วานนี้ (13 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายเป็นคนสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยกล่าวถึงเพื่อนสมาชิกว่า เราต้องตั้งหลักและยอมรับร่วมกันว่า วาระ 2 วันนี้ไม่ใช่การแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่เป็นวาระของการแถลงความคืบหน้าของรัฐบาลเดิมที่ทำงานครบแล้ว 1 ปีเต็ม
“แม้นายกฯ จะเปลี่ยนคน แต่ไม่ได้เปลี่ยนพรรค รัฐมนตรีหลายคนอาจเปลี่ยนชื่อ แต่ไม่เปลี่ยนนามสกุล มีความเปลี่ยนแปลงเพียงอะไหล่เล็กน้อยที่ไม่มีความสำคัญอะไร” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์ระบุว่า ต้องย้อนไปดูก่อนว่ารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี สามารถทำตามคำพูดสวยหรูเมื่อ 1 ปีที่แล้วหรือไม่ โดยเชื่อว่าจะเป็นคำตอบให้อนาคตอีก 3 ปีของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ได้ และหากจะพิจารณาผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างจริงจัง ต้องดูจาก 5 นโยบายระยะสั้นที่ควรสำเร็จภายใน 1 ปี
พริษฐ์ยกตัวอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อจุดชนวนเศรษฐกิจให้กระตุก แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลเศรษฐาจะจุดชนวนอะไรได้แม้แต่เรื่องเดียว มีเพียงพ่อค้าแม่ค้าที่จุดธูปอธิษฐานว่าตลาดและร้านค้าจะกลับมาคึกคัก ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินก็ยังพลาดเป้า หนี้สินครัวเรือนก็ยังค้างอยู่ที่ 91% ของ GDP และหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นมา 20-30%
สำหรับนโยบายด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟและน้ำมันดีเซลที่เคยออกโปรโมชันลดราคาก็เด้งกลับมาแล้ว การเจรจากับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทางพลังงานเพื่อแก้ไขสัญญาที่เป็นปัญหา ประชาชนกลับเห็นท่านไปตีกอล์ฟร่วมกันที่เขาใหญ่ ซึ่งนักวิเคราะห์ก็มองว่าเป็นการพูดคุยกันเรื่องต่ออายุรัฐบาลมากกว่า
ในด้านการท่องเที่ยว แม้เศรษฐาจะสวมบทเป็นนักเดินทางบินไปทั่วโลก แต่ 1 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าอดีตนายกรัฐมนตรีขยันผิดจุด ปริมาณนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่าในสมัยก่อนโควิด สะท้อนถึงผลงานที่ไม่สำเร็จของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยเป็นประธาน
ขณะที่การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ผ่านไป 1 ปี ประชามติรอบแรกที่ประกาศว่าจะจัดทำตั้งแต่การประชุม ครม. รอบแรก ก็ยังไม่ได้จัดทำแต่อย่างใด ดังนั้น การจัดทำ 5 นโยบายระยะสั้น จึงเปรียบเหมือนการขึ้นรถไฟเหาะซ้ายทีขวาที แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาสู่จุดเริ่มต้น อาจเพิ่มเติมคืออาการเวียนหัวกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้ และกลับไปกลับมาของรัฐบาล
พริษฐ์ยังกล่าวถึงแนวคิดของเศรษฐาที่เคยระบุไว้หลังรับตำแหน่งว่า ปัญหาอะไรก็ตาม ถ้าติดที่กฎหมายให้แก้ที่กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลไม่เคยเป็นฝ่ายริเริ่มแก้ไขกฎหมายเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่รัฐบาลขยันมากในการชะลอและขัดขวางกฎหมายที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
คิดไม่ครบ คิดไม่ออก คิดไม่ซื่อ
พริษฐ์หยิบยกปัญหาหลัก 3 ด้านของนโยบายแพทองธาร ปัญหาแรกคือ เป็นนโยบายที่รัฐบาลคิดไม่ครบมาตั้งแต่ต้น ทำให้ต้องกลับกลอกไปมา หรือต้องยอมถอย ที่เห็นได้ชัดคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่คำว่า 10,000 บาท หายไปจากคำแถลงนโยบาย รวมถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า การจ่ายเงินงวดที่ 2 ต้องรอความพร้อมของงบประมาณ ยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนเลย
อีกเรื่องคือค่าแรงขั้นต่ำที่สะท้อนว่านโยบายดีๆ ใครก็พูดได้ แต่จะทำได้จริงหรือไม่นั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และคำว่าค่าแรงขั้นต่ำได้หายสาบสูญไปจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยระบุว่า การขึ้นค่าแรงทำได้ไม่ยาก หากเศรษฐกิจโตขึ้น 5% การลบคำสัญญาออกจึงไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าคำสารภาพต่อประชาชนว่าเศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 5% ต่อปีโดยเฉลี่ย
“เมื่อวานท่านนายกฯ ได้ให้คำแนะนำพวกเราว่า ในเมื่อตอนนี้ไม่ใช่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เราไม่จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ผมก็จำเป็นต้องถามท่านนายกฯ ว่า ในวันนี้รัฐบาลได้ถอยหลายนโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน ตกลงทั้งหมดนี้เป็นเพราะท่านมองว่าช่วงหาเสียงเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมใช่ไหม ในการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดของพี่น้องประชาชน” พริษฐ์กล่าว
ปัญหาที่ 2 คือ นโยบายที่คิดไม่ออก จึงต้องเขียนกว้างๆ ไว้ก่อน เช่น การกระจายอำนาจ สวัสดิการทุกช่วงวัย และปัญหาที่ 3 คือ คิดไม่ซื่อ แต่นำประชาชนมาบังหน้า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายของตัวเอง
เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ดูแนวโน้มว่ารัฐบาลอาจตั้งคาสิโนอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว แม้ไม่มีคาสิโน ผลประโยชน์น่าจะตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ และมีสมาชิกจากพรรคภูมิใจไทยที่เห็นตรงกันว่าควรกระจายสถานบันเทิงไปหลายภูมิภาค
นอกจากนี้ พริษฐ์ยังกล่าวขอบคุณ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่แสดงออกว่ายอมรับแนวทางที่พรรคประชาชนเสนอให้แก้ไขรายมาตรา คู่ขนานไปกับการแก้ไขทั้งฉบับ พร้อมหวังให้การร่างรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% และเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ถูกล็อกโดยคนบางกลุ่มที่กำหนดว่าอะไรแก้ได้หรือไม่ได้
อีกส่วนคือการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย แต่ต้องถามนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่าจะทำอย่างไรกับ สส. พรรคเพื่อไทย ที่ตกเป็นจำเลยในคดีตากใบ สามารถสัญญากับสภาแห่งนี้ได้หรือไม่ว่าจะกำชับให้ สส. คนดังกล่าวไปรายงานตัวต่อศาล
ปัญหาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
พริษฐ์ยังวิจารณ์ถึงองค์ประกอบของ ครม. ชุดนี้ว่า ดูเหมือนเป็นการต่อยอดโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ แต่เป็น 1 ครอบครัว 1 ที่นั่งรัฐมนตรี แต่ตนไม่คิดว่าเรื่องนั้นเป็นปัญหาหลัก เพราะเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านรู้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วประชาชนจะประเมินท่านจากผลงานและความสามารถ
พริษฐ์ชี้ว่า ปัญหาของ ครม. ชุดนี้เสี่ยงจะเป็น ครม. ต่างคนต่างอยู่ที่ไม่สามารถประสานงานข้ามกระทรวงได้ เพราะก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์แนะนำคนที่วิจารณ์ท่านว่า ให้ ‘ต่างคนต่างอยู่’ และต่อมาอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แทบทุกข้อมาบรรจุอยู่ในเอกสารนโยบายของรัฐบาลนี้ แต่มีข้อสังเกตว่า มีหลายเรื่องที่อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึง เช่น การศึกษา แรงงาน หรือสวัสดิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีจากคนละพรรคกับลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนั้น
“ผมไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ผมคิดว่ามันเป็นอาการของคณะรัฐมนตรีที่พอไม่สามารถถูกครอบครองได้ทั้งหมด ก็เลยต้องเลือกใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างพรรคต่างทำงานในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบโดยไม่มาขัดแข้งขัดขากัน” พริษฐ์กล่าว
ปัญหาต่อมาคือ ครม. ชุดนี้เสี่ยงจะเป็น ‘ตรายาง’ ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง พร้อมยกตัวอย่างการลงพื้นที่ร่วมกันของ ‘5 รัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง’ แต่คนที่ไม่มีตำแหน่งอะไรกลับนั่งสั่งการอยู่หัวโต๊ะ พริษฐ์เชื่อว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารราชการแผ่นดินแน่นอน จะทำให้การประชุม ครม. เป็นเพียงพิธีกรรมที่มีการตัดสินใจกันมาก่อนแล้ว
พริษฐ์ยกตัวอย่างวิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือในตอนนี้ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนนับหมื่นนับแสนคน ประชาชนอย่างพวกเราจะสามารถฝากความหวังไว้กับนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำในจังหวะชี้เป็นชี้ตายของพี่น้องประชาชน
หวั่น ครม. เป็นตัวประกัน
ปัญหาสุดท้ายคือ ครม. ชุดนี้เสี่ยงจะเป็น ครม. ตัวประกัน ที่จะเจออุปสรรคในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจรัฐที่พรรคเพื่อไทยได้มาก็ไม่สามารถผลักดันความเปลี่ยนแปลงได้แม้แต่เรื่องเดียว ภายหลังตัดขาดจากพรรคก้าวไกลเข้าสู่เครือข่ายอำนาจเก่า ทั้งการปฏิรูปกองทัพ การนิรโทษกรรมคดีการเมือง และต้องทิ้งวาระทางการเมืองที่สัญญาไว้กับประชาชนเพื่อเอาใจอำนาจเก่า แต่ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นการถูกระบบและสถาบันทางการเมืองของสถาบันอำนาจเก่าหันกลับมาทิ่มแทง
“นายกฯ คนก่อนของท่านก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง และนายกฯ คนใหม่ของท่านก็ถูกรายล้อมด้วยนิติสงครามอันวิปริตจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งแน่นอนเป็นสิ่งที่ผมและพรรคประชาชนไม่เห็นด้วย” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า มาถึงวันนี้ ทั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีกำลังยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง หากท่านยังเลือกวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเดิมโดยเอาอนาคตของประชาชนทุกคนไปแลก ก็อย่าหวังว่าจะได้รับความเห็นใจจากประชาชน
“และแม้เครือข่ายอำนาจเก่าอาจจะยังปรานีท่านไว้ชั่วคราว เพราะหวังจะใช้พวกท่านเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างภัยคุกคามใหม่อย่างพวกผม แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากเขาทำสำเร็จ ผมเชื่อว่าเขาก็อาจจะไม่เก็บภัยคุกคามเก่าอย่างพวกท่านไว้ด้วยเช่นกัน” พริษฐ์กล่าว
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลเลือกหันหลังให้กับอำนาจเก่าแล้ววิ่งเข้าหาประชาชน มาร่วมมือกับพรรคประชาชนในบางวาระ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยปกติ ให้อำนาจจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจจากการแต่งตั้ง เชื่อว่าแม้จะเห็นต่างกันก็จะสามารถฝ่าฟันกับดักและนิติสงครามของอำนาจเก่าไปได้อย่างแน่นอน
พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า ขอฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า เวลาของท่านในการตัดสินใจมีอยู่ไม่มาก ความอดทนของพี่น้องประชาชนมีขีดจำกัด ผมเชื่อว่าในอีก 3 ปีหลังจากนี้ ท่านจะต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์ที่ท่านต้องตัดสินใจแทนพวกเราทุกคน ว่าท่านจะทำให้อนาคตข้างหน้าเป็นอนาคตที่อำนาจลงตัว แต่ประชาชนลงเหว หรือเป็นอนาคตที่อำนาจเปลี่ยนผ่านและประเทศชาติเปลี่ยนแปลง
“ผมได้เพียงแต่หวังว่าท่านจะตัดสินใจทุกครั้ง โดยไม่ยอมให้ประโยชน์ส่วนตัวของใครมาอยู่เหนือประโยชน์ส่วนรวมของของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนทุกคน” พริษฐ์กล่าว