×

ผู้ถือหุ้นกู้ JKN รอดแล้ว? ThaiBMA จับมือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จัดประชุมหาทางช่วย ขณะที่ บล.ดาโอ พร้อมหนุนยื่นค้านแผนฟื้นฟูกิจการ

21.11.2023
  • LOADING...
JKN ThaiBMA

ThaiBMA จับมือโบรกเกอร์ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ JKN จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ถือหุ้นกู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และสิทธิหน้าที่ของผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

 

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ออกแถลงการณ์ผลการประชุมหารือระหว่าง ThaiBMA กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดการการจำหน่ายของหุ้นกู้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป JKN เกี่ยวกับกรณีที่บริษัท JKN เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้ประชุมร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 2 ราย และผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 15 รายของ JKN จำนวน 7 รุ่น มูลค่ารวม 3,212.15 ล้านบาท  

 

โดยที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 2 รายจะร่วมกันดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ JKN ภายในต้นเดือนธันวาคม 2566 เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ถือหุ้นกู้เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และสิทธิหน้าที่ของผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงแนวทางในการดูแลผู้ถือหุ้นในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในการกระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

 

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ประการใด สมาคมฯ จะแจ้งความคืบหน้าต่อไป

 

บล.ดาโอ พร้อมช่วยผู้ถือหุ้นกู้ JKN ยื่นคัดค้านฟื้นฟูกิจการ

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดาโอ (ประเทศไทย) ชี้แจงว่า ปัจจุบัน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) และ บล.เอเซีย พลัส ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายโดย บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป อยู่ระหว่างหารือดำเนินการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่นในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ JKN รายอื่นๆ 

 

โดยทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสองรายจะร่วมกันเชิญที่ปรึกษากฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านคดีการฟื้นฟูกิจการมาบรรยายให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ผู้ถือหุ้นกู้ทุกท่าน เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นกู้ในฐานะเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ เช่น การยื่นคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และการขอรับชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นกู้ สิทธิของลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ และสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในคดีฟื้นฟูกิจการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ทุกท่านในฐานะเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ

 

บล.ดาโอ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ขอเรียนผู้ถือหุ้นกู้ว่า ตามข้อกฎหมาย บล.ดาโอ ในนามบริษัทเองไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้องคัดค้านแทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวงได้ แต่ บล.ดาโอ จะประสานงานจัดหาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญด้านคดีฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้แต่ละรายที่มีความประสงค์จะยื่นคำคัดค้านฟื้นฟูกิจการมอบอำนาจให้กับทนายความ เพื่อไปยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

 

ทั้งนี้ บล.ดาโอ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นกู้และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยหากมีความคืบหน้าประการใด บล.ดาโอ จะแจ้งให้ท่านผู้ถือหุ้นกู้ทราบอย่างต่อเนื่อง และหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดวันที่จัดประชุม

ผู้ถือหุ้นกู้ได้แล้ว บล.ดาโอ จะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังผู้ถือหุ้นกู้ทางไปรษณีย์อีกครั้ง

 

ปัจจุบัน บล.ดาโอ ยังไม่มีการส่งหนังสือมอบอำนาจหรือมอบหมายให้พนักงานของ บล.ดาโอ ติดต่อท่านผู้ถือหุ้นกู้เป็นการส่วนตัวเพื่อเรียกรับเงินสำหรับดำเนินการใดๆ ดังนั้น ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกท่านโปรดระมัดระวังบุคคลใดๆ ที่แอบอ้างชื่อของ บล.ดาโอ ไปดำเนินการ หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยโปรดติดต่อผู้แนะนำการลงทุนของท่าน หรือ DAOL Contact Center ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 2351 1800 กด 1 กด 0

 

แอน จักรพงษ์ แจงเหตุไม่เชิญบอร์ดเข้าประชุมวาระขอยื่นฟื้นฟูกิจการ

 

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรณีกรรมการ (บอร์ด) ไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อลงมติขอยื่นฟื้นฟูกิจการว่า บริษัทไม่ได้ส่งหนังสือเชิญประชุมให้กรรมการเนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ดังนี้

          

  1. สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่บริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2563 (JKN239A) ซึ่งถึงกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 กันยายน 2566 และภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ผ่อนผันการผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในวันครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน (Call Default)

          

  1. จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ตามข้อ 1. ทำให้บริษัทผิดนัดในหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่ออกและเสนอขายโดยบริษัททุกรุ่นในทันที ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดการที่จะนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อขอแก้ไขเหตุผิดนัดดังกล่าว

          

  1. ต่อมาบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อจัดทำแผนการชำระหนี้หุ้นกู้และนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดยทำการวิเคราะห์แนวทางการชำระหนี้ของบริษัทจากข้อมูลต่างๆ ของบริษัทแล้วได้ข้อสรุปว่า ในการชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัทนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จำหน่ายหุ้นกู้ทราบ 

 

โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าผู้ถือหุ้นกู้อาจจะไม่อนุมัติให้ผ่อนผันเหตุผิดนัดดังกล่าวได้ เนื่องจากระยะเวลาการชำระหนี้นั้นมีระยะเวลายาวนานเกินไป จึงเสนอให้บริษัทปรับลดระยะเวลาแผนการชำระหนี้ให้สั้นลงกว่าเดิม บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ภายในระยะเวลาที่สั้นลงกว่านี้ได้ เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้อื่นๆ นอกเหนือจากหุ้นกู้อีกด้วย

 

  1. ด้วยเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทจึงมีความจำเป็นรีบด่วน เนื่องจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (CEO & MD) จะต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อปฏิบัติภารกิจการจัดงานประกวด Miss Universe 2023 และเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่างๆ หลายประเทศ เพื่อเป็นการหารายได้กลับเข้าสู่บริษัท อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินธุรกิจที่ได้วางไว้ ที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท 

 

ประกอบกับเลขานุการของบริษัทมีภารกิจสำคัญหลายอย่างที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในทันที อันสืบเนื่องมาจากเหตุผิดนัดชำระหุ้นกู้ตามข้อ 1. ทำให้บริษัทไม่สามารถออกหนังสือเชิญประชุมเป็นหนังสือได้ แต่ได้ดำเนินการเรียกประชุมโดยโทรศัพท์ แจ้งกรรมการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทข้อที่ 27 วรรคหก ซึ่งได้กำหนดไว้ว่า “ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วน เพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด และกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้”

 

แต่ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (CEO & MD) ได้ดำเนินการติดต่อไปยังคณะกรรมการของบริษัทโดยตรงด้วยวิธีการทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแผนสำรองหากการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ไม่เห็นชอบกับแผนการชำระหนี้หุ้นกู้ที่จัดทำโดยที่ปรึกษาทางการเงิน จะทำให้หนี้หุ้นกู้ทุกรุ่นถึงกำหนดชำระโดยพลัน ดังนั้น บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยกรรมการของ

บริษัทไม่ได้คัดค้านการยื่นฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

          

  1. ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (CEO & MD) ได้โทรศัพท์อธิบายความจำเป็นรีบด่วนของการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางกับกรรมการบางท่านอีกครั้งจนเป็นที่เข้าใจ

          

  1. ต่อมาในวันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน 2566 ได้มีกรรมการรวม 5 ท่านยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการ โดยมีรายละเอียดตามหนังสือที่ JKNGB-010-11/2566           

          

บริษัทระบุว่า การติดต่อกรรมการทุกท่านผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับความจำเป็นในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เป็นไปด้วยความจำเป็นรีบด่วน เพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทโดยสุจริต ทั้งนี้ กรรมการทุกท่านที่บริษัทได้ติดต่อไปนั้นก็ไม่ได้มีผู้ใดคัดค้านการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแต่อย่างใด 

          

นอกเหนือจากนั้นแล้ว การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้กระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซึ่งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ได้บัญญัติไว้ว่า “เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้ในหมวดนี้เป็นอย่างอื่น ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการบริษัทและบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน” ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 820 ได้บัญญัติไว้ว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งตัวแทน” ดังนั้น การกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย 

          

ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากมติที่ประชุมคณะกรรมการแต่อย่างใด และบริษัทขอเรียนต่อไปว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางจะช่วยให้บริษัทสามารถประกอบกิจการไปพร้อมกับการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทได้ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising