บทความตอนที่แล้วผมได้วิเคราะห์ภาพใหญ่ว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล โจ ไบเดน ที่ได้ประกาศออกมาว่าจะทำอะไรบ้าง สำหรับบทความตอนนี้จะเน้นวิเคราะห์นโยบายต่อจีนที่น่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของไบเดน เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำอย่างไรไว้กับจีน ในส่วนของไบเดนนั้นถึงแม้จะไม่เอิกเกริกมากนัก แต่ลึกๆ แล้วก็คงจะคิดไม่ต่างจากทรัมป์ว่าจีนคือศัตรูหมายเลข 1
ปัจจัยสำคัญที่จะต้องเอามาขบคิดวิเคราะห์คือปัจจัยในเรื่องของการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายในเป็นเรื่องของอุดมการณ์ เป็นขวา เป็นซ้าย เป็นอนุรักษ์นิยม เป็นเสรีนิยม เป็นรีพับลิกัน หรือเป็นเดโมแครต ที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพอเปลี่ยนประธานาธิบดี เปลี่ยนรัฐบาลจากรีพับลิกันเป็นเดโมแครต หรือจากเดโมแครตเป็นรีพับลิกัน นโยบายต่างประเทศของอเมริกาก็จะเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ Mood ของคนอเมริกันว่า ในขณะนี้ Mood เป็นอย่างไร ในสมัยสงครามเย็น Mood ของคนอเมริกันคือต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในปัจจุบัน Mood ของคนอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นขวาหรือซ้าย เป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครต ก็เหมือนกันคือมองจีนเป็นศัตรู มีทัศนคติต่อต้านจีน นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงที่คนอเมริกันมีฉันทามติเห็นพ้องต้องกันว่า นโยบายต่างประเทศของอเมริกา เรื่องใหญ่ คือจะเอาอย่างไรกับจีน เรื่องใหญ่คือการสกัดจีนไม่ให้ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางโลก เรื่องใหญ่คือจะทำอย่างไรให้อเมริกาเป็นผู้นำโลกต่อไป และจะทำอย่างไรไม่ให้จีนครอบงำโลก หรือกลายเป็น Hegemon หรือกลายเป็นอันดับหนึ่งแทนอเมริกา
ตอนนี้อเมริกาเป็นอันดับ 1 จีนเป็นอันดับ 2 คนอเมริกันกลัวมากว่าจีนจะแซงอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับ 1 และอเมริกาจะสูญเสียสถานะที่สำคัญที่สุดที่อเมริกาต้องการคือการเป็นศูนย์กลางของโลก ดังนั้นนโยบายของไบเดนต่อจีนก็จะไม่ต่างจากของทรัมป์มากนัก
ปัจจัยภายนอกหมายถึงภัยที่เข้ามาคุกคามอเมริกา ซึ่งตอนนี้ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือจีนทำให้ปัจจัยภายนอกกลายเป็นปัจจัยที่มีพลังมากกว่าปัจจัยภายใน ไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครตก็จะต้องคิดให้มากว่าจะทำอย่างไรกับจีนในเรื่องนโยบายต่างประเทศ
ในที่สุดแล้ว เรื่องใหญ่ที่สุดของไบเดนที่จะต้องขบคิดคือเรื่องของยุทธศาสตร์ต่อจีน ซึ่งผมวิเคราะห์ว่า ระเบียบโลกทั้งในสมัยของไบเดนและสมัยของทรัมป์ไม่เปลี่ยน จีนผงาดขึ้นมาแล้ว จีนเป็นคู่แข่งแล้ว ระบบโลกกลายเป็นระบบสองขั้วแล้ว สงครามเย็นภาค 2 เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นไบเดนก็อยู่ในระบบโลกที่ไม่ได้มีอะไรแตกต่างมากนักจากในสมัยของทรัมป์ในเรื่องของจีน และจีนก็จะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของการผงาดขึ้นมา ในขณะที่อเมริกาต้องการเป็นศูนย์กลางของโลก แต่จีนผงาดขึ้นมาแล้ว และอีกไม่นานเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจอเมริกา และจีนก็กำลังพยายามแข่งกับอเมริกาในทุกๆ มิติ
แผนที่ของโลกในปัจจุบันกำลังเกิดสงครามเย็นภาค 2 หรือ Cold War II ที่โลกกำลังแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วสหรัฐฯ กับขั้วจีน และประเทศต่างๆ ก็ต้องกำหนดท่าทีของตนว่าตัวเองจะเป็นพวกใคร เป็นพวกจีนหรือพวกอเมริกา หรือจะพยายามวางตัวเป็นกลาง ซึ่งประเทศที่พยายามวางตัวเป็นกลางก็จะดำเนินนโยบายลำบากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกำลังถูกบีบให้เลือกข้าง นี่คือสถานการณ์ที่ไบเดนประสบอยู่คือต้องแข่งกับจีนในการบีบให้ประเทศต่างๆ มาเป็นพวกตน
ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดของไบเดนคือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน แต่ก็คงไม่ปิดล้อม 100% แบบในสมัยสงครามเย็นภาค 1 ไบเดนคงจะปิดล้อมจีนประมาณ 60% และปฏิสัมพันธ์อีก 40% จะเป็นนโยบายแบบกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ที่เรียกว่า Congagement โดยการเอาคำว่า Containment กับ Engagement มารวมกัน
เป้าหมายนโยบายของไบเดนต่อจีนคืออเมริกาจะยังคงต้องครองความเป็นเจ้าต่อไป และมองจีนเป็นภัยคุกคาม รวมทั้งดำเนินนโยบายแบบกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ สำหรับวิธีการในการปิดล้อมจีนจะเปลี่ยนจากวิธีการของทรัมป์คือ ‘เอกาภาคีนิยม (Unilateralism)’ มาเป็นพหุภาคีนิยม (Multilateral) คือหาพันธมิตร ใช้เวทีพหุภาคีในการสกัดจีน อาทิ เวทีสหประชาชาติ อาเซียน และเอเปค
ผมจะแบ่งมิติของสงครามเย็นในสมัยของไบเดนออกเป็น 4 มิติด้วยกัน
สงครามเย็นด้านความมั่นคง
ไบเดนจะยังคงใช้กองกำลังทหารและพันธมิตรทางทหารในการปิดล้อมจีน แต่ลักษณะการปิดล้อมจะเป็นการปิดล้อมอย่างหลวมๆ หรือ Loose Containment
ไบเดนจะยังคงเพิ่มงบประมาณการทหาร ขายอาวุธให้พันธมิตร พัฒนาฐานทัพเรือ เพื่อแข่งกับอิทธิพลของจีน รวมทั้งเผชิญหน้ากับจีนในทะเลจีนใต้ในสมัยของไบเดน
ไบเดนจะใช้เครื่องมือต่างๆ ช่องทางต่างๆ ในการปิดล้อมจีนเหมือนในสมัยของทรัมป์คือใช้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคี ไตรภาคี จตุภาคี รวมทั้งพหุภาคี
สงครามเย็นด้านเศรษฐกิจ
สำหรับสงครามเย็นด้านเศรษฐกิจก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยของทรัมป์ที่เกิดสงครามการค้า เพราะทรัมป์รู้ดีว่าจีนกำลังรุกหนักทางด้านเศรษฐกิจ จีนกำลังจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นทรัมป์จึงดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับไบเดนก็คงจะดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยในสมัยของไบเดนยังจะเกิดสงครามการค้ากับจีน แต่ นโยบายคงจะลดความร้อนแรงลง คงไม่ถึงขั้นทำสงครามการค้าที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจ็บตัว แต่จะเปลี่ยนมาเป็นการใช้มาตรการกดดันทางการค้าต่อจีนแทน โดยใช้พันธมิตรทางการค้ามาร่วมกดดันจีน
สำหรับการแข่งขันในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค จีนเดินหน้าไปมากแล้วในโครงการ BRI หรือ Belt and Road Initiative ซึ่งไบเดนก็คงสานต่อยุทธศาสตร์ของทรัมป์ที่จะแข่งกับ BRI ของจีน
สงครามเย็นด้านเทคโนโลยี
มิติที่ 3 ของสงครามเย็นภาค 2 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นเป็นสงครามเย็นด้านเทคโนโลยีที่กลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาจากสมัยของทรัมป์ ซึ่งเราคงจะได้ยินเรื่องของ Huawei คงจะได้ยินเรื่องของ 5G เพราะอเมริการู้ดีว่า 100 ปีที่ผ่านมาที่อเมริกาครองความเป็นเจ้า เพราะอเมริกาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันจีนกำลังมาแรงมากทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นการที่อเมริกาจะเป็นผู้นำโลกต่อไป อเมริกาจะต้องสกัดจีนทางด้านเทคโนโลยี
ขณะนี้จึงเกิด Digital Cold War หรือสงครามเย็นทางด้านดิจิทัล และ Digital Bipolarity คือเกิดการแบ่งขั้วทางด้านดิจิทัลขึ้นเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วสหรัฐฯ กับขั้วจีน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกบีบให้เลือกข้าง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่อง 5G ซึ่งในโลกมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5G ใหญ่ๆ อยู่ 4 ระบบ คือ Huawei, Nokia, Ericsson และ Samsung ซึ่งทรัมป์รู้ดีว่าถ้าอเมริกาไม่แบน Huawei ระบบ 5G ของ Huawei จะครองโลก ทรัมป์จึงต้องเบรกด้วยการแบน Huawei และบีบพันธมิตรต่างๆ ทั่วโลก ให้ต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับ Huawei กล่าวคือ ถ้าจะเอาอเมริกาก็ต้องไม่เอา 5G ของ Huawei ต้องไปใช้ระบบ 5G ของ Nokia, Ericsson ของ Samsung นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของทรัมป์ที่จะต่อเนื่องทอดยาวมาถึงสมัยของไบเดน โดยขณะนี้พันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งในยุโรปและเอเชียก็แบน Huawei ไปแล้ว แนวโน้มคือพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็จะแบน Huawei ส่วนพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับจีนก็จะใช้ Huawei
สงครามเย็นทางด้านวัฒนธรรม
สำหรับมิติที่ 4 ของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นสงครามเย็นด้านวัฒนธรรม เป็นการต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องของ Soft Power ซึ่งประเทศที่จะสามารถครองโลกได้อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จจะต้องมีทั้ง Hard Power และ Soft Power คือจะต้องมีอำนาจทั้ง 4 มิติ คือ อำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม
สำหรับสงครามเย็นด้านวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน ที่ผ่านมาอเมริกาได้เดินหน้าไล่บี้จีนในเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ไบเดนได้ประกาศอย่างชัดเจนว่านโยบายต่างประเทศจะเน้นการส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นแนวโน้มนโยบายของไบเดนก็คงจะเดินหน้าไล่บี้จีนต่อในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการโจมตีระบบการเมืองของจีนที่เป็นระบบเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและเขตปกครองตนเองซินเจียง รวมทั้งปัญหาไต้หวัน
สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้โลก มีนักศึกษาต่างชาติศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ กว่า 1 ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาจีน ทรัมป์มองว่านักศึกษาจีนเหล่านี้เข้ามาขโมยองค์ความรู้สหรัฐฯ จึงได้เริ่มมาตรการสกัดนักศึกษาจีน และไม่ให้สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของสหรัฐฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจีน ซึ่งไบเดนก็คงจะสานต่อนโยบายของทรัมป์ในเรื่องนี้
ในสมัยของทรัมป์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ทำสงครามอารยธรรมกับจีนที่เราเรียกว่า ‘การปะทะกันทางอารยธรรม’ หรือ ‘Clash of Civilizations’ โดยได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ไม่ใช่คนผิวขาว และกำลังจัดทำยุทธศาสตร์การทำสงครามอารยธรรมกับจีน
กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ของไบเดนต่อจีนจะมีลักษณะของการสานต่อยุทธศาสตร์ของทรัมป์ แต่จะลดความร้อนแรงลง โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นยุทธศาสตร์กึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ หรือ Congagement ที่ไบเดนจะทำสงครามเย็นและปิดล้อมจีนในทุกๆ มิติ ทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม