×

‘โจ ไบเดน’ ลั่นเศรษฐกิจถดถอยเลี่ยงได้ พร้อมป้องนโยบายกระตุ้นเป็นสิ่งจำเป็น

17.06.2022
  • LOADING...
โจ ไบเดน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางสำนักข่าว AP เป็นเวลา 30 นาที เปิดใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ โดยยอมรับว่าชาวอเมริกันในเวลานี้กำลังอยู่ในสภาวะสิ้นหวังจากปัญหาต่างๆ ที่ดาหน้าเข้ามาไม่หยุดหย่อนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด ความผันผวนของเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่องบประมาณของครอบครัว

 

ไบเดนยอมรับว่า ต้นตอหลักๆ ของความหัวเสียของชาวอเมริกันก็คือสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการระบาดของไวรัสโควิด พร้อมเอ่ยถึงคำเตือนของนักเศรษฐศาสตร์ว่าสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยว่า ไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนย้ำว่าสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งกว่าประเทศใดๆ ในโลกที่จะเอาชนะภาวะเงินเฟ้อนี้ได้

 

สำหรับสาเหตุของเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายระบุว่ามาจากการอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีไบเดนออกโรงโต้ว่า หากเป็นความผิดของนโยบายดังกล่าวจริง ทำไมประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ในโลกถึงมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย พร้อมยืนยันว่าตนเองไม่ใช่คนฉลาด ดังนั้นการตัดสินใจนโยบายแต่ละอย่างจึงผ่านการปรึกษากับทีมและผู้เชี่ยวชาญมาอย่างรอบด้าน

 

วันเดียวกัน สำนักข่าว AP ได้เปิดเผยรายงานพิเศษที่รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก ซึ่งเห็นตรงกันว่าการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในครั้งนี้ แม้จะช่วยสกัดเงินเฟ้อไว้ได้ แต่ก็อาจต้องแลกกับสิ่งที่ Fed พยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุดนั่นก็คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า เป้าหมาย Soft Landing พร้อมด้วยเงินเฟ้อระดับ 2% ที่ Fed หวังว่าจะบรรลุโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจตกราง กำลังเป็นความเสี่ยงมากกว่าที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เคยเอ่ยปากไว้ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และทุกครั้งที่ผู้กู้พบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพงมาก ก็จะหันไปลดการใช้จ่ายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่น การเติบโตของงาน และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลงตามไปด้วย

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่าพาวเวลล์ในเวลานี้เจอโจทย์ยากสองเด้ง ประการแรกก็คือการจัดการเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดของตนเองที่มัวแต่ชะล่าใจ คิดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ทำให้ตอบสนองช้า ส่วนประการที่สองก็คือต้องรับมือกับผลที่ตามมาจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

 

Simona Mocuta หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ State Street Global Advisors กล่าวว่า Fed บอกต่อตลาดอย่างชัดเจนว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ซึ่ง Fed ก็ต้องเตรียมใจด้วยว่าความมุ่งมั่นดังกล่าวมีราคาที่ต้องจ่าย และเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

 

ทั้งนี้ ทาง Fed เองยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายบางส่วนต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ถึงขั้นภาวะถดถอย โดยการคาดการณ์ล่าสุดของ Fed ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตประมาณ 1.7% ในปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากจากการเติบโต 2.8% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าในเดือนมีนาคม และคาดว่าอัตราการว่างงานจะยังต่ำ คือเฉลี่ยที่ 3.7% ณ สิ้นปี

 

ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวแต่ทำลายการเติบโตนั้นอาจจำเป็นต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยตามสถิติแล้ว นับตั้งแต่ปี 1955 ทุกครั้งที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่า 4% และการว่างงานลดลงต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจสหรัฐฯ มักจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสองปี โดยอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ที่ 3.6% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 8% ทุกเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม

 

อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่น่ากลัวสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอเมริกัน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกดดันเศรษฐกิจให้หนักขึ้น โดยผู้ซื้อหรือบ้านและรถยนต์จะรับภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และบางส่วนจะชะลอหรือลดขนาดการซื้อของตน ขณะที่ธุรกิจจะมีต้นทุนในการกู้ยืมมากขึ้นเช่นกัน

 

Robert Tipp หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ PGIM Fixed Income กล่าวว่า ความเสี่ยงจากภาวะถดถอยกำลังเพิ่มขึ้น และไม่เพียงเพราะ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เป็นความกลัวที่เพิ่มขึ้นจากการที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อยากที่จะเอาชนะได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หนทางของ Fed ในเวลานี้จึงไม่ต่างอะไรกับการเดินไต่เชือกที่พลาดแม้แต่ก้าวเดียว เจ็บหนักแน่นอน

  

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X