จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) เว็บไซต์หางานยอดนิยม รายงานดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทย พบมีคะแนนดัชนีความสุขอยู่ในลำดับที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ทำการสำรวจ พบสายงานบริหาร, HR และวิศวกรรม มีคะแนนความสุขมากสุด
วันนี้ (20 เม.ย.) จ๊อบส์ดีบีได้เปิดเผยรายงานสำรวจความสุขในการทำงานของคนไทยที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,108 คน พบพนักงานไทยมีคะแนนความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 4.55 คะแนน รั้งท้ายอยู่ในระดับที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ทำการสำรวจ (อินโดนีเซีย (5.27), เวียดนาม (5.19), ฟิลิปปินส์ (4.97), มาเลเซีย (4.65), ไทย, ฮ่องกง (4.45) และสิงคโปร์ (4.31)) ลดลงจากปี 2559 ที่เคยนำอยู่ในลำดับที่ 3 (4.74 คะแนน) และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้าจนเหลือเพียง 4.51 คะแนนเท่านั้น
จากการสำรวจยังพบว่า สายงานบริหารคือสายงานที่มีความสุขในการทำงานสูงสุดที่ 4.95 คะแนน ตามมาด้วยงานธุรการและทรัพยากรบุคคล (4.94 คะแนน), งานวิศวกรรม (4.86 คะแนน), งานไอที (4.74 คะแนน) และงานขนส่ง (4.73 คะแนน)
ขณะที่เมื่อจำแนกตามอายุงานจะพบว่า ‘เด็กจบใหม่’ หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 1 ปี มีความสุขในการทำงานน้อยสุด มีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสุขที่ 4.35 คะแนน ตามมาด้วยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทั่วไปที่มีอายุงานตั้งแต่ 1-4 ปี ที่มีคะแนนเฉลี่ย 4.45 คะแนน ตรงข้ามกับฝั่งผู้บริหารระดับสูงที่มีความสุขในการทำงานมากที่สุด ทำคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.19 คะแนน, บุคลากรระดับผู้จัดการและหัวหน้างานที่มีระดับความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 4.64 และ 4.54 ตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความสุขของพนักงานไทยลดลงอย่างน่าใจหายใน 3 ลำดับแรก จ๊อบส์ดีบีเผยว่า เป็นผลมาจากการที่พนักงานมองว่า 1. ทีมบริหารไม่มีประสิทธิภาพ 2. ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน และ 3. ไม่มีโอกาสฝึกอบรมและพัฒนาตัวเอง ซึ่งปัจจัยข้อที่ 2 และ 3 คือสาเหตุสำคัญสองลำดับแรกสุดที่ทำให้พนักงานจบใหม่ไม่มีความสุขกับการทำงาน โดยปัจจัยที่จะช่วยสร้างความสุขให้แก่พนักงานได้คือ สถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวกและทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กรและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
แต่เมื่อมองถึงทางออกระยะยาวของการทำให้ตัวเองมีความสุขในอีก 6 เดือนข้างหน้า พนักงานส่วนใหญ่ 37% ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนจะเลือกลาออกแล้วหางานใหม่แทน อีก 20% จะพอใจกับการทำงานในองค์กรเดิมมากขึ้นหากได้รับการปรับเงินเดือน มีเพียง 8% เท่านั้นที่จะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นหากได้รับการ ‘ยอมรับ’ ในผลงานหรือได้รับ ‘รางวัล’ จากการทำงาน
อ้างอิง:
- จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย)