×

อาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม กับ Velvet Revolution ผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายของโยฮัน ครัฟฟ์

17.04.2019
  • LOADING...
Johan Cruyff

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การปฏิวัติอาแจกซ์ครั้งใหญ่มีจุดเริ่มต้นจากบทความในหนังสือพิมพ์ De Telegraaf ในเดือน ก.ย. 2010 หนึ่งวันหลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้ต่อ เรอัล มาดริด กระเด็นตกรอบแชมเปียนส์ลีก คนที่เขียนบทความคือ โยฮัน ครัฟฟ์  นั่นเอง
  • สำหรับแผนการของครัฟฟ์ ที่ถูกเรียกขานว่า Cruyff Plan และในเวลาต่อมาได้รับการขนานนามว่า Velvet Revolution หรือ ‘การปฏิวัติสีแดงกำมะหยี่’ ประกอบไปด้วย 4 ข้อหลัก
  • อาแจกซ์สร้างโรงเรียนแห่งอนาคตในอคาเดมี เพื่อให้เด็กมีความรู้ติดตัวเป็นพื้นฐาน และเรื่องนี้ยังมีกุศโลบายด้วยว่า หากนักฟุตบอลฉลาด เรียนเก่ง ก็หมายถึงพวกเขาย่อมมีโอกาสจะเป็นนักฟุตบอลหัวดีไปด้วย

หากใครได้เห็น อาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม เล่นในเกมกับยูเวนตุส ที่ตูรินแล้วไม่หลงรัก แปลว่าคุณไม่ได้รักเกมฟุตบอล

 

คำกล่าวข้างบนผมจำมาจากโซเชียลมีเดียครับ เป็นหนึ่งในข้อความมากมายที่ประชาคมลูกหนังโลกได้สดุดีต่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของทีมที่ถูกมองว่าเป็นรอง เป็นม้านอกสายตาอย่างอาแจกซ์ แต่กลับบุกมาพิชิตมหาอำนาจวงการลูกหนังอิตาลี ที่หมายมั่นปั้นมือจะคว้าแชมป์ให้ได้ถึงขั้นลงทุนคว้า คริสเตียโน โรนัลโด ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของยูฟ่าแชมเปียนส์​ลีกมาร่วมทีม

 

ที่สำคัญคือมันเป็นการชนะอย่างมีสไตล์ (ผมเชื่อว่ามากบ้างน้อยบ้างเราน่าจะได้เห็นคลิปการต่อบอลประสานงานของอาแจกซ์ที่ลื่นไหลราวกับผ้าไหมที่ถักทอมาอย่างดี) และยูเวนตุสไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ทีมแรกที่ถูก ‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ จัดการ เพราะก่อนหน้าพวกเขา เรอัล มาดริด อดีตแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันทีมแรกก็สิ้นชื่อในแบบเดียวกัน

 

Johan Cruyff

 

ชัยชนะเหนือเรอัล มาดริด และยูเวนตุส อย่างมีสไตล์ (ย้ำ!) ทำให้พวกเขากลายเป็นทีม ‘ขวัญใจมหาชน’ ไปทันที และทำให้ชื่อเสียงของสโมสรที่เดิมแล้วเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของยุโรป และเคยเป็นมหาอำนาจที่น่าเกรงขามกลับมาระบือไกลอีกครั้ง

 

แต่กว่าที่อาแจกซ์จะกลับมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่พวกเขานอนหลับตาแล้วตื่นเช้ามาทุกอย่างจะสวยงามเหมือนมีทุ่งดอกทิวลิปสีสดใสบานรออยู่หน้าบ้านเลย

 

มันมีเรื่องมีราวของมันอยู่ครับ และผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

 

ว่าทำไมสโมสรที่ยิ่งใหญ่ รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในตักศิลาลูกหนังที่ดีที่สุดอย่างพวกเขา ถึงกล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง

 

ที่สำคัญ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดจากชายผู้เป็นตำนานอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ อีกแล้ว

 

ความเดือดดาลของนักเตะเทวดา

การปฏิวัติอาแจกซ์ครั้งใหญ่มีจุดเริ่มต้นจากบทความในหนังสือพิมพ์ De Telegraaf ในเดือน ก.ย. 2010 หนึ่งวันหลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้ต่อ เรอัล มาดริด กระเด็นตกรอบแชมเปียนส์ลีก

 

Johan Cruyff

 

เจ้าของบทความดังกล่าวคือ โยฮัน ครัฟฟ์ เจ้าของสมญา ‘นักเตะเทวดา’ ปราชญ์ลูกหนังผู้นำศาสตร์ ‘Totaalvoetbal’ ของอาจารย์ ไรนุส มิเชลส์ มาต่อยอดในการวางรากฐานให้แก่ บาร์เซโลนา จนกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังของวงการฟุตบอลโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ครัฟฟ์ ซึ่งเป็นสายเลือดโดยตรงของอาแจกซ์ เชื่อว่าสโมสรเดิมของเขามีปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ตัวผู้เล่นหรือการจัดการทีม แต่เป็นปัญหาในระดับของผู้บริหารที่ขาดความรู้ ความเข้าใจในตัวตน ประวัติศาสตร์ของอาแจกซ์ ซึ่งไม่ใช่สโมสรฟุตบอลธรรมดา หากแต่เป็น ‘สถาบัน’ หนึ่งของเกมลูกหนัง

 

หนทางที่จะนำอาแจกซ์​กลับมาสู่การเป็นสโมสรแถวหน้าอีกครั้งพวกเขาต้องคิดใหม่ทำใหม่ และต้องฝากความหวังไว้กับสายเลือดใหม่ของสโมสร อาแจกซ์จะต้องกลับมาปั้นนักฟุตบอลที่เป็นซูเปอร์สตาร์ของโลกฟุตบอลในอนาคตให้ได้อีกครั้ง

 

เสียงของครัฟฟ์ สำหรับแฟนอาแจกซ์ไม่ต่างอะไรจากเสียงของเทวทูต และมันนำไปสู่การเชื้อเชิญให้เขาได้กลับมาที่สโมสรแรกของเขาอีกครั้ง เพื่อจะกอบกู้ทีมที่ตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในวันที่เขานำพลพรรคอัศวินขาวแดงพิชิตยุโรปได้ถึง 3 สมัยซ้อน

 

ครัฟฟ์ ไม่ได้กลับมาคนเดียว เขาผนึกกำลังร่วมกับตำนานรุ่นหลังอย่าง วิม ยองค์ อดีตกองกลางคนสำคัญของวงการฟุตบอลฮอลแลนด์ในยุค 90 นอกจากนี้ยังมี เดนนิส เบิร์กแคมป์ ตำนานตลอดกาลอีกคนหนึ่งที่ร่วมมือด้วย

 

อีกคนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ รูเบน ยองไคนด์ ที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกการพัฒนาเยาวชน

 

ยองไคนด์ กล่าวถึงครัฟฟ์ ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า “เขามีพลังในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และมีพลังและจิตวิญญาณของนักคิดนวัตกรรม มันดูเหมือนเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณกับโยฮันมากกว่าด้วยซ้ำ”

 

สำหรับแผนการของครัฟฟ์ ที่ถูกเรียกขานว่า Cruyff Plan และในเวลาต่อมาได้รับการขนานนามว่า Velvet Revolution หรือ ‘การปฏิวัติสีแดงกำมะหยี่’ ประกอบไปด้วย 4 ข้อหลักคือ

 

  • ต้องเล่นฟุตบอลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่เป็นไปตามหลักการของอาแจกซ์
  • ผู้เล่นครึ่งหนึ่งของทีมชุดใหญ่จะต้องมาจากระบบเยาวชนของทีม และจะต้องดีพอที่จะอยู่ใน 8 ทีมที่ดีที่สุดของยุโรปได้
  • ระบบแมวมองที่ยั่งยืน – เฉพาะผู้เล่นที่เก่งกว่านักเตะในทีมเยาวชนเท่านั้นที่ทีมจะซื้อเข้ามา
  • สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ว่ากันด้วยผลงาน: ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกัน และต้องเปิดรับความคิดเห็นในทางที่ดีต่อกัน

 

ทั้งหมดนี้คือ Ajax DNA ยุคใหม่ที่ครัฟฟ์ เขียนแบบร่างเอาไว้ให้ โดยที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง

 

การต่อยอดองค์ความรู้

ถึงแม้อาแจกซ์ จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในตักศิลาลูกหนังที่ดีที่สุดของโลก (ก่อนที่จะถูก ลา มาเซีย และอีกหลายสโมสรแซงหน้าไปในช่วง 2 ทศวรรษหลัง) แต่เมื่อโลกฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะยึดถือตำราเล่มเก่าที่ไม่ได้รับการปรับปรุง

 

Johan Cruyff

 

เช่นนั้น ยองไคนด์ ในฐานะคนที่มีหน้าที่ดูแลประคบประหงมนักฟุตบอลดาวรุ่งในทีมจึงตัดสินใจที่จะปรับวิธีคิดใหม่ตามการแนะนำของครัฟฟ์ หาวิธีต่อยอดองค์ความรู้เดิม โดยที่ความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะในสนามฟุตบอลและลูกกลมๆ เพียงอย่างเดียว

 

ครัฟฟ์ เชื่อว่าขนาดนักกอล์ฟยังมีโค้ชที่สอนเรื่องของการสวิง เรื่องของการพัตต์โดยเฉพาะ ดังนั้นนักฟุตบอลจะพัฒนาได้อย่างไรเมื่อมีโค้ชแค่คนเดียว โค้ชจะหาความรู้ที่ไหนมาสอนในทุกเรื่องเพื่อช่วยปลดล็อกศักยภาพของนักฟุตบอลได้

 

ด้วยความที่มีพื้นเพเป็นนักกีฬามากกว่านักฟุตบอล ยองไคนด์จึงมีความรู้ที่กว้างมากกว่า และนั่นทำให้เขาเลือกที่จะหาความรู้ใหม่ๆ จากศาสตร์กีฬาแขนงอื่นมาใช้กับนักฟุตบอลดาวรุ่งของเขาด้วย

 

นั่นทำให้ดาวรุ่งในอคาเดมีของอาแจกซ์ ได้เรียนรู้เรื่องอเมริกันฟุตบอลบ้าง ยูโดบ้าง รวมถึงนักวิ่งที่เป็นหนึ่งในคีย์แมนที่ช่วยปลดล็อกนักฟุตบอลในทีมหลายคน

 

การตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของยองไคนด์ คือการทาบทาม แบรม ซอม อดีตนักวิ่ง 800 เมตรชาวดัตช์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการวิ่งมาสอนดาวรุ่งคนหนึ่งในทีมเป็นการเฉพาะ

 

ดาวรุ่งคนนั้นคือ มัทไธจ์ส เดอ ลิกต์ เจ้าหนูมหัศจรรย์วัย 19 ปีที่เป็นกัปตันทีมในเวลานี้นั่นเองครับ

 

Johan Cruyff

 

เดิมเดอ ลิกต์ เป็นนักฟุตบอลที่มีปัญหาในเรื่องของการวิ่ง และมีร่างกายที่ไม่แข็งแกร่งนัก ทำให้ยองไคนด์ นำแบรม ซอม เข้ามาฝึกสอนและพัฒนาในเรื่องเทคนิคการวิ่งและเรื่องของสภาพร่างกายด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่ามหัศจรรย์ ในวัยแค่ 17 ปี เดอ ลิกต์ เติบใหญ่แข็งแกร่งพอจะเป็นแกนหลักในทีมอาแจกซ์ได้ มีส่วนในการนำทีมเข้าชิงยูโรปา ลีก (แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) และได้ติดทีมชาติฮอลแลนด์แล้ว

 

อีกคนที่ถูกจับมาเทรนเรื่องของการวิ่งเป็นพิเศษคือ ดอนนี ฟาน เดอ บีค หนึ่งในคีย์แมนแดนกลางคนปัจจุบันที่เดิมเป็นผู้เล่นที่มีทักษะดีมากอยู่แล้วถึงขั้นที่นักฟุตบอลจอมศิลปินอย่างเบิร์กแคมป์เอ่ยปากชม แต่เขายังขาดบางเรื่องซึ่งถ้าได้รับการฝึกสอนที่ดีก็จะไปได้ไกล

 

เมื่อจับมาฝึกวิ่ง ฟาน เดอ บีค ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นกองกลางที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งที่หลายสโมสรในยุโรปจับจ้องตาเป็นมัน

 

ส่วนสตาร์อันดับหนึ่งในทีมอย่าง แฟรงกี เดอ ยอง เขาเติบโตมาจากอคาเดมีของวิลเลม ทเว ด้วยความที่เก่งกาจพอตัวอยู่แล้วทำให้เขายอมรับว่าก็ไม่ค่อยฟังคำสอนของโค้ชมากนัก

 

แต่สิ่งที่อาแจกซ์ทำไม่ใช่การยัดเยียด หากแต่เป็นการปล่อยให้เติบโตอย่างอิสระ แค่เสริมเรื่องพละกำลังความแข็งแกร่งของร่างกาย และนั่นทำให้เดอ ยอง กลายเป็นหนึ่งในกองกลางที่นอกจากจะมีชั้นเชิงยอดเยี่ยม ยังแข็งแกร่งมากอีกด้วย

 

นอกจากนี้ อาแจกซ์ยังให้ความรู้ที่นอกเหนือจากเรื่องการเล่นในสนาม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในวงการที่มีประสบการณ์ในการทำงานมายาวนานและประสบความสำเร็จมาบรรยายให้เด็กๆ ในอคาเดมีฟัง

 

โรเมโอ โยซัค ผู้อำนวยการเทคนิคสมาคมฟุตบอลลโครเอเชีย เบื้องหลังคนสำคัญที่นำทีมตาหมากรุกเข้าชิงฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในผู้ที่มาบรรยาย อีกคนที่โดดเด่นคือ บ็อบ โบรวอายส์ โค้ชเยาวชนของเบลเยียมชุดอายุต่ำกว่า 16 และ 17 ปี ที่เคยช่วยปั้น เอเดน อาซาร์ และ เควิน เดอ บรอยน์ มาแล้ว

 

โรงเรียนแห่งอนาคต

ขณะเดียวกันที่อคาเดมี พวกเขาสร้างโรงเรียนขึ้นมาภายในเพื่อเยาวชนของทีมด้วย โดยโรงเรียนดังกล่าวมีชื่อว่า School van de Toekomst หรือ ‘โรงเรียนแห่งอนาคต’

 

เป้าหมายของการสร้างโรงเรียนแห่งนี้เพื่อให้เยาวชนที่อยู่ในอคาเดมีได้รับการศึกษาที่ดีเพียงพอ โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเรียนฟุตบอล ซึ่งที่ผ่านมาหนึ่งในปัญหาคลาสสิกของเด็กที่เข้าอคาเดมีคือมักจะไม่สนใจการเรียน และมีจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตประสบปัญหาทันทีเมื่อไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

 

อาแจกซ์ต้องการให้เด็กมีความรู้ติดตัวเป็นพื้นฐาน และไม่ใช่แค่ความรู้แบบงูๆ ปลาๆ แต่จะต้องจบการศึกษาโดยมีความรู้ระดับดีพอที่จะไปใช้ชีวิตต่อได้ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะได้ไปต่อหรือไม่ได้ไปต่อในเกมฟุตบอลก็ตาม

 

เรื่องนี้ยังมีกุศโลบายด้วยว่า หากนักฟุตบอลฉลาด เรียนเก่ง ก็หมายถึงพวกเขาย่อมมีโอกาสจะเป็นนักฟุตบอลหัวดีไปด้วย

 

วิชาที่เรียนในโรงเรียนนั้นที่พิเศษกว่าที่อื่นได้แก่ เรื่องสุขภาพและโภชนาการ, วิทยาศาสตร์ทางกายภาพ (การเคลื่อนไหวของมนุษย์), วิชาสื่อสารมวลชน, เศรษฐศาสตร์, ภาษี, บัญชีและการเงิน รวมถึงการสอนเรื่องทัศนคติและการประพฤติตน

 

ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อให้เป็นนักฟุตบอลที่ดีในอนาคต แต่รวมถึงเป็นคนที่ดีของสังคมด้วย

 

โดยหัวใจของโรงเรียนอยู่ที่สถานที่และบรรยากาศในการเรียน เพื่อทำให้เด็กๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาอย่างมีความสุข ‘เหมือนอยู่ที่บ้าน’ แต่ก็มีการดูแลแต่ละคนเป็นการเฉพาะไปด้วย โดยนอกจากเรื่องของทักษะการเล่นกีฬาอย่างที่บอกแล้ว เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดแม้กระทั่งการกินขนม

 

หากใครอยากจะกินขนมหรือช็อกโกแลต พวกเขาจะต้องเช็กข้อมูลก่อนว่าพวกเขาจะหม่ำได้แค่ไหนในเวลานั้น ซึ่งจะต้องคำนวณที่เครื่องจำหน่าย ไม่ใช่คิดอยากจะหม่ำเท่าไรก็หม่ำไป

 

เป็นโรงเรียนแห่งอนาคตสมชื่อจริงๆ

 

มาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้าย

ถึงแม้ว่าสโมสรจะพยายามนำแนวคิดของครัฟฟ์มาปรับใช้ แต่น่าเสียดายที่สโมสรเกิดปัญหาการเมืองภายใน นักเตะเทวดารู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบมากนัก

 

สุดท้ายครัฟฟ์, ยองค์ และยองไคนด์ ตัดสินใจอำลาจากสโมสรเมื่อปี 2015 พร้อมประกาศยุติ Cruyff Plan ของเขาไปด้วย

 

ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไปในปีถัดมา

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น อาแจกซ์​ยังเดินหน้าในสิ่งที่วีรบุรุษของพวกเขาแผ้วถางทางให้

 

มันเริ่มจากการที่พวกเขาได้ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นอดีตนักฟุตบอลอย่าง มาร์ค โอเวอร์มาร์ส อดีตปีกลอยลมกลับมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา จากนั้นเอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ตำนานนายทวารมือกาวก็เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ก่อนจะก้าวมาเป็น CEO ของสโมสรในปัจจุบัน

 

ในทีมชุดปัจจุบัน อาแจกซ์มีนักฟุตบอลครึ่งหนึ่งที่มาจากอคาเดมี และคนที่ไม่ได้มาจากอคาเดมีก็จะต้องเป็นผู้เล่นที่ดีกว่าเด็กที่พวกเขามีเท่านั้น เหมือนเช่น ดูซาน ทาดิช ที่ได้ตัวมาจากเซาแธมป์ตันแบบสุดถูก จนกลายเป็นหนึ่งในการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร

 

โค้ชของพวกเขา เอริก เตน ฮาก ไม่ได้เป็นสายเลือดของสโมสรก็จริง แต่เขาเคยเป็นผู้ช่วยของเป๊ป กวาร์ดิโอลา หนึ่งในศิษย์เอกของครัฟฟ์ และดูเหมือน เตน ฮาก จะเข้าใจแนวทางการเล่นฟุตบอลในแบบของครัฟฟ์ได้เป็นอย่างดี

 

การต่อบอลประสานงานด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และสวยงาม ในเกมกับเรอัล มาดริด และยูเวนตุส เป็นฟุตบอลในแบบที่ครัฟฟ์ ปรารถนาจะเห็นแน่นอน

 

ทุกคนในสโมสรช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ อาแจกซ์เป็นทีมที่เต็มไปด้วยพลังบวกของคนรุ่นใหม่

 

ทั้งหมดนั้นหมายถึงหลักการ 4 ข้อใหญ่ที่ครัฟฟ์วางไว้ได้ถูกนำมาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ และทำให้อาแจกซ์ได้กลับมาเป็นทีมที่ได้รับการยกย่องอีกครั้ง

 

จากจุดเริ่มต้นที่ครัฟฟ์ไม่พอใจต่อทีมถึงขั้นบอกว่า “นี่มันไม่ใช่อาแจกซ์อีกต่อไป”

 

9 ปีถัดมาหลัง Velvet Revolution ผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายของครัฟฟ์ อาแจกซ์ได้กลับมาเป็นทีมเดิมที่เขาและคนทั้งโลกหลงรักอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • หลังแยกทางจากอาแจกซ์​ วิม ยองค์ และรูเบน ยองไคนด์ สานต่อปณิธานของครัฟฟ์ด้วยการเปิด Cruyff Football ที่รับปรึกษาให้สโมสรฟุตบอลและทีมชาติได้เล่นฟุตบอลที่น่าตื่นตาตื่นใจตามแนวทางของ โยฮัน ครัฟฟ์
  • สำหรับอาแจกซ์ นอกจากอคาเดมีของตัวเอง พวกเขายังเปิดอคาเดมีที่ประเทศจีนที่เมืองกวางโจว โดยร่วมกับสโมสรกวางโจว อาร์แอนด์เอฟ และอีกแห่งที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นการสานต่อแบรนด์ของสโมสร
  • ปัจจุบันในอคาเดมีของอาแจกซ์ ผู้ฝึกสอนส่วนมากเป็นชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมที่เข้าใจตัวตนและทัศนคติของชาวเมืองที่ให้ค่านิยมเรื่องความกล้าหาญ นอกนั้นคือเหล่าตำนานของสโมสรที่รู้และเข้าใจว่าจะแจ้งเกิดกับสโมสรต้องทำอย่างไร
  • มัตธิส เดอ ลิกต์ ถูกจับให้เล่นหลายตำแหน่งในช่วงยังเป็นเยาวชนในทีม โดยเฉพาะตำแหน่งกองกลาง ซึ่งแม้จะถูกมองว่าช้าในการรับบอลและเคลื่อนบอลไปข้างหน้า แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือเดอ ลิกต์ กลายเป็นกองหลังที่เล่นกับบอลได้ดีที่สุดคนหนึ่งของยุโรปแทน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X