การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จบลงไปด้วยชัยชนะของผู้ท้าชิงอย่าง โจ ไบเดน จากพรรคโมแครต อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ชัยชนะอย่างขาดลอยเหมือนกับที่โพลได้ทำนายไว้ก่อนการเลือกตั้ง ที่สำคัญพรรคเดโมแครตของเขาเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถพลิกมาเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ บทความนี้จะชวนวิเคราะห์ถึงผลการเลือกตั้งและสาเหตุที่ไบเดนทำได้ต่ำกว่าคาดในหลายสนาม
ชานเมืองและมิดเวสต์คือกุญแจสำคัญของไบเดน
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนสามารถพลิกกลับมาเอาชนะทรัมป์ได้ใน 5 มลรัฐคือ มิชิแกน, วิสคอนซิน, เพนซิลเวเนีย, แอริโซนา และจอร์เจีย อย่างไรก็ดี คะแนนของทรัมป์และไบเดนสูสีกันมากใน 2 มลรัฐหลัง และน่าจะนำไปสู่การนับคะแนนใหม่ (Recount) ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า มลรัฐที่ทำให้ไบเดนชนะทรัมป์ได้อย่างเด็ดขาดคือ 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์อย่างมิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย
3 มลรัฐในเขตภูมิภาคมิดเวสต์นี้เป็นกุญแจสำคัญในทางภูมิศาสตร์การเมืองของพรรคเดโมแครตมาโดยตลอด เพราะ 3 มลรัฐนี้มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) รวมกันถึง 46 เสียง และพร้อมใจกันโหวตให้กับพรรคเดโมแครตมาตลอดตั้งแต่สมัยบิล คลินตัน จนได้รับการขนานนามว่า กำแพงสีน้ำเงิน (Blue Wall) ที่จะป้องกันไม่ให้พรรครีพับลิกันก้าวไปถึงทำเนียบขาว แต่อย่างไรก็ดีกำแพงสีน้ำเงินนี้ได้พังทลายลงในปี 2016 เมื่อทรัมป์สามารถเอาชนะฮิลลารี คลินตันได้ทั้ง 3 มลรัฐ ด้วยนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ และการกีดกันแรงงานอพยพ ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้แรงงานผิวขาวในชนบทของภูมิภาคนี้
สมาชิกของพรรคเดโมแครตทราบดีถึงความสำคัญในการที่จะต้องช่วงชิงคะแนนเสียงจากผู้ใช้แรงงานผิวขาวในภูมิภาคนี้กลับมาจากทรัมป์ ทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกไบเดนที่มีภาพลักษณ์ของชนชั้นกลางติดดิน และมีนโยบายแบบกลางๆ ไม่สุดโต่ง (ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับคลินตัน) มาเป็นผู้แทนพรรค และพวกเขาก็ตัดสินใจถูก เพราะไบเดนสามารถช่วงชิงคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้คืนมาได้พอสมควร ทำให้เขาแพ้ทรัมป์ในเขตชนบทไม่มากเท่าที่คลินตันเคยแพ้
อย่างไรก็ตาม กุญแจที่ทำให้ไบเดนพลิกมาชนะทรัมป์ได้คือการที่เขาได้คะแนนเสียงเพิ่มที่เขตชานเมือง อย่างเช่นที่ มอนต์กอเมอรีเคาน์ตี ที่เป็นเขตชานเมืองของเมืองฟิลาเดลเฟียในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ไบเดนสามารถชนะได้ถึง 130,000 เสียง ทั้งที่คลินตันเคยชนะแค่ 90,000 เสียง ที่โอ๊กแลนด์เคาน์ตีที่เป็นเขตชานเมืองของเมืองดีทรอยต์ในมลรัฐมิชิแกน ไบเดนสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ถึง 110,000 เสียง มากกว่าที่คลินตันเคยทำได้ถึง 1 เท่าตัว และที่วอกีชาเคาน์ตีอันเป็นเขตชานเมืองของเมืองมิลวอกีในมลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน ไบเดนก็สามารถปิดช่องว่างจากที่คลินตันเคยแพ้ถึง 27% ลงมาเหลือแค่ 20%
แต่ไบเดนและเดโมแครตมีปัญหากับคนผิวสี
พรรคเดโมแครตพยายามอย่างมากที่จะกระตุ้นให้คนผิวดำ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคออกมาใช้สิทธิกันให้มากที่สุด โดยพรรคเชื่อว่าการเลือกไบเดนมาเป็นผู้สมัครของพรรคน่าจะเป็นการกระตุ้นให้ชาวอเมริกันผิวดำออกมาใช้สิทธิลงคะแนนได้เป็นอย่างดี เพราะไบเดนเคยเป็นรองประธานาธิบดีให้กับประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์อย่างบารัก โอบามา นอกจากนี้ ไบเดนยังเลือก คามาลา แฮร์ริส ซึ่งเป็นหญิงลูกครึ่งระหว่างคนเอเชียและคนผิวดำมาเป็นคู่หูในตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อเป็นการกระตุ้นฐานเสียงของพวกเขาอีก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้กลับไม่เป็นจริง เพราะคะแนนที่ได้จากเมืองใหญ่ของ 3 มลรัฐกำแพงสีน้ำเงินไม่ได้ดีขึ้นมากมายจากสมัยคลินตันสักเท่าไร เช่น ที่มิลวอกี เขาทำได้ดีขึ้นแค่ 20,000 เสียง (จาก 160,000 เป็น 180,000 คะแนน) ที่ดีทรอยต์ทำได้ดีขึ้น 30,000 เสียง (จาก 290,000 เป็น 320,000 คะแนน) ในขณะที่ฟิลาเดลเฟีย ไบเดนทำได้แย่ลงด้วยซ้ำ (จากที่คลินตันเคยชนะ 480,000 ลงมาเหลือแค่ 450,000 คะแนน) ซึ่งก็แปลว่าถ้าไม่มีคะแนนจากชานเมืองมาช่วยไว้ ไบเดนอาจจะไม่สามารถพลิกมาชนะใน 3 มลรัฐนี้เลยก็ได้
เหตุผลที่คะแนนนิยมของไบเดนในหมู่คนดำไม่โดดเด่นเท่าที่พรรคหวังไว้ น่าจะเกิดจากการที่ไบเดนพยายามวางภาพลักษณ์ให้ตัวเองเป็นนักการเมืองสายกลาง ไม่สนับสนุนนโยบายซ้ายจัดหลายอย่างที่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่คนผิวดำ อย่างเช่น การตัดลดงบประมาณตำรวจ และการเปิดเสรีกัญชา ซึ่งอาจจะทำให้คนกลุ่มนี้ขาดแรงจูงใจที่จะไปลงคะแนนให้ไบเดน
นอกจากนี้ไบเดนยังมีปัญหากับคนฮิสแปนิกด้วย เสียงที่เขาได้จากคนฮิสแปนิกลดลงมากเมื่อเทียบกับสมัยคลินตัน ยกตัวอย่างเช่นที่ ไมอามี-เดดเคาน์ตีทางตอนใต้ของมลรัฐฟลอริดา ที่เต็มไปด้วยผู้อพยพจากอเมริกากลาง ซึ่งคลินตันเคยชนะอย่างเป็นกอบเป็นกำถึงกว่า 3 แสนเสียง แต่ไบเดนชนะได้ไม่ถึง 1 แสนเสียง ทำให้สุดท้ายไบเดนแพ้ทรัมป์ที่ฟลอริดาไปอย่างขาดลอย ทั้งๆ ที่เขาทำคะแนนได้ดีขึ้นในหมู่ชุมชนผู้เกษียณอายุ
หรืออย่างทางตอนใต้ของมลรัฐเท็กซัสในโซนที่เรียกว่าริโอ แกรนด์ วัลเลย์ ที่เต็มไปด้วยผู้อพยพเชื้อสายเม็กซิกัน ซึ่งคลินตันเคยชนะเกือบทุกเคาน์ตี แต่ในปีนี้ทรัมป์พลิกกลับมาชนะได้ถึง 8 เคาน์ตี ทำให้ไบเดนไม่สามารถพลิกกลับมาชนะที่เท็กซัสได้ ทั้งๆ ที่เขากวาดคะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำในเขตชานเมืองของมหานครอย่าง ดัลลัส, ฮิวสตัน, ซานอันโตนิโอ และออสติน
ปัญหาเรื่องชาวฮิสแปนิกของไบเดนน่าจะเกิดจากปัจจัยสองอย่างคือ หนึ่ง ไบเดนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการหาเสียงกับคนกลุ่มนี้มากเท่าใด เพราะเขาย่ามใจว่า นโยบายต่อต้านผู้อพยพของทรัมป์น่าจะเป็นแรงจูงใจที่เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชาวฮิสแปนิกหันมาลงคะแนนให้เขา
สอง การโจมตีไบเดนและพรรคเดโมแครตว่าเป็นพวกสังคมนิยมอาจจะได้ผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของกลุ่มชาวฮิสแปนิก ที่อพยพหนีรัฐบาลสังคมนิยมมาแสวงหาอิสรภาพในโลกเสรี โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อพยพมาจากคิวบาและเวเนซุเอลา
ปัญหาที่ชานเมืองอาจจะเป็นปัญหาเฉพาะตัวของทรัมป์ไม่ใช่พรรครีพับลิกัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ถึงแม้ว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อไบเดนอย่างขาดลอยในเขตชานเมือง แต่ผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำผลงานได้อย่างดีมากในเขตชานเมือง พวกเขาสามารถทวงคืนที่นั่งในสภาล่างได้อย่างน้อย 9 ที่ (ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ) เช่น ที่โอคลาโฮมา เขต 5 ซึ่งเป็นเขตชานเมืองของโอคลาโฮมา ซิตี และที่แคลิฟอร์เนีย เขต 48 ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของลอสแอนเจลิส
ผลจากการที่ผู้สมัครคนอื่นของพรรคทำผลงานได้ดีในเขตชานเมือง ชี้ให้เห็นว่าการเสื่อมความนิยมของคนในย่านนี้ (ซึ่งมักจะเป็นคนขาวที่มีการศึกษา) เป็นเรื่องเฉพาะตัวของทรัมป์ ซึ่งอาจจะเป็นด้วยคาแรกเตอร์หลายอย่างของเขาที่ไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำประเทศ เช่น การพูดจาโอ้อวดเกินจริง การแสดงความเกรี้ยวกราดในที่สาธารณะ รวมทั้งพฤติกรรมหลายอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นการบูลลี่คนอื่น แต่คนขาวกลุ่มนี้ก็ยังชื่นชอบนโยบายทางขวาของรีพับลิกัน (เช่น การปราบปรามอาชญากรรมอย่างจริงจัง และการลดภาษี) ทำให้พวกเขายังคงเลือกคนของรีพับลิกันที่ไม่ใช่ทรัมป์อยู่
โพลผิดพลาดพอๆ กับสมัยปี 2016
ค่าเฉลี่ยของโพลก่อนการเลือกตั้งทำนายไว้ว่า ไบเดนจะชนะการเลือกตั้งที่ประมาณ 8% แต่ผลที่ออกมาจริงไบเดนน่าจะชนะที่ประมาณ 5% (หลังจากบัตรเลือกตั้งที่มาทางไปรษณีย์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และอิลลินอยล์นับครบแล้ว) ซึ่งก็แปลว่าโพลประเมินคะแนนของทรัมป์ต่ำไปประมาณ 3% พอๆ กับสมัยปี 2016 ที่ค่าเฉลี่ยของโพลก่อนการเลือกตั้งทำนายไว้ว่า คลินตันจะชนะการเลือกตั้งที่ประมาณ 5% แต่ผลที่ออกมาจริงเธอชนะแค่ 2%
การผิดพลาดแค่ 3% อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะจากการเก็บสถิติของโพลย้อนหลังไปหลายสิบปีเราก็พบว่า ค่าเฉลี่ยของความผิดพลาดก็จะอยู่ที่ประมาณ 3-4% มาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม การที่โพลผิดพลาดในทิศทางเดียวกัน ในขนาดพอๆ กันถึงสองสมัยติดต่อกันสะท้อนให้เห็นว่า การสุ่มกลุ่มตัวอย่างมาทำโพลน่าจะมีความผิดพลาดในเชิงระบบ เช่น การสุ่มอาจจะสุ่มเจอฐานเสียงของพรรครีพับลิกันน้อยเกินไป สำนักโพลต่างๆ คงจะต้องทำวิจัยกันต่อไปว่าความผิดพลาดของปี 2016-2020 เกิดจากอะไร เพื่อให้โพลมีความแม่นยำขึ้นในปี 2024
ทรัมป์ยังไม่ยอมแพ้
ทรัมป์ยังไม่ยอมรับว่าเขาแพ้ เขากล่าวหา (อย่างไม่มีหลักฐาน) ว่าพรรคเดโมแครตได้ทำการทุจริตด้วยการส่งบัตรเลือกตั้งปลอมมาทางไปรษณีย์ เขาพยายามต่อสู้ด้วยการฟ้องร้องในศาล แต่จนถึงวันนี้นับสิบคดีที่เขาฟ้องร้องก็ยังไม่มีคดีไหนที่ศาลตัดสินเข้าข้างเขา เพราะไม่มีประจักษ์พยานที่เพียงพอที่จะระบุว่ามีการทุจริตเลือกตั้งจริงๆ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวออกมาด้วยว่า ถ้าหากสุดท้ายทรัมป์แพ้ในศาล และต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เขาก็จะกลับมาใหม่ในปี 2024 เขาเชื่อว่าฐานเสียงในพรรคยังภักดีกับเขามาก จนทำให้เขาชนะการเลือกตั้งขั้นต้นได้อย่างไม่ยากเย็น เพื่อกลับมาเป็นแข่งกับไบเดนอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์