×

กูรูวิพากษ์ โจ ไบเดน ลงนามกฎหมาย ‘ควบคุมการลงทุนจีน’ ถือเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เอง

19.09.2022
  • LOADING...
ไบเดน

บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักออกโรงแสดงความเห็นกรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารเพื่อทบทวนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่มุ่งเป้าไปที่จีน ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา 

 

โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกระทำดังกล่าว เมื่อบวกกับสารพัดนโยบาย ‘แยก’ จีนออกจากการค้าโลกเมื่อไม่นานมานี้ของสหรัฐฯ ถือเป็นความคิดที่เป็นอันตราย และเป็นความเคลื่อนไหวที่จะขัดขวางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ การลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกิดขึ้นกำหนดให้คณะกรรมการการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (CFIUS) กลั่นกรองการลงทุนจากต่างประเทศและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจทำให้หน่วยงานต่างประเทศเข้ามาควบคุมความสามารถในการผลิตที่สำคัญ ทรัพยากรแร่ หรือเทคโนโลยีของสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้ การลงนามของผู้นำสหรัฐฯ ยังเปิดทางให้ CFIUS ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น เจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรมและความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เดินหน้าสืบสวนการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศ

 

แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่ได้ระบุเป้าหมายเฉพาะเจาะจงว่าเป็นประเทศจีน แต่คำอธิบายของมาตรการที่ทำเนียบขาวระบุว่า ต้องตรวจสอบการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทจากคู่แข่งหรือประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ ถือเป็นการสื่อถึงประเทศจีน 

 

Gao Lingyun ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสังคมศาสตร์จีนในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ภายใต้ระเบียบของ CFIUS สหรัฐฯ ยังสามารถทบทวนการลงทุนที่ผ่านมาเพื่อดูว่าการลงทุนใดไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่ง Gao ชี้ว่า โดยผิวเผินกฎหมายดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ทุกประเทศ แต่ที่จริงแล้วมุ่งเป้าไปที่จีน โดยคาดการณ์ว่าในไม่ช้าสหรัฐฯ อาจรวมอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงเทคโนโลยีสาธารณสุข เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีพลังงานเข้ามาทบทวนภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว 

 

ทางด้านทำเนียบขาวยืนกรานว่า คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการปรับปรุงระบบการตรวจสอบของ CFIUS เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นในปี 1975 

 

ทั้งนี้ Gao กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2021 การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสหรัฐฯ แสวงหาสิ่งที่เรียกว่าการรักษาความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์และแยกแนวคิดนี้ออกจากการพัฒนา ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในระยะยาว เพราะขัดขวางความสะดวกของนักลงทุนต่างชาติในสหรัฐฯ ในการพัฒนาและลงทุน รวมถึงเพิ่มต้นทุนให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่วอยู่แล้ว

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับขอบเขตที่กว้างขึ้นในการกีดกันภาคเทคโนโลยีของจีนเพิ่มเติม โดยมีสองอุตสาหกรรมล่าสุดคือห่วงโซ่อุปทานของชิปและยา โดยมีรายงานว่ารัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนกำลังวางแผนที่จะจำกัดการจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้สำหรับปัญญาประดิษฐ์และเครื่องมือทำชิปของสหรัฐฯ ไปยังจีน รวมถึงวางแผนที่จะลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารเพื่อส่งเสริมการผลิตชีวภาพของสหรัฐฯ เพื่อแข่งขันกับจีน

 

ในส่วนของความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองในสัปดาห์นี้ย่อมหนีไม่พ้นการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ค่อนข้างกดดันและท้าทาย เมื่อรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงขยับตัวเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า การประชุม Fed ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพุธที่ 21 กันยายนี้ จะถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หรือใช้ยาแรงจัดเต็มปรับขึ้น 1%

 

นอกจากนี้ สิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนกังวลมากกว่าก็คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งความคิดเห็นแตกเป็นสองทาง ทางแรกก็คือมองว่า Fed จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในเดือนพฤศจิกายน และอีกทางหนึ่งมองว่าเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัวเปิดทางให้ Fed ลดท่าทีแข็งกร้าวของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลังการประชุมเดือนพฤศจิกายนว่าจะอยู่ในระดับที่ 3.5-4% อีกทั้งแนวโน้มจะมืดมนยิ่งขึ้นในเดือนธันวาคม โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจถึง 3.75-4.5%

 

ขณะเดียวกัน ปัญหาใหญ่ที่ Fed ยังต้องเผชิญอยู่ก็คือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดูร้อนแรงเกินไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย กระนั้น ตลาดงานยังแข็งแกร่ง ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายในอัตราที่ดี และราคาที่อยู่อาศัยยังคงสูงอยู่ แม้ว่าจะมีอัตราการจำนองเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม

 

Timothy Chubb ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนของ Girard กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนให้ Fed ต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่ Fed คาดการณ์ไว้ โดย Chubb ชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงหลายครั้งต่อเนื่องมีความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะรุนแรงถึงระดับเศรษฐกิจล่มสลายเหมือนปี 2008

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X