รัฐบาล โจ ไบเดน ออกกฎข้อบังคับขั้นสุดท้ายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 เมษายน) กำหนดให้สายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสารอัตโนมัติในกรณีที่มีความล่าช้าของเที่ยวบิน อีกทั้งยังต้องเปิดเผยค่าธรรมเนียมสำหรับกระเป๋าเดินทางหรือการยกเลิกการจองให้ดีขึ้นด้วย
กระทรวงคมนาคมระบุว่า สายการบินจะต้องคืนเงินค่าตั๋วโดยสารอัตโนมัติภายในไม่กี่วันสำหรับเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกและ ‘มีความล่าช้าอย่างมาก’
ภายใต้กฎข้อบังคับในปัจจุบัน สายการบินเป็นผู้ตัดสินใจว่าความล่าช้าต้องนานแค่ไหนถึงจะคืนเงิน รัฐบาลจะกำจัดช่องว่างตรงนี้ด้วยการให้นิยามว่า ‘ความล่าช้าอย่างมากคือความล่าช้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมงสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 6 ชั่วโมงสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ’
สายการบินยังคงมีสิทธิ์ที่จะเสนอเที่ยวบินอื่นหรือเครดิตสำหรับการเดินทางให้แทนได้ แต่ลูกค้าก็มีสิทธิ์ปฏิเสธข้อเสนอนั้นได้
กฎนี้ยังใช้บังคับกับการคืนเงินค่ากระเป๋าสัมภาระที่เช็กอินแล้วไม่ได้รับกระเป๋าภายใน 12 ชั่วโมงสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ หรือ 15-30 ชั่วโมงสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และจะใช้บังคับกับค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างเช่น ค่าเลือกที่นั่งหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หากสายการบินให้บริการดังกล่าวไม่ได้
เสียงบ่นเกี่ยวกับการคืนเงินค่าตั๋วพุ่งพรวดระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิดขณะที่สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน และแม้จะไม่ได้ยกเลิก แต่คนจำนวนมากก็ไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะโดยสารเครื่องบินไปพร้อมๆ กับผู้โดยสารคนอื่นๆ
Airlines for America กลุ่มการค้าของสายการบินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อร้องเรียนเรื่องการคืนเงินค่าตั๋วต่อกระทรวงคมนาคมลดลงอย่างมากตั้งแต่กลางปี 2020 โฆษกของกลุ่มนี้บอกว่า สายการบินเสนอทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงค่าตั๋วที่สามารถคืนได้เต็มจำนวน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการเดินทางทางอากาศ และเพื่อช่วยให้ลูกค้าเลือกตั๋วที่เหมาะกับความต้องการของพวกเขามากที่สุด
กลุ่มนี้ระบุว่า 11 สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คืนเงินค่าตั๋วให้แก่ลูกค้ารวม 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 ล้านล้านบาทจากปี 2020-2023
กระทรวงคมนาคมออกกฎข้อบังคับอีกฉบับแยกออกมา กำหนดให้สายการบินและตัวแทนจำหน่ายตั๋วเปิดเผยล่วงหน้าว่าคิดค่าธรรมเนียมกระเป๋าสัมภาระเช็กอินและกระเป๋าถือขึ้นเครื่องเท่าไร รวมถึงค่าธรรมเนียมยกเลิกหรือเปลี่ยนการจองด้วย บนเว็บไซต์ของสายการบินต้องแจ้งค่าธรรมเนียมให้ทราบในจังหวะแรกที่ลูกค้าเห็นราคาและตารางเวลาเดินทาง
กฎนี้ยังบังคับให้สายการบินต้องบอกผู้โดยสารว่าพวกเขามีที่นั่งเป็นสิทธิตามตัวอยู่แล้วโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ไม่ได้ห้ามสายการบินคิดค่าธรรมเนียมคนที่เลือกที่นั่งเฉพาะจุด สายการบินจำนวนมากในปัจจุบันคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับบางที่นั่ง รวมถึงที่นั่งแถวทางออกและที่นั่งใกล้ด้านหน้าของห้องโดยสาร
กระทรวงฯ ระบุว่า กฎข้อบังคับนี้จะช่วยให้ลูกค้าประหยัดได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้าน Airlines for America กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่ม ‘ให้ความโปร่งใสและมีทางเลือกมากมายให้แก่ลูกค้า’ นับตั้งแต่เริ่มที่ค้นหา
กฎระเบียบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามสิ่งที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เรียกว่า ‘ค่าธรรมเนียมขยะ’ ของรัฐบาลชุดนี้
สัปดาห์ที่แล้ว พีต บุตติเจจ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศว่า กระทรวงของเขาจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใน 15 รัฐช่วยบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสายการบินของรัฐบาลกลาง
อ้างอิง: