมริกันในระยะยาว
ลากอส-บูจาส ระบุว่า ความแตกต่างระหว่างความตึงเครียดของสงครามการค้ากับการสงบศึก สร้างผลกระทบมากกว่านโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับประวัติศาสตร์ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศใช้ในปลายปี 2017 เสียอีก
บทวิเคราะห์ที่ลากอส-บูจาสจัดทำร่วมกับทีมงาน ระบุว่า ผลกระทบสะสมของมาตรการภาษีใหม่ๆ ทำให้กำไรต่อหุ้นในดัชนี S&P 500 ลดลงถึง 5 ดอลลาร์สหรัฐ และหากทรัมป์ประกาศขยายกำแพงภาษีกับสินค้าจีนรอบที่ 3 จะฉุดกำไรต่อหุ้นลดลงอีก 4 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทรัมป์และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนตกลงกันได้ในเวทีซัมมิต G20 ที่นครโอซาก้า ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจยับยั้งมาตรการภาษีชุดที่ 3 ไว้ก่อน ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการค้ากับจีนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีการประเมินด้วยว่า ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 1,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากผลพวงของสงครามการค้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่าผลประโยชน์จำนวน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ครัวเรือนอเมริกันได้รับจากการลดหย่อนภาษีของทรัมป์
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ เจ.พี. มอร์แกน นั้น นโยบายการเงินของ Fed เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อตลาดรองลงมาจากสงครามการค้าในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ เพราะขอบเขตผลกระทบที่ตามมานั้นน้อยกว่ามาก โดย เจ.พี. มอร์แกน คาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และจะดำเนินการอีกครั้งในเดือนกันยายน แต่การลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ส่วนปัจจัยสำคัญลำดับ 3 ที่จะเป็นตัวชี้นำตลาดในระยะสั้นนี้คือ รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยประกาศตั้งแต่สัปดาห์หน้า เริ่มจากธนาคารรายใหญ่อย่าง ซิตี้ กรุ๊ป, แบงก์ ออฟ อเมริกา และโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งจะสะท้อนสุขภาพเศรษฐกิจและการบริโภคในภาพรวมของสหรัฐฯ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: