×

จอห์น ลูอิส วีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

03.08.2020
  • LOADING...
John Lewis american hero blacklivematter

HIGHLIGHTS

  • การประท้วงที่ทำให้ลูอิสมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในระดับชาติ คือการประท้วงที่เมืองเซลมา มลรัฐแอละแบมาในปี 1965 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Bloody Sunday การประท้วงครั้งนั้นมีมูลเหตุมาจากการที่ทหารผิวขาวยิงชายผิวดำที่ชื่อจิมมี แจ็กสัน เสียชีวิต
  • ผลจากการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุค 60 ที่ลูอิสเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญ ได้ทำให้เกิดกระแสและแรงกดดันในสังคมจนสภาคองเกรสยอมผ่านกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างผิวสี อันได้แก่ Civil Right Act of 1964, Civil Right Act of 1968 และ Voting Right Act of 1965 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิก Segregation และห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว

จอห์น ลูอิส เป็นนักการเมืองคนสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียกร้องสิทธิพลเรือน (Civil Rights) ให้กับชาวอเมริกันผิวดำ เขาเพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา THE STANDARD จะพาทุกท่านย้อนกลับไปรำลึกถึงชีวิต ผลงาน และการต่อสู้ของวีรบุรุษท่านนี้

 

ลูอิสเกิดที่เมืองทรอย มลรัฐแอละแบมาในปี 1940 ครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจนเนื่องจากพ่อและแม่เป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่จากคนขาวและถูกหักส่วนแบ่งผลผลิตไปเป็นค่าเช่า (Sharecropping) ในเมืองทรอยที่ลูอิสเติบโตมานั้น เป็นเมืองที่การแบ่งแย่งกันอยู่ระหว่างคนขาวและคนดำ (Segregation) อย่างเข้มงวด เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดชีวิตวัยเด็กเขาไม่มีเพื่อนเป็นคนขาวเลยและมีปฏิสัมพันธ์กับคนขาวนับครั้งได้

 

 

 

ในช่วงวัยรุ่น ลูอิสได้เข้าศึกษาที่ American Baptist Theological Seminary ในเมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การประกอบอาชีพบาทหลวง อย่างไรก็ดีระหว่างที่เขาเรียนหนังสืออยู่นั้น เขาก็ได้หันเหความสนใจมาสู่การต่อสู้เพื่อ Civil Rights ของชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งในขณะนั้นมีแกนนำคนสำคัญอย่าง ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

 

ลูอิสเริ่มเข้าร่วมขบวนการการเรียกร้อง Civil Rights ตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ โดยเขาเป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงที่ไปนั่งเคาน์เตอร์รับประทานอาหารของคนขาว (Sit-in Campaign) ในปี 1960 เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการแบ่งแยกและกีดกันการให้บริการระหว่างคนขาวและคนดำ ผลจากการประท้วงอย่างต่อเนื่องทำให้การแบ่งแยกสีผิวในย่านการค้าของเมืองแนชวิลล์ถูกล้มเลิกไปในที่สุด แต่ตัวลูอิสเองต้องถูกตำรวจจับและติดคุกหลายครั้ง เขาบอกว่าไม่เคยเสียใจที่ต้องติดคุกเพราะการประท้วง เขาอาจจะสร้างปัญหาแต่มันคือปัญหาที่ดี และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของสังคม (Good Trouble, Necessary Trouble)

 

ในปี 1961 ลูอิสได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำประท้วงกฎหมายแบ่งแยกที่นั่งระหว่างคนขาวกับคนดำบนรถบัส (Freedom Riders Campaign) โดยเขาพร้อมกับเพื่อนคนขาวและคนดำอีก 12 คน ได้นั่งรถบัสออกมาจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยกัน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา ซึ่งระหว่างการเดินทางลูอิสและเพื่อนได้ถูกคนผิวขาวที่ไม่พอใจต่อการประท้วงของคนผิวดำรุมทำร้ายจนบาดเจ็บหลายต่อหลายครั้ง

 

ลูอิสได้เป็นหนึ่งในทีมงานของ ดร.คิง เพื่อจัดการประท้วงระดับชาติที่มีชื่อว่า March on Washington ในปี 1963 โดยการประท้วงนี้ ดร.คิง สามารถเชิญชวนผู้คนจากทั่วประเทศกว่า 3 แสนคนมารวมตัวกันประท้วงที่หน้าอนุสาวรีย์ลินคอล์นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในการประท้วงครั้งนี้เองที่ ดร.คิง ก็ได้กล่าวสุนทรพจน์อันลึกซึ้งกินใจที่มีชื่อว่า ‘I have a dream’ ตัวลูอิสก็ได้มีโอกาสปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุมด้วย และเขาก็เป็นผู้ปราศรัยที่มีอายุน้อยที่สุดในวันนั้น

 

แต่การประท้วงที่ทำให้ลูอิสมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในระดับชาติ คือการประท้วงที่เมืองเซลมา มลรัฐแอละแบมาในปี 1965 ที่รู้จักกันในชื่อ Bloody Sunday การประท้วงนั้นมีมูลเหตุมาจากการที่ทหารผิวขาวยิงชายผิวดำที่ชื่อจิมมี แจ็กสัน เสียชีวิต ลูอิสเป็นแกนนำในการประท้วงครั้งนี้ โดยวางแผนไว้ว่าเขาและผู้ประท้วงจะเดินเท้าจากเมืองเซลมาไปยังเมืองมอนต์กอเมอรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมลรัฐแอละแบมา เพื่อกดดันให้ผู้ว่าการรัฐนำทหารผิวขาวคนนั้นมาลงโทษ แต่ผู้ว่าการรัฐทราบถึงแผนการประท้วงล่วงหน้า และได้สั่งให้ทหารของมลรัฐจัดการยุติการประท้วงนี้เสีย 

 

 

การปะทะกันของทหารและผู้ประท้วงเกิดขึ้นที่สะพาน Edmund Pettus ในขณะที่ผู้ประท้วงกำลังจะข้ามสะพานเพื่อเดินเท้าออกจากเมืองเซลมา ทหารได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระบองทำร้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมถึงลูอิสที่ถูกตีที่ศีรษะจนหมดสติ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นถูกบันทึกโดยนักข่าวและถูกฉายไปทั่วประเทศ จนเกิดปฏิกิริยาความไม่พึงพอใจจากคนทั้งประเทศ รวมทั้งประธานาธิบดีจอห์นสันที่ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงโดยทหารและผู้ว่าการรัฐ

 

ผลจากการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุค 60 ที่ลูอิสเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญ ได้ทำให้เกิดกระแสและแรงกดดันในสังคม จนสภาคองเกรสได้ยอมผ่านกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างผิวสี อันได้แก่ Civil Rights Act of 1964, Civil Rights Act of 1968 และ Voting Rights Act of 1965 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิก Segregation และห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว รวมทั้งเป็นการรับประกันว่าคนผิวดำทุกคนจะมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียมกับคนผิวขาว

 

ลูอิสลงเล่นการเมืองครั้งแรกในปี 1981 โดยที่เขาชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลของมหานครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาเล่นการเมืองในระดับชาติ โดยชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตมหานครแอตแลนตาในปี 1986 ก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งติดต่อกัน 17 สมัย ลูอิสยังคงทำงานอย่างหนักในสภาเพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวอเมริกันผิวดำ 

 

นอกจากนี้ลูอิสยังมีชื่อเสียงในการต่อสู้เพื่อคนกลุ่มน้อยอีกกลุ่ม ซึ่งก็คือกลุ่ม LGBTQ โดยลูอิสเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับอาวุโสที่พยายามผลักดันกฎหมายห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ (เหมือนกับที่ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว) และพยายามผ่านร่างกฎหมายการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน นอกจากนี้ ลูอิสยังมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยหาเสียงให้บารัก โอบามา ในช่วงการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ในปี 2008 จนโอบามาเอาชนะฮิลลารี คลินตันไปได้ และได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาในที่สุด

ลูอิสได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนในระยะสุดท้ายในเดือนธันวาคม ปี 2019 เขาต่อสู้กับมะเร็งอยู่ 6 เดือน ก่อนที่จะถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา งานศพของเขาถูกจัดอย่างสมเกียรติ โดยเริ่มจากพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์ในเมืองเซลมา มีการวางหีบศพให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเคารพที่ห้องโถงกลมในอาคารรัฐสภา หรือ The U.S. Capitol ขณะที่บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความอาลัยอย่างจับใจ ก่อนที่ร่างของเขาจะถูกลำเลียงผ่านสะพาน Edmund Pettus เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อนำไปฝังที่สุสานของมลรัฐแอละแบมา ณ เมืองมอนต์กอเมอรี

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X