โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ The New York Times เผยว่างานสำคัญลำดับแรกในเวลานี้ คือการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้ผ่านสภาคองเกรส นอกจากนี้เขายังเผยถึงความตั้งใจในการปรับยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และต้องการยุติมาตรการคว่ำบาตรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่ออิหร่าน
ในระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับ โธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ The New York Times เมื่อวันอังคาร (1 ธันวาคม) ไบเดนเตือนถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะยาว หากสหรัฐฯ ไม่จัดการกับข้อเท็จจริงที่ว่า เวลานี้มีประชาชนกว่า 10 ล้านคน ที่กำลังวิตกกังวลว่าพวกเขาจะผ่อนบ้านงวดต่อไปได้อย่างไร และมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านได้แล้ว
ไบเดนระบุว่า เมื่อคนตกงานเป็นเวลานาน พวกเขาจะกลับมาทำงานได้ยากลำบากขึ้น โดยคนจำนวนมากตกงานหลายปี และสูญเสียโอกาสจากการไม่มีงานทำเป็นเวลาหลายปี
ตามความเห็นของไบเดนนั้น การอัดฉีดเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ส่งผลเสียทางการคลังในระยะยาว หากในอนาคตทุกคนจ่ายภาษีอย่างยุติธรรม
“ผมหมายถึงว่า มันไม่มีเหตุผลว่าทำไมอัตราภาษีขั้นสูงสุดจึงไม่ควรเป็น 39.6% และมันไม่มีเหตุผลว่าทำไมบริษัทในทำเนียบ Fortune 500 91 แห่งควรเสียภาษีเป็นศูนย์” ไบเดนกล่าว
แต่คำถามสำคัญคือ เขาจะผลักดันแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสภาได้หรือไม่ หากรีพับลิกันยังคงกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาหรือสภาสูง ซึ่งพวกเขาตัดสินใจว่าจะยังคงปล่อยให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูงต่อไปในยุคของไบเดนหรือไม่ เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านนั้น มีการใช้จ่ายโดยปราศจากการควบคุมในยุคของทรัมป์ จนส่งผลให้หนี้สาธารณะพอกพูนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยหลายฝ่ายวิตกว่าไบเดนจะทำงานร่วมกับมิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำของรีพับลิกันในวุฒิสภา ได้ดีเพียงไร
ในเรื่องนี้ไบเดนมองในแง่บวกว่าจะสามารถผลักดันแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจให้สำเร็จลุล่วงได้ โดยเขาชี้ให้เห็นว่าในอดีตมีหลายสิ่งที่เขาทำสำเร็จร่วมกับแม็กคอนเนลล์มาแล้ว แม้ในช่วงเวลาที่แม็คอนเนลล์คุมเสียงข้างมากในสภาสูง
“ผมคิดว่าจะมีการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การประนีประนอมทั้งหมดที่หลีกหนีจากหลักการ” ไบเดนกล่าวเสริม “เขา (แม็กคอนเนลล์) รู้จักผม แล้วผมก็รู้จักเขา ผมไม่ขอให้เขาทำข้อตกลงที่สร้างความลำบากใจให้เขาหรอก”
ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศที่หลายคนจับตามองนั้น ไบเดนพูดถึงสองประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และความสัมพันธ์กับจีน
ฟรีดแมนถามไบเดนว่า เขายังย้ำจุดยืนที่มีต่อข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านตามที่เขาเคยเขียนในบทความลงเว็บไซต์ CNN เมื่อวันที่ 13 กันยายนหรือไม่ ซึ่งไบเดนตอบว่า “มันจะเป็นเรื่องยาก แต่ใช่ครับ”
เขาเคยเขียนไว้ว่า หากอิหร่านกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างเข้มงวด สหรัฐฯ ก็จะกลับเข้าสู่ข้อตกลง และเริ่มต้นเจรจาสานต่อ รวมถึงยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ทรัมป์ใช้กับเตหะรานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอิหร่านก็คาดหวัง โดย จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านเคยกล่าวไว้ในวันที่ 17 พฤศจิกายนว่า หากสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลง อิหร่านก็จะดำเนินการอัตโนมัติเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเจรจาใหม่
ข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวลงนามโดยสองฝ่ายในปี 2015 แต่ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อตกลงที่แย่ และกล่าวหาอิหร่านว่าลักลอบพัฒนานิวเคลียร์ แม้ว่าคณะผู้ตรวจสอบจากนานาชาติและพันธมิตรในยุโรปจะไม่มองเช่นนั้นก็ตาม
ในมุมมองของไบเดนและทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาตินั้น หากสองฝ่ายฟื้นข้อตกลงขึ้นมาใหม่ ก็จะมีการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลาในการจำกัดการผลิตวัสดุฟิสไซล์ของอิหร่านที่ใช้สำหรับผลิตระเบิด ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 15 ปี ตลอดจนจัดการกับกิจกรรมมุ่งร้ายของอิหร่านในภูมิภาคผ่านทางสงครามตัวแทนในเลบานอน, อิรัก, ซีเรีย และเยเมน
นอกจากชาติมหาอำนาจที่ร่วมลงนามในข้อตกลงอย่างสหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหภาพยุโรปแล้ว ทีมงานของไบเดนยังต้องการให้เพื่อนบ้านอาหรับของอิหร่านมีส่วนร่วมในการเจรจาหลังจากนี้ด้วย โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ก่อนหน้านี้ฟรีดแมนเขียนคอลัมน์แสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ควรเลิกใช้มาตรการคว่ำบาตรเพียงเพื่อที่จะกลับมารื้อฟื้นข้อตกลง แต่สหรัฐฯ ควรใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขนี้กดดันให้อิหร่านควบคุมการส่งออกอาวุธนำวิถีแก่พันธมิตรในเลบานอน, ซีเรีย, เยเมน และอิรัก ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลและรัฐอาหรับหลายประเทศ
แต่ไบเดนยืนยันว่า ผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกาคือต้องทำให้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกลับมาอยู่ในความควบคุม และมีการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบเสียก่อน เพราะในมุมมองของไบเดนนั้น การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐฯ และต่อระบบควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกอย่างสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons)
“ดูสิ มีการพูดคุยมากมายเกี่ยวกับขีปนาวุธความแม่นยำสูง และอาวุธทุกพิสัยอื่นๆ ที่บั่นทอนเสถียรภาพของตะวันออกกลาง” ไบเดนระบุ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ “หนทางที่ดีที่สุดในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคดังกล่าวก็คือ การจัดการกับโครงการนิวเคลียร์”
หากอิหร่านครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ จะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี อียิปต์ และชาติอื่นๆ ต้องครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เองด้วย ซึ่งท้ายที่สุดทั่วโลกก็จะแข่งขันกันสร้างขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์
ส่วนประเด็นเรื่องจีนนั้น ไบเดนระบุว่าเขาจะยังไม่ยกเลิกกำแพงภาษี 25% ของทรัมป์บนสินค้าเกือบครึ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนโดยทันที และยังไม่ล้มเลิกข้อตกลงการค้าเฟส 1 ที่ลงนามกับจีน ซึ่งกำหนดให้จีนต้องซื้อสินค้าและบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างปี 2020-2021
“ผมจะยังไม่ดำเนินการอะไรทันที เช่นเดียวกับมาตรการทางภาษีศุลกากรต่างๆ” ไบเดนกล่าว
สิ่งที่ไบเดนต้องการทำเป็นลำดับแรกคือการทบทวนข้อตกลงกับจีนที่มีอยู่ทั้งหมด และหารือกับประเทศพันธมิตรในเอเชียและยุโรป เพื่อที่ว่า “เราจะสามารถพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันได้”
“ผมคิดว่าแผนยุทธศาสตร์จีนที่ดีที่สุดคือแผนที่ทำให้พันธมิตรทั้งหมดของเรา หรืออย่างน้อยก็ชาติที่เคยเป็นพันธมิตรของเราอยู่ในแนวทางเดียวกัน มันจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของผมในช่วงหลายสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะพยายามทำให้เราอยู่ในแนวทางเดียวกับพันธมิตรของเรา”
คณะผู้นำจีนมีประเด็นปัญหากับทรัมป์ แต่พวกเขาทราบดีว่า ตราบใดที่เขายังเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ จะไม่สามารถปลุกระดมแนวร่วมเพื่อต่อต้านจีนได้ แต่สำหรับไบเดนนั้นอาจกลับกัน ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับจีน
ในขณะที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่ไบเดนระบุว่า เป้าหมายของเขาคือการดำเนินนโยบายการค้าที่มุ่งลดแนวทางปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของจีน เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด ตลอดจนการที่รัฐให้ความช่วยเหลือธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย และการบังคับบริษัทอเมริกันถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน
ไบเดนมีแนวคิดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรสร้างฉันทามติระหว่างสองพรรคการเมือง (เดโมแครตและรีพับลิกัน) ในประเทศ ในการผลักดันนโยบายด้านอุตสาหกรรมเก่าแก่ที่ดีของคนอเมริกัน ทั้งการลงทุนเม็ดเงินมหาศาลในด้านการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนได้ดียิ่งขึ้น
“ผมต้องการทำให้แน่ใจว่าเราจะสู้ยิบตาโดยการลงทุนในอเมริกาเป็นอันดับแรก” ไบเดนกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยในเซกเตอร์พลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุขั้นสูง และปัญญาประดิษฐ์
“ผมจะไม่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับใคร จนกว่าเราจะได้ลงทุนมหาศาลในบ้าน ในตลาดแรงงานของเรา และในด้านการศึกษาแล้ว” ไบเดนกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: