×

จุลพันธ์ยัน นโยบาย ‘Negative Income Tax’ ไม่ได้นำมาทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่ แต่เป็นแนวคิดเพื่อสร้างตาข่ายรองรับสังคม ‘ล้มกี่ครั้งก็มีรัฐบาลหนุนหลัง’

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (13 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงนโยบายการศึกษาระบบภาษีรูปแบบใหม่ ‘Negative Income Tax’ ว่า แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ถูกนำมาบรรจุในแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างละเอียด และเป็นแนวคิดตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 50% อยู่นอกระบบ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมได้ 

 

ขณะเดียวกันมีประชาชนประมาณ 4 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำ และมีประชาชนอีก 5 ล้านคนอยู่ในจุดที่เกือบจน ซึ่งล้วนอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลต้องหาหนทางที่จะต้องช่วยเหลือ และด้วยระบบฐานภาษีที่มีจำนวนประชาชนที่เข้าสู่ระบบค่อนข้างน้อย มีประชาชนที่ยื่นภาษีเงินได้เพียง 10 ล้านคน และมีคนที่เสียภาษีจริงๆ แค่ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนผูกโยงกันทั้งหมด

 

ดังนั้น แนวคิดเรื่อง Negative Income Tax นั้น เป็นแนวคิดที่ในต่างประเทศมีการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยรัฐบาลต้องการที่จะศึกษาแนวคิดนี้เพื่อสร้างตาข่ายรองรับสังคมไม่ให้ใครต้องตกอยู่ในกรอบของความลำบากหรือยากจน โดยมีเกณฑ์หนึ่งที่ระบุถึงเส้นของความยากจน หากประชาชนคนไทยสามารถยื่นแบบภาษีเข้าได้ ใครที่เกินกว่าเส้นนี้ก็จะต้องเสียภาษีตามอัตราที่เหมาะสม ในขณะที่คนที่ตกจากเส้นที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลก็จะกลับไปช่วยชดเชยอุดหนุนให้สามารถลืมตาอ้าปากขึ้นได้ ทำให้ทุกคนในประเทศไทยเปลี่ยนแนวความคิดในการประกอบอาชีพ รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน 

 

“หลักที่สำคัญของแนวคิดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความกล้าที่จะเกิดความคิดลงทุน และเดินหน้าชีวิตเพื่อความมั่นคง หรือเข้าสู่ระบบผู้ประกอบการซึ่งมีความเสี่ยง โดยจะจะทำให้ประชาชนรู้อยู่เสมอว่าข้างหลังยังคงมีรัฐบาลที่จะประคับประคองให้ลุกขึ้นยืนได้ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งก็ตาม”

 

จุลพันธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะแม่งานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจะต้องไปศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป ส่วนข้อสงสัยว่าแนวคิดนี้จะเป็นการชดเชยหรือทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่นั้น ในสวัสดิการแต่ละประเภทมีหลักในการคำนวณที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคนละประเด็น เนื่องจากเป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่แน่นอนว่าด้วยเม็ดเงินที่จำกัดของภาครัฐ เราต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 1-2 ปี กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการศึกษาแนวคิดนี้ เพื่อในที่สุดแล้วประชาชนคนไทยทุกคนจะมีตาข่ายที่มั่นใจได้ว่าคอยรองรับเขาอยู่ในทุกสถานการณ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X