×

รู้จัก จอห์น ลี ผู้นำฮ่องกงคนใหม่ ผู้ภักดีต่อปักกิ่ง

โดย THE STANDARD TEAM
10.05.2022
  • LOADING...
จอห์น ลี

จอห์น ลี (หลี่เจียเชา/ลีกาจิว) อดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำคนใหม่ของฮ่องกงตามความคาดหมาย หลังเสร็จสิ้นกระบวนการลงคะแนนเสียง ซึ่งมีเขาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์)

 

การแต่งตั้งลีเป็นผู้บริหารสูงสุดของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ต่อจาก แคร์รี ลัม ซึ่งกำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ถูกมองในวงกว้างว่า เป็นการเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในการกระชับอำนาจควบคุมเกาะฮ่องกง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าลีจงรักภักดีต่อรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งบทบาทหนึ่งที่โดดเด่นของเขาคือการดูแลการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2019 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลีจะได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่ง แต่เขาไม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ชาวฮ่องกง โดยได้คะแนนนิยมไปเพียง 34.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อเร็วๆ นี้

 

แต่ประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบนั้นแทบไม่มีความหมาย เนื่องจากในฮ่องกง ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้นำของตนได้โดยตรง ในทางกลับกัน ลีได้รับการเลือกเฟ้นมาแล้วจากปักกิ่ง นั่นต่างหากที่สำคัญ

 

ผู้นำคนใหม่วัย 64 ปีของฮ่องกงได้รับการเลือกตั้งผ่านกระบวนการลงคะแนนแบบปิดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 1,461 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ภักดีต่อปักกิ่ง และลีเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งเพียงคนเดียว ต่างจากการเลือกตั้งปีก่อนๆ ที่มีผู้สมัครหลายคน จึงทำให้ถูกวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มิได้มีสารัตถะ เป็นเพียงการเลือกตั้งตรายาง (Rubber Stamp Election) เท่านั้น 

 

ในขณะที่รัฐบาลเรียกการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ ‘เปิดกว้าง ยุติธรรม และสุจริต’ แต่ นาธาน ลอว์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง กล่าวว่า “มันไม่ใช่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแน่นอน มันเป็นแค่การแต่งตั้ง ผมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้ง”

 

จากตำรวจผู้น้อย สู่ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง

ลีไต่เต้ามาจากการเป็นตำรวจ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ ของฮ่องกงที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนธุรกิจหรือมีประสบการณ์ในวงการราชการ

 

ลีได้รับการบรรจุเป็นตำรวจฮ่องกงในปี 1977 เมื่ออายุ 19 ปี ซึ่งในขณะนั้นฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจจนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ทันสมัย

 

เขาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้บังคับการตำรวจในปี 1997 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน

 

ลีมีสถานะเป็นทั้งผู้มีถิ่นพำนักในฮ่องกง (Hong Kong Resident) และผู้ถือสัญชาติอังกฤษ ก่อนที่จะสละสัญชาติอังกฤษในเวลาต่อมา ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่นาน เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานความมั่นคง (Under Secretary for Security) ในปี 2012

 

จากนั้น ลีได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานความมั่นคง (Secretary of Security) และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกงในรอบหลายทศวรรษ เมื่อการประท้วงร่างกฎหมายซึ่งเริ่มต้นอย่างสันติ ลุกลามกลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม

 

ลีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการสนับสนุนตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระสุนจริงเป็นครั้งคราว เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ลีเองก็ออกมาประณามกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมปกป้องการใช้กำลังของตำรวจ โดยกล่าวว่าการใช้ความรุนแรงของผู้ประท้วงบางคนถือเป็น ‘การก่อการร้าย’ และ ‘ลัทธิสุดโต่ง’

 

การเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเป็นเหตุให้ลีและเจ้าหน้าที่อีกนับสิบคนถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ซึ่งลีออกมาตอบโต้ว่าเป็นการกระทำที่ ‘ไร้เหตุผล’ และเป็น ‘การกลั่นแกล้งรังแก’ ขณะเดียวกัน ลีปกป้องจุดยืนของตนเอง โดยกล่าวว่าเขาเพียงทำหน้าที่ของตนเอง ‘เพื่อพิทักษ์รักษาความมั่นคง’

 

ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ลีได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเลขาธิการฝ่ายบริหาร (Chief Secretary of Administration) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับสองของฮ่องกง รองจาก แคร์รี ลัม อย่างไรก็ดี เขาดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ถึง 1 ปีก่อนที่จะลาออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อสมัครชิงตำแหน่งผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่ลีได้รับการเลื่อนตำแหน่งสู่ระดับผู้บริหารในปีที่แล้ว เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความตั้งใจของปักกิ่งที่จะเน้นย้ำความสำคัญเรื่องความมั่นคงในฮ่องกง 

 

ความมั่นคงต้องมาก่อน

ลีเป็นที่รู้จักจากบทบาทในการเป็นผู้บังคับบัญชาการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง และการเดินหน้าผลักดันการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติก็ยิ่งตอกย้ำชื่อเสียงของเขาในฐานะผู้บังคับบัญชาที่แข็งกร้าวและจงรักภักดีต่อปักกิ่ง 

 

ในเดือนมิถุนายน 2020 จีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ซึ่งทำให้ปักกิ่งลงโทษผู้ประท้วงได้ง่ายขึ้น และนำไปสู่การจับกุมผู้เห็นต่างมากกว่า 100 คน โดยในขณะที่กฎหมายความมั่นคงถูกมองว่าเป็นการลิดรอนเอกราชของฮ่องกง แต่ลียืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยฟื้นฟู ‘เสถียรภาพจากความไร้ระเบียบ’ 

 

ก่อนที่จะก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงนั้น ลีได้ส่งสัญญาณแล้วว่า เขาจะให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งรวมถึงการผลักดันร่างกฎหมายมาตรา 23 เพิ่มเข้าไปในกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) หรือก็คือรัฐธรรมนูญฉบับย่อของฮ่องกง โดยใจความสำคัญของมาตรา 23 ก็คือการที่ฮ่องกงจะต้องประกาศใช้กฎหมายที่เป็นการห้ามการกระทำที่เข้าข่ายการก่อกบฏ การแบ่งแยกดินแดน การปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล และการบ่อนทำลายรัฐบาลกลาง

 

นับตั้งแต่ความพยายามที่ล้มเหลวเมื่อปี 2003 ไม่มีผู้นำฮ่องกงคนใดแตะประเด็นนี้อีก แต่ลีกลับยกให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญสูงสุดในการบริหารฮ่องกงภายใต้การนำของเขา

 

สำหรับใครหลายคน การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของลีบ่งชี้ถึงทิศทางที่ฮ่องกงกำลังมุ่งหน้าไปได้อย่างชัดเจน

 

“มันเป็นสัญญาณว่า ทางการกำลังยกระดับการดำเนินแนวทางแข็งกร้าวกับฮ่องกง และผลักดันให้ความมั่นคงของชาติเป็นนโยบายการปกครองฮ่องกง” นาธาน ลอว์ กล่าว

 

‘ปิกาจู’ ผู้ซื่อสัตย์

ลีมีชื่อเล่นเรียกขานในหมู่นักวิจารณ์ว่า ปิกาจู (Pikachu) ตัวละครจากการ์ตูน โปเกมอน (Pokémon) ซึ่งนอกจากจะเป็นการล้อชื่อจีนของเขาคือ กาจิว (Ka-Chiu) ที่ออกเสียงแบบจีนกวางตุ้งแล้ว ชื่อนี้ยังแฝงนัยถึงการเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี 

 

นักวิจารณ์การเมืองเชื่อว่า การแต่งตั้งลีเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าฮ่องกงกำลังกลายเป็น ‘รัฐตำรวจ’ และเป็นสัญญาณเตือนว่าการปราบปรามทางการเมืองจะรุนแรงขึ้นภายใต้การดูแลของเขา

 

“การเลือกลีเป็นสัญญาณว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงในฮ่องกง นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้ว่ารัฐบาลกลางยังคงเคลือบแคลงสงสัยในรัฐบาลฮ่องกงและประชาชน” จอห์น เบิร์นส์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง แสดงความเห็นในคอลัมน์ที่เขียนให้กับเว็บข่าวอิสระ Hong Kong Free Press 

 

แรนสัน ชาน ประธานสมาคมนักข่าวฮ่องกงกล่าวกับ BBC ว่ามีความกังวลอย่างมากว่า ประชาชนอาจถูก ‘ลงโทษจากการแสดงออกหรือจากการแสดงความคิด’ และเผยว่าทางสมาคมจะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อหารือกับฝ่ายบริหารของลี

 

ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ สื่อสิ่งพิมพ์อิสระเช่นแท็บลอยด์ Apple Daily และเว็บไซต์ข่าว Stand News ถูกปิดตัวลง ในขณะที่นักข่าวและผู้บริหารสื่อถูกตั้งข้อหา ‘สมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ’ และปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาล 

 

ลีสั่งให้ตำรวจเข้าตรวจค้น Apple Daily ซึ่งต่อมาต้องปิดตัวลงเนื่องจากถูกอายัดทรัพย์สิน และพนักงานหลายคนถูกจับกุมภายใต้กฎหมายความมั่นคง 

 

หนึ่งสัปดาห์หลังการบุกค้น ลีได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าเลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับสองในรัฐบาล และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากฝ่ายความมั่นคงได้รับตำแหน่งนี้

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การปราบปรามการประท้วงและการสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของลี เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลีจึงได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำคนต่อไปของฮ่องกง

 

“นี่คือรางวัลสำหรับความจงรักภักดี” โจเซฟ เฉิง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และอดีตนักวิชาการชาวฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ กล่าว

 

ชนชั้นสูงหนุนหลัง

นอกจากกังวลเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว ประชาชนทั่วไปยังไม่มั่นใจความเป็นผู้นำของลี เนื่องจากการขาดประสบการณ์ในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาก้าวเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ศูนย์กลางการเงินของโลกแห่งนี้กำลังพยายามฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด เขาจะต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น การขาดแคลนที่อยู่อาศัย และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

 

แต่ดูเหมือนว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นสูงของฮ่องกง

 

ลีตั้งทีมที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญและผู้มีชื่อเสียงหลายคน หนึ่งในนั้นรวมถึง หลี่กาชิง ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง และ เฮนรี ถัง สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับสูงของจีน แม้แต่ดาราดังอย่าง เฉินหลง ก็มีชื่อเป็นที่ปรึกษาของลีด้วย

 

วิกเตอร์ หลี่ ประธานกรรมการบริษัท CK Hutchison Holdings Ltd กล่าวในแถลงการณ์ว่า ลีคือ ‘ตัวเลือกที่เหมาะสม’ ที่จะมาเป็นผู้นำคนต่อไปของฮ่องกง ‘เนื่องจากฮ่องกงจะเจริญรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อมีเสถียรภาพ’

 

ลี ซึ่งเป็นคุณพ่อลูกสองเปรียบฮ่องกงว่าเป็นวงดุริยางค์ซิมโฟนี และถึงแม้เขาจะขาดประสบการณ์ในการบริหารศูนย์กลางการเงินชั้นนำ แต่เขาจะทำหน้าที่เป็น ‘วาทยากร’ ผู้ควบคุมฮ่องกง

 

ในการปราศรัยหาเสียงก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้ง ลีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของชุมชน และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ฮ่องกงเป็น ‘สถานที่แห่งความหวัง’ เมื่อเขาก้าวขึ้นบริหารเขตปกครองพิเศษแห่งนี้

 

ภาพ: Anthony Kwan / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising