×

กลุ่ม JMART เนื้อหอม! แบงก์รุมจีบร่วมทุนทำธุรกิจบริหารหนี้เสีย ผู้บริหารยอมรับอยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินบางราย

17.11.2021
  • LOADING...
JMART

ภายหลังปรากฏข่าวว่า บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในรูปแบบของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รับโอนหนี้เสียที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจาก KBANK มาบริหารในลักษณะของการติดตามหนี้สินนั้น 

 

ล่าสุด JMT ชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับพันธมิตร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด หากมีความคืบหน้า บริษัทจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การรายงานสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อต่อไป

 

ด้าน อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า รายละเอียดของดีลดังกล่าวจะต้องรอจนกว่าดีลจะเสร็จสิ้น ซึ่งภาพรวมของกลุ่ม JMART โดย JMT ได้สร้างธุรกิจติดตามหนี้มาเป็นเวลา 20 ปี ถือว่ามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ 

 

นอกจากนี้ยังมีพอร์ตหนี้เสียที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย ทำให้ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงิน ขณะที่สถานการณ์หนี้เสียของธนาคารพานิชย์ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโรคโควิดที่กระทบต่อศักยภาพการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้

 

“เรื่องดีลนี้เราต้องรอให้จบก่อน เราสร้างธุรกิจนี้มานาน 20 ปี เรามีพอร์ตใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงถือว่ามีความเชี่ยวชาญ ภาวะตอนนี้แบงก์มีหนี้มาก ก็ต้องรอดูพัฒนาการว่าจะจัดการหนี้ที่มีอยู่อย่างไร”

 

ปัจจุบัน JMT ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ 

 

  1. ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ ซึ่งเป็นการให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ประสงค์จะให้ติดตามและให้ลูกหนี้ของผู้ว่าจ้างชำระคืนหนี้

 

  1. ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินหรือบริษัทต่างๆ มาบริหารจัดการหนี้

 

  1. ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ

 

JMT มีผู้ถือหุ้นใหญ่  5 อันดับแรก (ณ วันที่ 8 พฤศจิการยน) ประกอบด้วย

 

  1. บมจ.เจมาร์ท จำนวน 607.2 ล้นหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 53.91%

 

  1. บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำนวน 52.09 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.63%

 

  1. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา จำนวน 34.33 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.05%

 

  1. นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี จำนวน 25 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.22%

 

  1. South East Asia UK (TYPE C) Nominees Limited จำนวน 20.4 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.81%

 

ด้านกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมของหนี้เสียในระบบเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นหนี้ที่แย่ลงกว่าในอดีต แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะใช้ความระมัดระวังอย่างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อก็ตาม

 

ส่งผลให้สถานะการเงินต้องพยายามบริหารจัดการด้วยการขายหนี้ออกให้กับบริษัทรับบริหารหนี้ เช่น JMT ซึ่งมีศักยภาพการติดตามหนี้มากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ดีลการร่วมทุนครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายมากน้อยแค่ไหนยังต้องรอพิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเงื่อนไข เช่น การกำหนดให้บริษัทที่ร่วมทุนกับ JMT ดังกล่าวซื้อหนี้ได้จากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตรเพียงรายเดียวหรือไม่ หรือเปิดกว้างให้สามารถประมูลซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ JMT  ได้ประโยชน์จากการมีประเภทของหนี้เสียและคุณภาพหนี้ที่หลากหลายมากกว่า

 

ส่วนราคาหุ้น JMT เปิดการซื้อขายในเช้าวันนี้ (17 พฤศจิกายน) ที่ระดับ 57.75 บาท จากนั้นไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องแตะราคาสูงสุดที่ 62.50 บาท คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.61% โดยนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรข่าวที่บริษัทเตรียมบรรลุข้อตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ KBANK เพื่อทำธุรกิจ AMC รับโอนหนี้เสียยกล็อต 

 

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในกลุ่ม JMART ก็ปรับขึ้นถ้วนหน้า ดังนี้ 

  • JMART +2.21%
  • J +5.13%
  • SINGER +1.58% 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X