จากกรณีที่วานนี้ (5 มกราคม) จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท
ศักดิ์สยามได้ตอบคำถามดังกล่าวโดยระบุตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยที่ให้บริการประชาชนทุกโครงการล้วนได้รับพระราชทานชื่อที่เป็นมงคลนาม การเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร’ จึงไม่ต่างจากการเปลี่ยนชื่อสนามบินหนองงูเห่าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ
ทำให้ในเวลาต่อมา ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอาจารย์ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยมีรายละเอียดระบุว่า ‘ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิมคือ ‘สนามบินหนองงูเห่า’ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 ก่อนการเปิดให้บริการในฐานะสนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549
ธงทองระบุว่า ตามความทรงจำของตน อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงไม่เคยมีป้ายชื่อท่าอากาศยานหนองงูเห่าติดตั้งมาก่อนเลย เมื่อสร้างอาคารสำเร็จเรียบร้อยก็ใช้นามพระราชทาน ‘ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ประดับติดตั้งอาคารมาตั้งแต่ต้น
นามพระราชทานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานมาหกปีเต็ม ล่วงหน้าก่อนท่าอากาศยานดังกล่าวเปิดให้บริการ
“ผมเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ และทันเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่ว่านี้ จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ เผื่อมีใครคิดจะเปรียบเทียบว่ากรณีเหมือนกันหรือไม่ เหมือนกันกับเรื่องราวที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการไตร่ตรองได้” ธงทองระบุทิ้งท้าย