×

‘โจชัว หว่อง’ ศึกข้ามรุ่น คนเล็กเป้าหมายใหญ่ VS อำนาจรัฐแดนมังกร

โดย THE STANDARD TEAM
18.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของคนรุ่นใหม่อย่างโจชัว หว่อง และพรรคพวก ได้สร้างความหวังให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวฮ่องกงที่หวั่นไหวไปกับอำนาจการปกครองจากแผ่นดินใหญ่
  • ล่าสุด โจชัว หว่อง และเพื่อนอีก 2 คน ถูกตัดสินโทษจำคุกแล้ว หลังจากทั้งหมดเป็นแกนนำในการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในเกาะฮ่องกงเมื่อปี 2014

     “รัฐบาลกักขังได้เพียงแค่ร่างกายของพวกเราเท่านั้น แต่ไม่สามารถกักขังความคิดและจิตวิญญาณของพวกเราได้”

     และ

     “พวกเขากักขังเราได้ แต่พวกเขาไม่มีวันที่จะเอาชนะหัวใจและจิตวิญญาณของชาวฮ่องกงได้”

     คือข้อความที่ โจชัว หว่อง ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา หลังจากถูกศาลตัดสินโทษจำคุก พร้อมเพื่อนอีก 2 คน ในข้อหาก่อความวุ่นวายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งเป็นแกนนำชักชวนให้ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาร่วมชุมนุมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

 

     วานนี้ (17 ส.ค.) สื่อหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศ รายงานว่า โจชัว หว่อง (Joshua Wong) และแกนนำการเคลื่อนไหวปฏิวัติร่มอีก 2 คน ถูกตัดสินโทษจำคุกแล้ว หลังจากทั้งหมดเป็นแกนนำในการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในเกาะฮ่องกงเมื่อปี 2014

     โดยโจชัว หว่อง ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน ก่อนที่จะถูกปรับลดเหลือเพียง 6 เดือน ในขณะที่ นาธาน ลอว์ (Nathan Law) และ อเล็กซ์ ชอว์ (Alex Chow) ถูกตัดสินให้จำคุก 8 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ

     ด้าน โจนาธาน แมน (Jonathan Man) ทนายความส่วนตัวของนาธานและอเล็กซ์กล่าวว่า เขาไม่รู้สึกประหลาดใจกับคำตัดสินนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันช่างหยาบกระด้างมาก

     THE STANDARD ขอพาย้อนไปทำความรู้จักกับเด็กหนุ่มคนนี้อีกครั้ง ในฐานะผู้นำ ‘ปฏิวัติร่ม’ ที่เมื่อหลายปีก่อนยังคงเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะเขย่าบัลลังก์แผ่นดินมังกรให้ง่อนแง่น ด้วยการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับชาวฮ่องกงอย่างไม่ลดละความพยายาม และการท้าทายครั้งล่าสุด (มิ.ย.2560) ในช่วงที่ผู้นำจีนเดินทางมาเยือนเกาะศูนย์กลางการค้าแห่งเอเชีย เป็นการเดินหมากเด็ดที่คอการเมืองระหว่างประเทศอาจจะคาดเดาได้ว่าต้องเกิดขึ้น

 

 

‘โจชัว หว่อง’ ผู้นำปฏิวัติร่ม เขย่าบัลลังก์มังกร

     เรื่องราวการกระตุกหนวดมังกรของหนุ่มน้อยวัย 20 เป็นการปะทะระหว่าง เสรีนิยมคนรุ่นใหม่กับฝ่ายอนุรักษ์รุ่นอาวุโสที่มีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อในฝ่ายใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การเอาจริงเอาจังในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ครั้งเป็นเยาวชน จนก้าวมาสู่การเป็นเลขาธิการพรรคการเมือง ทำให้ทั่วโลกต้องหันมามอง และให้ความสำคัญกับหนุ่มน้อยที่ชื่อ โจชัว หว่อง จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในผู้นำเรียกร้องเสรีภาพที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งบนเวทีการเมืองโลก ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็น คนรุ่นใหม่แห่งปี 2557 (Young Person of the Year) ติดหนึ่งใน 10 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของสำนักข่าวเอเอฟพี ในปีเดียวกัน

     เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นกลางเริ่มต้นบนเส้นทางแห่งการปฏิรูปสังคมด้วยการก่อตั้งกลุ่มสกอลาริซึม (Scholarism) ในปี 2554 ตั้งแต่อายุ 14 ร่วมกับเพื่อนพ้องนักเรียนนักกิจกรรม อาทิ ออสการ์ ไหล (Oscar Lai) และ แอกเนส ชอว์ (Agnes Chow) กลุ่มนี้เริ่มต้นจากการวิพากษ์ระบบการศึกษาในปีถัดมา โดยโจมตีหลักสูตรวิชา ‘จริยธรรมและการศึกษาแห่งชาติ’ ที่เข้าข่ายสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนที่ผู้นำกลุ่มจะก้าวสู่การเป็นหัวหอกนำขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงเต็มที่ในการเลือกผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จนกลายเป็นการ ‘ปฏิวัติร่ม’ ยาวนานกว่าสามอาทิตย์ในเดือนกันยายนปี 2557 กลุ่มสกอลาริซึมประกาศปิดตัวในเดือนมีนาคม 2559 และสมาชิกส่วนหนึ่งมาร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง เดโมซิสโต (Demosisto) โดยมีโจชัว เป็นเลขาธิการพรรค ขณะที่นาธาน ลอว์ (Nathan Law) หัวหน้าพรรคที่ร่วมขบวนการปฏิวัติประชาชนได้รับเลือกตั้งเข้าสภานิติบัญญัติฮ่องกงในปีที่ผ่านมา

     บทบาทของโจชัวและเพื่อนพ้องในการต่อต้านอำนาจรัฐอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวมากมายทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้กับอำนาจรัฐในประเทศตน อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โจชัวเผยว่า “ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนควรจะเป็นโจชัว หว่อง หรือเดินตามเส้นทางของผม แต่อย่างน้อย ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมการเคลื่อนไหวไม่ใช่ว่าจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่มีประสบการณ์ หรือนัก รณรงค์ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและทำงานกับองค์กรไม่หวังผลกำไรมาแล้วเท่านั้น อาจจะเป็นนักศึกษาหรือนักเรียนมัธยมปลายก็ย่อมได้”

 

 

ย้อนดูประวัติศาสตร์ ‘ฮ่องกง’ กับความอึดอัดของคนรุ่นใหม่

     ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมืองโลก เมื่อจีนเริ่มเป็นที่น่าเกรงขามบนเวทีการค้าเศรษฐกิจและการเมืองนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมสื่อตะวันตกไม่ยอมพลาดที่จะนำเสนอข่าวบั่นทอนพญามังกร และเรื่องราวของโจชัว หว่อง พร้อมสมัครพรรคพวกที่เขย่าบัลลังก์จีนแผ่นดินใหญ่  ย่อมเป็นโอกาสอันดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่โจชัวหยิบยกมาอ้างว่าเป็นสาเหตุในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลดูจะมีน้ำหนักมากพอที่จะสร้างฐานผู้สนับสนุนทั้งในฮ่องกงและต่างประเทศ

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีน หลังจากเช่าและปกครองเกาะการค้าแห่งนี้เป็นเวลานาน 99 ปี ตามสนธิสัญญาอันเป็นผลมาจากการเอาชนะจีนได้ในสงครามฝิ่น ครานั้น จีนให้สัญญาว่าจะปกครองฮ่องกงด้วยแนวคิด ‘One Country, Two Systems’ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบเดียวกับที่จีนใช้ปกครองไต้หวัน แต่หลายปีก่อนที่อังกฤษจะส่งมอบเกาะศูนย์กลางพาณิชย์แห่งนี้กลับคืนสู่อ้อมอกมังกร ชาวฮ่องกงผู้ร่ำรวยส่วนหนึ่งต่างอพยพย้ายถิ่นฐานไปปักหลักในต่างประเทศไกลถึงอเมริกาและแคนาดา เพราะต่างเกรงกลัวว่าสิทธิเสรีภาพแบบที่คุ้นเคยสมัยอังกฤษปกครองจะหมดไปเมื่อจีนผนวกฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่ง

     20 ปีผ่านไป แม้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติเหมือนสมัยอังกฤษปกครอง และแน่นอนว่ามีเสรีภาพมากกว่าชาวจีนบนแผ่นดินใหญ่ แต่คนฮ่องกงรุ่นใหม่กลับอึดอัดกับบทบาททางสังคมการเมืองจากจีนที่เริ่มจะส่งอิทธิพลคืบคลานเข้ามาควบคุมเกาะเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้มากขึ้น

     สาเหตุส่วนหนึ่งของการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลจีนจนเป็นที่มาของการปฏิวัติร่มเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน เป็นเพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่นำโดยนาธาน ลอว์ และโจชัว หว่อง วัย 17 ปีในตอนนั้น อ้างว่าไม่พอใจที่จีนไม่ยอมให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารพิเศษของเกาะฮ่องกงในปี 2560 อย่างเสรี โดยทางการจีนจะคัดเลือกผู้สมัคร 2-3 คน มาให้ชาวฮ่องกงลงคะแนนเลือกตั้ง นอกจากนี้ กรณีที่เจ้าของร้านขายหนังสือ 5 รายในฮ่องกงถูกกักตัวในจีนตั้งแต่ปลายปี 2558 เพราะขายหนังสือที่มีเนื้อหาพาดพิงกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในจีนให้กับผู้อ่านจากแผ่นดินใหญ่สร้างความขุ่นเคืองให้กับชาวฮ่องกงไม่น้อย และรู้สึกว่าจีนเข้ามาควบคุมกดดันชาวฮ่องกงมากเกินไป

 

 

ศึกข้ามรุ่น คนเล็กเป้าหมายใหญ่ VS อำนาจรัฐแดนมังกร

     ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของคนรุ่นใหม่อย่างโจชัวและพรรคพวกจึงสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวฮ่องกงที่หวั่นไหวไปกับอำนาจการปกครองจากแผ่นดินใหญ่

     ปีนี้ โจชัวมีสารคดีที่ได้รับการเผยแพร่ทาง Netflixในชื่อ Joshua: Teenager vs Superpower ซึ่งสะท้อนภาพการต่อสู้ระหว่างปัจเจกชนคนตัวเล็กกับพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของทั้งระบบได้เป็นอย่างดี

 

 

     และในวาระครบรอบ 20 ปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน เลขาธิการพรรคเดโมซิสโตพร้อมพรรคพวกจากกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยสามกลุ่มนำทีมประท้วงการมาเยือนของประธานาธิบดีสีจิ้ผิง (Xi Jinping) มีการนำป้ายดำไปปิดสัญลักษณ์ในการส่งมอบเกาะ คือรูปปั้นดอกชงโคทองคำ ก่อนจะลงเอยด้วยการถูกนำตัวไปควบคุมในที่สุด

     “รูปปั้นที่คลุมผ้าดำเป็นสัญลักษณ์ของกฎระเบียบเข้มงวดของอำนาจรัฐมาตลอด 20 ปี หมายความว่ารัฐบาลจีนไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ในคำประกาศร่วมระหว่างจีนและอังกฤษ และจำกัดสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองของชาวฮ่องกงไม่ให้มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตยแบบอิสระ” นั่นคือส่วนหนึ่งของคำแถลงอย่างเป็นทางการจากกลุ่มผู้ประท้วง

     ก่อนถูกจับกุม โจชัวกล่าวแถลงกับสื่อว่า “ชาวฮ่องกงจะสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่เราได้รับสิทธิ์กลับคืนมา”

     ขณะเดียวกัน เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เดินทางมาถึงฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ผู้นำแดนมังกรยังยืนยันว่าจะใช้กรอบการปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่ให้อิสระแก่ฮ่องกงเหมือนเดิม แต่กล่าวสุนทรพจน์เตือนผู้ก่อการบั่นทอนอำนาจหรือท้าทายอำนาจรัฐบาลกลางว่า “การกระทำใดๆ อันเป็นภัยต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐและความมั่นคง ทั้งท้าทายอำนาจของคณะรัฐบาลกลางและกฎหมายสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ถือเป็นการกระทำที่ข้ามเส้นแดงและไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอน”​

     ดูเหมือนศึกข้ามรุ่นระหว่างคนเล็กเป้าหมายใหญ่กับอำนาจรัฐแดนมังกรคงจะไม่จบง่ายๆ และเราคงจะได้ยินชื่อ โจชัว หว่อง ไปอีกนาน ตราบเท่าที่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป

 

Photo: AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising