โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เล็งตั้ง เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลชุดใหม่ รับหน้าที่หนัก ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากโควิด-19
CNBC รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดไบเดนที่ระบุว่า ไบเดนได้ตัดสินใจเลือก เจเน็ต เยลเลน ในวัย 74 ปี เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่เห็นว่าเยลเลนนับเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่จะได้รับการยอมรับจากวุฒิสภาที่สมาชิกพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ได้ ด้วยท่าทีและจุดยืนทางการเมืองที่ค่อนข้างประนีประนอมของตัวเยลเลนเอง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธาน Fed ในปี 2014 ที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมถึงคลี่คลายสถานการณ์เศรษฐกิจด้วยการยกระดับพัฒนาตลาดแรงงาน ทำให้ข้อเสนอที่จะให้เยลเลนรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ทีมงานของไบเดนได้พิจารณา เลล เบรนาร์ด อดีตเจ้าหน้าที่ Fed และ โรเจอร์ เฟอร์กูสัน อดีตรองประธาน Fed ไว้ด้วยเช่นกัน แต่เยลเลนดูจะเป็นตัวเลือกที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกทั้งสองพรรคคือพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยขณะที่พรรครีพับลิกันยอมรับในนโยบายการคลังของเยลเลนที่มุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพการคลัง สมาชิกพรรคเดโมแครตก็ชอบเยลเลนตรงที่มีจุดยืนสนับสนุนการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาวะโลกร้อนที่พรรคให้การสนับสนุน
ปัจจุบันเยลเลน ผันตัวมาเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับสถาบัน Brookings โดยก่อนหน้าที่จะเป็นประธาน Fed เยลเลนเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ Fed ประจำซานฟรานซิสโก และเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจคนที่ 18 ภายใต้ประธานาธิบดี บิล คลินตัน
หากได้รับการรับรองยืนยันอย่างชัดเจน เยลเลนจะสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นรัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประธาน Fed หญิงคนแรกมาแล้ว
การก้าวขึ้นมาของเยลเลนยังกลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นของกระแสพลังหญิงในสังคมโลก ที่มีการเปิดทางให้ผู้หญิงเข้ามารับตำแหน่งและมีบทบาทโดดเด่นสำคัญทางการเมืองหรือแวดวงเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งจะอนุมัติรับรองผ่านระเบียบข้อบังคับใหม่ที่กำหนดโควตาให้กับผู้หญิงในการนั่งตำแหน่งคณะกรรมการบอร์ดบริหารในบริษัทจดทะเบียนในประเทศ
รายงานระบุว่า บริษัทจดทะเบียนที่มีสมาชิกคณะกรรมการมากกว่า 3 คนขึ้นไป ต้องมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงให้เข้ามาอยู่ตำแหน่งอย่างงน้อย 1 คน ซึ่งแถลงการณ์ของกระทรวงกิจการครอบครัว พลเรือนอาวุโส ผู้หญิง และเยาวชน เปิดเผยว่า การพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้ายของระเบียบข้อบังคับใหม่ดังกล่าวจะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้
การตัดสินใจดังกล่าวของเหล่าสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนีได้รับเสียงชื่นชมจากหลายฝ่าย เพราะที่ผ่านมาแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดภายในภูมิภาคยุโรป แต่เยอรมนีกลับตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ด้านโอกาสและสิทธิเสมอภาคระหว่างชายหญิงในเรื่องของตำแหน่งบริหารระดับสูงในแวดวงธุรกิจ
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของ Allbright Foundation องค์การอิสระไม่แสวงหาผลกำไร พบว่า สมาชิกคณะกรรมการบริหารในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 30 แห่งของเยอรมนีมีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ที่เพียง 12.8% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารอยู่ที่ 28.6% สวีเดนที่ 24.9% อังกฤษที่ 24.5% และฝรั่งเศสที่ 22.2% อีกทั้งยังพบว่า ไม่มีบริษัทขนาดใหญ่ของเยอรมนีเลยที่อยู่ภายในการบริหารงานของผู้หญิง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: