ชื่อของ จอมเทียน จันสมรัก ผ่านตาเราครั้งแรกจากสเตตัสเล่าถึงชีวิตส่วนตัว โรคจิตเวช เรื่อยมาหลายปีที่ได้เห็นเธอเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ จนครั้งนี้จอมเทียนเปลี่ยนมาเล่าผ่านหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ลูกสาวจากดาววิปลาส ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ P.S.
หมายเหตุ: หนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ การข่มขืน การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย และโรคทางจิตเวช
ลูกสาวจากดาววิปลาส เล่าเรื่องโดยบุคคลที่หนึ่งคือตัวละครดาดาว ผู้เกิดจากดุจดาว หญิงสาวที่ใครๆ ก็ว่าเป็นบ้า ถูกตีตราให้เป็นแกะดำของครอบครัว ซึ่งสถานะนั้นส่งต่อมาหาดาดาวโดยปริยาย ท่ามกลางฉากหลังของภาพกรุงเทพมหานครแถวคลองทวีวัฒนาตั้งแต่สมัยยังเป็นทุ่งกว้างเขียวขจี การตื่นรู้ในสิทธิความเท่าเทียมด้านต่างๆ คืบคลานมาหาพร้อมกับความเจริญ แต่มันมาไม่ถึงโลกสวนกล้วยไม้ที่แม่ลูกอาศัยอยู่อย่างอัตคัดขัดสนในมุมหนึ่งของเมืองเทพสร้าง
กระทั่งผู้มีบารมีมาเยือนในวันหนึ่ง สิ่งวิปลาส ไม่น่าพิสมัย จึงได้เวลาหายไปให้พ้น ทว่านั่นหมายความถึงการทำลายทิ้งหรือปกปิดซุกปัญหาไว้ ไม่ใช่การแก้ไขให้ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น
“บนถนนข้างล่างนั่น ฉันมองไม่เห็นใคร แต่ก็รู้สึกได้ถึงหลากหลายชีวิตที่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โลกยังคงเหมือนเดิมทุกๆ นาทีที่ฉันหายใจเข้าออก มีเด็กกำลังร้องไห้ หิวโหย ขอทาน มีเด็กคนใหม่ถูกข่มขืนคนแล้วคนเล่าโดยที่ฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันรู้สึกขยะแขยงมนุษย์ แม้ว่าตัวฉันเองก็เป็นมนุษย์เช่นกัน”
(หน้า 272)
เราอ่านชีวิตของเด็กน้อยดาดาวที่ไม่อยากเป็นเหมือนแม่ แต่ก็ค่อยๆ หาหนทางทำความเข้าใจและเยียวยาแม่ไปพร้อมกับตัวเธอเองซึ่งสาหัสไม่แพ้กัน เราเศร้ากับปัญหาที่ประเดประดังเข้าใส่เธอซ้ำๆ คนที่ดาดาวหวังพึ่งอย่างผู้ใหญ่ในครอบครัว อาจารย์ ตำรวจ ใครก็ตามที่มีอำนาจยื่นมือมาช่วยเหลือ กลับถืออาวุธมาทิ่มแทงบาดแผลเธอต่อ เราละอายใจที่หวังให้ทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องแต่ง เพราะมันจริงมากเกินไป
และมากไปกว่านั้นคือโกรธ เมื่อรู้ดีว่าความจริงนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเรื่องราวอีกมากที่อาจได้ขึ้นมาอยู่บนหน้าข่าวบ้าง บนสังคมออนไลน์บ้าง แต่ทุกวันนี้มีกี่ครั้งหรือที่เราสามารถเชื่อมั่นระบบได้ว่าคนทำผิดจะได้รับผิด เมื่อสังคมทำให้ความวิปลาสเหล่านี้เป็นปกติ จนประชาชนแทบจะไว้วางใจการตัดสินโทษจากสื่อมากกว่ากระบวนการยุติธรรม
ดาดาวเล่าว่าเคยโพสต์เรื่องการให้อภัยคนที่ข่มขืนเธอด้วยน้ำเสียงของแม่พระ เมื่อมองถอยออกมาในฐานะผู้หญิง และประชาชนคนหนึ่งที่ถูกสั่งสอนให้สงบเสงี่ยมต่ออะไรที่สูงส่งกว่าอยู่ร่ำไป คำถามที่ตามมาคือ การให้อภัยเกิดขึ้นหลังจากเห็นการสำนึกผิดของผู้กระทำ หรือเกิดขึ้นในสภาพที่เหยื่อต้องสำนึกเองว่าถ้าไม่มีอำนาจมากพอก็ไม่ควรเรียกร้อง เหมือนที่หลายตัวละครชาย-หญิงในหนังสือมักจะหยิบยื่นตัวตนตามแบบวาทกรรม ‘คนดี’ มาให้ทำตาม แม้ว่าคนทำผิดไม่เคยต้องรับโทษเลยสักครั้งอย่างนั้นหรือ
“ธงรุ้งสะบัดเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ภาพสีสเปรย์พ่นกำแพงบอกเล่าเรื่องราวของคนบางกลอย เรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเราร่วมกันประกาศเสียงดังว่ามีความรุนแรงและการกดขี่อยู่ที่นี่ ในประเทศนี้ จะทำเป็นไม่เห็นไปไม่ได้”
(หน้า 341)
ความโกรธเคืองยังคงคุกรุ่นในใจขณะพลิกไปบทสุดท้าย แต่สุดท้ายดาดาวก็พาผู้อ่านเดินไกลจากสวนกล้วยไม้มาถึงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในรอบปีสองปีมานี้ และเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหมาดๆ เมืองแห่งเทพสร้างเพิ่งมี ‘นฤมิตไพรด์’ ขบวนขับเคลื่อนเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแสดงออกถึงประเด็นต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ยุติความรุนแรง และเรียกร้องสิทธิของคนชายขอบซึ่งถูกผลักให้เป็นอื่นเสมอมา เช่น วัฒนธรรมข่มขืน, Sex Worker, คนไร้สัญชาติ และผู้มีเชื้อ HIV ฯลฯ
ปัญหาที่เคยถูกมองเป็นเรื่องปัจเจกของสองแม่ลูกและคนอื่นๆ เชื่อมโยงมาถึงความเสียหายของบ้านหลังใหญ่ชัดขึ้นทุกวัน โครงสร้างกำลังผุพังและสั่นคลอน ความเปลี่ยนแปลงที่เคยดูเชื่องช้ากำลังเกิดขึ้นเร็วเกินคาดคิด ที่นี่มีคนธรรมดาถูกทำให้เป็นคนวิปลาส มีความผิดปกติถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดามานานเกินไป
จะทำเป็นไม่เห็นไม่ได้อีกแล้ว
ลูกสาวจากดาววิปลาส
ผู้เขียน จอมเทียน จันสมรัก
จำนวน 352 หน้า
ราคา 320 บาท
พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2565
ภาพ: P.S. Publishing, ฐานิส สุดโต