×

ความท้าทายและปัญหาที่รอไบเดนสะสาง กับ 4 มรดกที่ทรัมป์ทิ้งไว้ในเอเชีย

04.12.2020
  • LOADING...
ความท้าทายและปัญหาที่รอไบเดนสะสาง กับ 4 มรดกที่ทรัมป์ทิ้งไว้ในเอเชีย

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า โจ ไบเดน จะกลับมาทวงบทบาทผู้นำในเอเชียแปซิฟิกหรือไม่ และไบเดนมีความท้าทายอะไรรออยู่กับสิ่งที่ทรัมป์ทิ้งไว้ให้

โจ ไบเดน จะขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021 และตัวเขาเองก็ได้เปิดตัวว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาแล้ว ซึ่งก็คือ แอนโทนี บลินเคน 

 

ทั้งไบเดนและบลินเคนไม่ใช่มือใหม่ในสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยไบเดนปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาและอยู่ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสหรัฐฯ (Senate Foreign Relations Committee) มาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2001 จนดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการการต่างประเทศในปี 2007-2009 ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีให้กับบารัก โอบามา 

 

ในขณะที่บลินเคนเองก็ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภามาตั้งแต่ปี 2002 และเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับรองประธานาธิบดีไบเดนในปี 2009 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในปี 2013 และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศในปี 2015-2017 และด้วยการศึกษาจากฮาร์วาร์ด และจบกฎหมายจากโคลัมเบีย ทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพบลินเคนเทียบกับอดีตที่ปรึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนสำคัญในอดีตของสหรัฐฯ นั่นคือ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ผู้เสนอให้สหรัฐฯ จับมือกับจีน เพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ทศวรรษ 1970

 

จะเห็นได้ว่าทั้งไบเดนและบลินเคนทำงานด้านการต่างประเทศร่วมกันมาในฐานะที่ปรึกษาและผู้บังคับบัญชากันมาโดยตลอด และคู่หูคู่นี้จะต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศต่อเนื่องกันไปอีกในสมัยหน้า โดยความท้าทายในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทวีปเอเชียคือ ทั้งคู่จะต้องเข้ามาสะสางสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ก่อไว้อย่างน้อย 4 เรื่องดังนี้ (ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอยกเอากรณีปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนเอาไว้ เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์หลักทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ มาแล้วตั้งแต่ก่อนยุคของทรัมป์)

 

  1. ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เขาไม่เคยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายขอร้องเพื่อให้ได้สถานะการเป็นประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) กับอาเซียน

 

โดยในปี 2017 เมื่อครั้งที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ทรัมป์เดินทางไปกรุงมะนิลา แต่เลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมนัดนี้ โดยได้เดินทางกลับสหรัฐฯ ก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้น 

 

ในปี 2018 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพก็เช่นกัน ทรัมป์ไม่เดินทางมาด้วยตนเอง แต่เลือกที่จะส่งผู้แทน ทั้งที่ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์คือพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

และสถานการณ์กลับยิ่งตกต่ำลงอย่างยิ่ง เมื่อในปี 2019 ที่ประเทศไทยเป็นประธานการประชุมสุดยอด ทรัมป์เลือกที่จะส่งเพียงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงอย่างโรเบิร์ต โอไบรอัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ 14 ตามการจัดลำดับความสำคัญของผู้นำสหรัฐฯ มาเป็นตัวแทน และผู้นำอาเซียนเองก็ตอบโต้ด้วยการไม่ร่วมเข้าประชุม เพราะถือว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียน ครั้งนั้นอาเซียนส่งตัวแทนในรูปแบบของ Troika นั่นคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน (ประเทศไทย), เหงียนซวนฟุก ในฐานะรองประธาน (ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเป็นประธานในปีต่อไป) และทองลุน สีสุลิด ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ (สปป.ลาว) เข้าประชุมเท่านั้น โดยอีก 7 ผู้นำเลือกที่จะไม่เข้าประชุม เพราะถือว่ามีภารกิจอื่นที่สำคัญกว่าการที่จะเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

 

แม้สหรัฐฯ จะพยายามสานสัมพันธ์โดยวางแผนจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ นัดพิเศษในเมืองลาสเวกัส สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2020 แต่ก่อนหน้านั้นผู้นำบางคนของฝั่งอาเซียนเอง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ก็ตอบปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วมประชุมไปแล้ว และการประชุมก็ไม่เกิดขึ้น เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

และล่าสุด แม้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ในปี 2020 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมทางไกล ผู้นำสหรัฐฯ ก็เลือกที่จะไม่เข้าประชุมอีกครั้ง โดยส่งตัวแทนคนเดิมคือ โอไบรอัน เข้าร่วมประชุม และผู้นำอาเซียนหลายคนก็ตอบโต้ในลักษณะเดิม นั่นคือ ไม่ร่วมประชุมกับตัวแทนของสหรัฐฯ

 

นี่ยังไม่นับถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนในหลายๆ วาระ โดยนักการทูตของสหรัฐฯ ที่ต้องการยกระดับให้ความขัดแย้งระหว่างบางประเทศสมาชิกของอาเซียนกับจีน ให้กลายเป็นความขัดแย้งของทั้งภูมิภาคอาเซียนกับจีน

 

ในปี 2021 ซึ่งแน่นอนว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในการบั่นทอน ปิดล้อม และจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน ยังเป็นยุทธศาสตร์หลักทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ อาเซียนคือความร่วมมือในทุกมิติและทุกระดับของประชากร 655 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอิทธิพลของสหรัฐฯ เองก็ดูจะถดถอยในพื้นที่นี้ในตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อิทธิพลของจีนก็เข้มแข็งขึ้น สหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก และต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ต่ออาเซียน 

  1. สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี

สถานการณ์การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ (ICBM) ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามของทั้งโลก โดยล่าสุดเกาหลีเหนือประกาศแล้วว่า พวกเขามีจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถถล่มเป้าหมายได้ในทุกทวีปทั่วโลก เป็นปกติที่เกาหลีเหนือมักจะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ (ดูได้จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งที่ 2 ในปี 2009 และครั้งที่ 3 ในปี 2013) ทั้งนี้เพื่อรักษาความอยู่รอดของระบอบเผด็จการตระกูลคิม ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องต่อรองกับประชาคมโลก แน่นอนว่าสถานการณ์เลวร้ายในลักษณะของสงครามน้ำลายเริ่มต้นพร้อมกับการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ที่เขาเรียกผู้นำเกาหลีเหนือด้วยสมญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Rocket Man, Short and Fat และนั่นก็นำไปสู่การทดลองอาวุธในครั้งที่ 5 และ 6 ในปี 2016 และ 2017 ตามลำดับ โดยในครั้งปี 2017 ทรัมป์ก็ออกมาตอบโต้ว่าสหรัฐฯ มีอาวุธที่ใหญ่กว่าและมากกว่า และพร้อมที่จะตอบโต้เกาหลีเหนือด้วยไฟและความเดือดดาล (Fire and Fury) 

 

แต่แล้วการประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ ก็เกิดขึ้นตามมาอีก 3 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2018 ที่ประเทศสิงคโปร์, เดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และในเดือนมิถุนายน 2019 ที่เขตปลอดทหารระหว่างเขตแดนของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พร้อมๆ กับการยกระดับให้ผู้นำที่เป็นภัยคุกคามกลายเป็นเพื่อน ทรัมป์กล่าวว่า เขากับคิมจองอึน ‘We Fall in Love’ คิมจองอึนได้รับการยกระดับให้กลายเป็นผู้นำที่เฉลียวฉลาด (Sharp), รักประชาชน (Loves His People) (ทั้งที่ในเกาหลีเหนือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง) และเป็นเพื่อนกับผู้นำสหรัฐฯ (ทั้งที่สหรัฐฯ พยายามสร้างวาทกรรมว่าสหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกเสรี) เหล่านี้คือการยกระดับและรับรอง (Endorse) ความชอบธรรมให้กับระบอบคิมและเกาหลีเหนือ

 

และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลง เมื่อตลอดช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเจรจาต่างๆ เพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีหยุดชะงัก แต่การเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์และจรวดพิสัยไกลข้ามทวีปของเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ ในยุคของไบเดนจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะคุกคามเช่นนี้

 

  1. กรณีความขัดแย้งกับประเทศอิหร่าน

แม้ในยุคของประธานาธิบดีโอบามา เราจะได้เห็นข้อตกลง 2015 Joint Comprehensive Plan of Action ระหว่างอิหร่าน, สหรัฐฯ, จีน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปเกิดขึ้น และทำให้การพัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางการทหารของอิหร่านหยุดลง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เกิดขึ้นในอิหร่าน ประเทศไทยของเราเองก็มีเที่ยวบิน และจำนวนนักท่องเที่ยว นักศึกษา และนักธุรกิจ เดินทางไปทำการค้าการลงทุนในอิหร่านมากขึ้น

 

แต่แล้วทั้งหมดก็ยุติลง เมื่อทรัมป์พิจารณาว่าข้อตกลงของโอบามาเป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ และประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เมื่อกองกำลังอากาศยานของสหรัฐฯ เข้าถล่มขบวนรถยนต์ของนายพลกัสเซม โซเลมานี หลังจากที่เขาเดินทางถึงสนามบินในประเทศอิรักในวันที่ 3 มกราคม 2020 ทำให้ผู้นำกองทัพระดับสูงทั้งของอิหร่านและอิรักเสียชีวิต ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งในวีรบุรุษแห่งชาติของชาวอิหร่าน ทั้งนี้เนื่องจากเขาคือผู้นำกองกำลังที่เข้าไปปราบปรามกลุ่มนักรบ ISIS ในอิรัก และนำความสงบให้เกิดขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงในทำเนียบขาว โดยเรียกนายพลโซเลมานีว่าเป็น Number-One Terrorist Anywhere in the World รวมทั้งยังเรียกเขาว่าปีศาจในการให้สัมภาษณ์อีกด้วย

 

และจากเหตุการณ์ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2020 จนถึงปัจจุบัน หน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) ในสังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านก็ยังคงชักธงชาติอิหร่านที่เปลี่ยนเป็นสีแดงขึ้นสู่ยอดเสาหลังคาสุเหร่าจัมคารานในเมืองกอม ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของนายพลโซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ โดยธงชาติที่ปกติเป็นสีเขียว และถูกเปลี่ยนเป็นสีแดง เป็นการส่งสัญญาณตามประเพณีของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่หมายถึงเลือดที่สูญเสียไปโดยไม่เป็นธรรม พวกเขาใช้เป็นสัญลักษณ์เรียกร้องชาวชีอะห์เข้าร่วมการสู้รบ เพื่อล้างแค้นแก่บุคคลร่วมนิกายที่ถูกศัตรูสังหาร และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ธงแดงถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาสุเหร่าจัมคารานในเมืองกอม

 

เหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะนี้ ทำให้ประเทศสำคัญในอ่าวเปอร์เชีย ไม่ว่าจะเป็นอิรัก อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย (ซึ่งเชื่อว่าอากาศยานของสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานทัพ) อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด 

 

  1. สุญญากาศทางอำนาจในตะวันออกกลาง

 

บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางลดลง และบทบาทของจีนเริ่มโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากพิจารณาจากความพยายามของทรัมป์ที่ต้องการลดขนาดกองกำลังของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และพยายามจับคู่พันธมิตรใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในภูมิภาค นั่นคือ การจับคู่ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ซึ่งแน่นอนว่า 2 ประเทศนี้คือคู่ขัดแย้งกันมาตลอดประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการก่อตั้งรัฐอิสราเอล แต่วันนี้ทั้งสองต้องจับมือกัน เพราะปัจจุบันสุญญากาศทางอำนาจที่เคยมีสหรัฐฯ ครอบอยู่กำลังลดบทบาทลง และสำหรับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสายตาของนักธุรกิจอย่างทรัมป์ นี่คือโอกาสในการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการทหารในตะวันออกกลาง และยังเป็นการบีบให้ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลต้องซื้ออาวุธมากยิ่งขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสทำกำไร

 

แต่ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาในมิติของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ สุญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้นนี้กลับจะยิ่งสร้างความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เพราะผู้เล่นรายใหม่ที่ขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง กลับกลายเป็นประเทศจีนที่จะเข้ามาครอบสุญญากาศในบริเวณนี้ 

 

หากพิจารณาจากแผนที่ จะเห็นได้ว่าตัวแทนของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง คือ ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลกำลังถูกปิดล้อม แม้ซาอุดีอาระเบียจะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ใจกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง และมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุด (วันละกว่า 10 ล้านบาร์เรล) แต่น้ำมันดิบส่วนใหญ่ก็อยู่ในบริเวณก้นอ่าวเปอร์เซีย โดยมี 2 ชาติที่เป็นพันธมิตรกันคือ อิรักและอิหร่าน (กำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 5 ล้านบาร์เรล) ปิดล้อมอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของอ่าว แน่นอนอิหร่านควบคุมช่องแคบฮอร์มุซไว้ได้ทางฟากตะวันออก ในขณะที่ฟากตะวันตกยังคุมอยู่โดยพันธมิตรของสหรัฐฯ นั่นคือโอมานและ UAE แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า พอพ้นปากอ่าวเปอร์เซียออกมา ท่าเรือขนาดใหญ่ในขณะนี้จีนเข้าไปพัฒนาแล้วคือ ท่าเรือ Gwadar ในประเทศปากีสถานที่ตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเปอร์เซีย และจะเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจ China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ดังนั้นทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเปอร์เซีย เราเห็นจีน อิหร่าน และปากีสถานที่เป็นพันธมิตรกัน

 

ด้านใต้ของซาอุดีอาระเบียคือ เยเมน ซึ่งซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลของเยเมน ในขณะที่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮูตีที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลเยเมน และมีสงครามความขัดแย้งกันมาต่อเนื่องยาวนาน เยเมนเองก็คุมอีกช่องแคบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ ช่องแคบ Bab-el-Mandeb ที่เชื่อมทะเลแดงกับมหาสมุทรอินเดีย โดยเยเมนคุมพื้นที่ทางตะวันออกของปากทางนี้ที่จะเชื่อมไปสู่คลองสุเอซและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก

 

หากอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะช่องแคบฮอร์มุซถูกปิดโดยอิหร่าน แผนสำรองของซาอุดีอาระเบียคือการส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันมายังทะเลแดง ซึ่งมีกำลังการขนส่งเพียง 2 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ผลิตวันละกว่า 10 ล้านบาร์เรล แต่ขณะนี้ที่ช่องแคบ Bab-el-Mandeb ซึ่งจะเชื่อมทะเลแดงสู่มหาสมุทรอินเดีย มีฐานทัพของจีนมาตั้งรออยู่แล้วที่ประเทศเล็กๆ ชื่อจิบูตี ซึ่งแต่เดิมมีเพียงฐานทัพของสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันจีนได้เข้าไปตั้งฐานทัพไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งต้องการจะเชื่อมเส้นทางการเดินเรือภายใต้โครงการ 21st Century Maritime Silk Road อีกด้วย 

 

เท่านั้นยังไม่พอ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative เรายังเห็นจีนสร้างระเบียงเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมากในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Northern Corridor Trade Route in Africa Linking The Maritime Port of Mombasa to Countries of The Great Lakes Region of Africa and Trans-Africa Highway (เชื่อมโยงทิศตะวันออกของทวีปแอฟริกา), North-South Passage Cairo-Capetown Pass-way (เชื่อมโยงเหนือสุดสู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา), Port Sudan-Ethiopia Railway Connectivity (เชื่อมโยงสู่ใจกลางของทวีปแอฟริกา) ดังนั้น ด้านตะวันตกของตะวันออกกลาง เราก็เห็นอิทธิพลของจีนขนาบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

 

มาทางด้านเหนือของอ่าวเปอร์เซีย เราเห็นอีกหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจที่พัฒนาโดยจีนในนาม China-Central Asia-West Asia Corridor ที่จะเชื่อมโยงจีนผ่านเอเชียกลางสู่ตุรกี เมืองท่าที่สำคัญที่สุดที่เป็นปากทางสู่ยุโรป และเป็นประเทศที่จีนจะเข้าไปพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงทั้งประเทศ ซึ่งถ้าคุณผู้อ่านจำได้ ประเทศตุรกีคือสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมโหด จามาล คาช็อกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The Washington Post ซึ่งการฆาตกรรมเกิดขึ้นในปี 2018 ณ สถานกงสุลของซาอุดีอาระเบียที่ตั้งอยู่ในประเทศตุรกี และมีส่วนพัวพันกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศซาอุดีอาระเบียอีกด้วย และด้วยความเป็นพันธมิตรระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯ ทำให้ภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ ก็ทวงถามสหรัฐฯ อยู่ตลอดเวลาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับราชวงศ์ของซาอุดีอาระเบียที่มีส่วนพัวพันกับการฆาตกรรมดังกล่าว

 

จะเห็นได้ว่า รอบทิศของอ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง ที่สหรัฐฯ พยายามลดบทบาทโดยการดึงซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลมาเป็นพันธมิตรและเป็นลูกค้าในอุตสาหกรรมอาวุธ กลับกลายเป็นสภาวะสุญญากาศที่จีนกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาปิดล้อม นั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในบริเวณนี้ที่เป็น 3 เส้า ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน-ตุรกี กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีไบเดน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising