ปี 2023 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบันอย่าง โจ ไบเดน เพราะเป็นอีกหนึ่งปีที่คะแนนนิยมของเขาได้ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ จากระดับ 40% ต้นๆ ลงมาที่ 30% ปลายๆ ซึ่งเป็นคะแนนนิยมที่ตกต่ำในระดับเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่ทรัมป์จะพ่ายแพ้ให้กับเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020
บทความนี้จะเจาะสาเหตุที่คะแนนนิยมของไบเดนตกต่ำลงมาจากต้นปี สิ่งที่ทำเนียบขาวของเขาได้ทำ และวิเคราะห์ว่าไบเดนจะพลิกสถานการณ์กอบกู้คะแนนนิยมของเขากลับมาก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 ได้หรือไม่
การเมืองเรื่องเงินเฟ้อ
นักวิเคราะห์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่าสาเหตุที่คะแนนนิยมของไบเดนตกต่ำลงในปี 2022 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2023 นั้น เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งนำไปสู่ภาวะข้าวของราคาแพง ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากมองว่าไบเดนเป็นเพียงชายอายุมากที่ไม่มีพละกำลังกายและสมองมากเพียงพอที่จะรับมือกับงานที่ยากที่สุดในโลกอย่างการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ซึ่งทางไบเดนและทีมงานก็รู้ดีว่าโอกาสในการชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สองอยู่ที่ผลงานทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และเขาก็ได้ผลักดันกฎหมายที่มีชื่อว่า Inflation Reduction Act ผ่านสภาในช่วงกลางปี 2022 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและของแพง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด (Pain Point)
จุดประสงค์หลักของกฎหมาย Inflation Reduction Act นั้นคือการพยายามลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง (เพื่อไปลดเงินเฟ้ออีกที) ผ่านการขึ้นภาษีนิติบุคคล การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ลดรายจ่ายของโครงการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุโดยรัฐบาล (Medicare) ด้วยการอนุญาตให้รัฐบาลเจรจาต่อรองขอลดราคายาจากบริษัทยาได้ รวมไปถึงการลงทุนกับพลังงานสะอาดเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นลดต่ำลงมาเรื่อยๆ ภายหลังการผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act และล่าสุดเงินเฟ้อของเดือนธันวาคมก็ได้หล่นลงมาอยู่ที่ 1.9% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางหรือ Fed ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งนั่นก็ทำให้ไบเดนพยายามเคลมเครดิตให้กับ Inflation Reduction Act ที่เขาพยายามผลักดันและตั้งชื่อเล่นให้กับนโยบายเศรษฐกิจของเขาว่า Bidenomics
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงนั้นเป็นผลงานของไบเดนหรือ Inflation Reduction Act หากแต่เกิดจากการที่เงินในระบบลดลงจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ต่างหาก
Bidenomics กับการเดิมพันของไบเดนในปี 2024
ไม่ว่าเงินเฟ้อจะลดลงด้วยเหตุใดก็ตาม นี่ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งของไบเดน เพราะนอกจากจะทำให้คะแนนนิยมของเขาดีขึ้นจากปัญหาข้าวยากหมากแพงที่ลดลงแล้ว มันยังทำให้ Fed มีอิสระมากขึ้นกับนโยบายทางการเงิน เพราะพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องพยายามขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อลงอีก (การขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงและอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น)
ซึ่งว่ากันตามจริง Fed เองก็กังวลมาตลอดในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาว่าการขึ้นดอกเบี้ยของพวกเขาในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาจะนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ Fed และไบเดนก็สามารถประคับประคองสภาพเศรษฐกิจให้ผ่านมาได้จน GDP ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาโตถึง 4.9% และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับต่ำที่ 3.7% (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในบรรดาประเทศ G7) รวมไปถึงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังจะทดสอบจุดสูงสุดตลอดกาล (All Time High)
แน่นอนว่าทำเนียบขาวของไบเดนได้พยายามขายตัวเลขนี้ให้กับชาวอเมริกันว่าเศรษฐกิจแบบไบเดนหรือ Bidenomics นั้นกำลังทำงานได้ผลดี และเขาก็ได้วางแผนไว้ว่าจะหาเสียงสู้กับทรัมป์ผ่านผลงานทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไบเดนเชื่อว่าพวกเขาสามารถคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัดแล้วและตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่าปีนี้เสียอีก (จากการที่ Fed ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก) และนั่นก็น่าจะทำให้คะแนนนิยมของเขาดีขึ้นกว่าในปี 2023 และทำให้โอกาสชนะเลือกตั้งในปี 2024 ก็ยังมี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในช่วงปีหน้าและปัจจัยอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี แผนการหาเสียงโดยเน้นผลงานด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เสี่ยง เพราะหากปัญหาเงินเฟ้อปะทุขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม (เช่น น้ำมันแพงหรือห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาอีก) ก็อาจจะทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจจะชะลอตัวลงอีก และนั่นก็แปลว่าการหาเสียงโดยการพูดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักจะกลายเป็นการเปิดแผลของตัวเองให้กว้างขึ้น
สงครามที่ยูเครนและที่ฉนวนกาซา
อีกหนึ่งนโยบายใหญ่ที่ไบเดนต้องตัดสินใจในรอบปีที่ผ่านมาคือนโยบายด้านการต่างประเทศ ทั้งสงครามยูเครนที่ต่อเนื่องมาจากปี 2022 และสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เพิ่งปะทุขึ้นมาในปีนี้
ในส่วนของยูเครนนั้น ไบเดนยังสามารถเกลี้ยกล่อมให้สภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากยังคงเห็นชอบกับแผนการช่วยเหลือยูเครนของเขาอยู่ ทำให้ยูเครนยังต้านทานการรุกรานของรัสเซียเอาไว้ได้ และ วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ยังไม่สามารถกลับมามีอำนาจเหนือยุโรปตะวันออกอย่างที่เขาวางแผนไว้ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม แต่อย่างไรก็ดี กระแสคัดค้านเรื่องการช่วยเหลือยูเครนนั้นก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ชาวรีพับลิกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทรัมป์ผู้ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับปูติน ก็คงจะเป็นที่น่าจับตามองว่าไบเดนจะยังส่งอาวุธและช่วยเหลือยูเครนทางเศรษฐกิจในปี 2024 ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงเป็นสถานการณ์ที่ลื่นไหลและเรายังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด รัฐบาลของไบเดนมีนโยบายเข้าข้างอิสราเอลเต็มตัว (ซึ่งเป็นจุดยืนปกติของสหรัฐอเมริกา) แต่นั่นก็ทำให้เกิดกระแสตีกลับภายในพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มองว่าชาวปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมมาหลายทศวรรษ
เกาะติด การเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ได้ที่ เว็บไซต์พิเศษ : เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 และ Facebook : THE STANDARD
ภาพ: Jacquelyn Martin – Pool / Getty Images / Samuel Corum / Getty Images