กขค. คาดมูลค่าควบรวมกิจการปีนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2564 ที่มีมูลค่าควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านบาท เหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังต่ำและโควิดยังยืดเยื้อ กดดันผู้ประกอบการดิ้นหาทางอยู่รอด เผย SMEs ไทยยังถูกกดดันสูง ขณะที่รายใหญ่อาจใช้อำนาจเหนือตลาดมากขึ้น เตรียมยกระดับการกำกับดูแลด้วยการนำเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้ามาใช้พิจารณาเพิ่ม เพื่อสอดรับกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การควบรวมธุรกิจว่า ในปี 2564 มีการควบรวมกิจการเพิ่มมากเป็นเท่าตัว โดยสถิติการรับแจ้งและการขออนุญาตควบรวมธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 16 เรื่องในปี 2563 เป็น 30 เรื่องในปี 2564 โดยกลุ่มที่แจ้งขออนุญาตควบรวมธุรกิจแบบ Cross-Border เพิ่มมากขึ้นอยางเห็นได้ชัด
ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าการรวมธุรกิจอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP ของไทย โดยเฉพาะปี 2564 สถิติการควบรวมเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ด้วยมูลค่าของการควบรวมธุรกิจพุ่งสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4 เท่าจากปี 2563 ที่มูลค่าการควบรวมกิจการอยู่ที่ 0.48 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนการควบรวมธุรกิจมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะที่แนวโน้มในปี 2565 คาดว่าจะมีการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (Megatrends) อย่างรวดเร็ว และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประกอบธุรกิจ ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น และจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น
หวั่น ‘รายใหญ่’ ค้าขายไม่เป็นธรรม
แรงกดดันดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ และจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เฝ้าระวังธุรกิจแพลตฟอร์มหลังขยายตัวสูง
ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า จากความท้าทายเหล่านี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงได้กำหนดนโยบายและทิศทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ได้แก่
- การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด โดยข้อมูลในปี 2564 พบว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท เช่น การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Marketplace) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ
- การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
- การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้น
ดึง ‘เทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า’ ยกระดับการกำกับดูแล
นอกจากนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะมีการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน่นการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า
เผยยอดร้องเรียนปี 2564 พุ่ง 2.36 เท่า
สำหรับผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปี 2561-2564 กขค. ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง
เมื่อจำแนกตามพฤติกรรมพบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกันจำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญาจำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการจำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย
ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิดจำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า
ยันดีล TRUE-DTAC อยู่ใต้อำนาจ กสทช.
ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า กรณีการประกาศรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture) นั้น ทางสำนักงานฯ คงไม่สามารถก้าวล่วงได้ โดยอำนาจหน้าที่ในการพิจารณานั้นยังคงเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นผู้ตัดสินใจซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ทางสำนักงานฯ ก็มีคณะทำงานในการเก็บข้อมูล ศึกษา และชี้แจงให้กับกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น รวมไปถึงการทำงานร่วมกับ กสทช. ในการพิจารณาข้อมูลที่ต้องหารือร่วมกัน ซึ่งเป็นการแบ่งกันข้อมูลในระดับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นอำนาจการพิจารณาตามกฎหมายยังเป็น กสทช. เป็นผู้ดูแล
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP