ในที่สุด ราสมุส ฮอยลุนด์ ก็ทำประตูแรกในพรีเมียร์ลีกให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้แล้ว (พร้อมเสียงหัวเราะหึหึแบบคนอารมณ์แจ่มใสของพี่จอม บอ.บู๋) และที่สำคัญเป็นประตูชัยในเกมสุดดราม่าเหนือแอสตัน วิลลา 3-2 ในวันบ็อกซิ่งเดย์
เป็นชัยชนะที่ไม่ต่างอะไรจาก ‘ของขวัญ’ ชิ้นใหญ่ที่ซานตาคลอสปีนลงปล่องไฟแห่งนรกมามอบให้เหล่าสาวกปีศาจแดงทั้งผอง เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้การบริหารของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่ 2 ของสโมสรที่ได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ
แต่ในวันดีๆ แบบนี้ก็มีเรื่องชวนว้าวุ่นใจของเถ้าแก่ (น้อย) คนใหม่ของสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ เพราะท่ามกลางปัญหาสารพันที่ต้องจัดการ เรื่องที่ดูเหมือนจะตัดสินใจยากที่สุดคือเรื่องการปรับปรุงสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด
เมื่อ ‘โรงละครแห่งความฝัน’ ควรถูกทุบทิ้ง! คือคำแนะนำจากสถาปนิกผู้ดูแลการคืนชีพให้แก่สนามฟุตบอลระดับตำนานที่มีอายุยาวนานกว่า 113 ปี
มันถึงขั้นต้องทำแบบนั้นจริงหรือไม่? แล้วเซอร์จิม แรตคลิฟฟ์จะทำอย่างไร?
หนึ่งในเรื่องตลกขมขื่นสำหรับ Red Army คือเรื่องที่สโมสรของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก มีเงินรายได้มากมายมหาศาลในแต่ละปี แต่หลังคาสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดผุ
ฝนเทลงมาที น้ำก็หยดไหลลงมาใส่หัวแฟนฟุตบอลที
ความผุพังของสนามฟุตบอลที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘The Theatre of Dreams’ หรือ ‘โรงละครแห่งความฝัน’ เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนของยุคสมัยที่ตกต่ำภายใต้การบริหารของครอบครัวเกลเซอร์ ที่ไม่ได้พัฒนาหรือปรับปรุงอะไรเลยนับจากเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรเมื่อปี 2005
18 ปีที่ผ่านมา โลกเขาก้าวไปข้างหน้าตลอด แต่แมนฯ ยูไนเต็ดอยู่ที่เดิม โอลด์แทรฟฟอร์ดที่เคยเป็นหนึ่งในสนามที่สวยงามและทันสมัยมากที่สุดของโลกกำลังกลายสภาพเป็นวัตถุโบราณ และเรื่องนี้ถือเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ของทีมปีศาจแดงเลยทีเดียว
ให้ความยุติธรรมกับครอบครัวเกลเซอร์ พวกเขาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากแฟนๆ ตั้งแต่เมื่อ 18 เดือนก่อน หรือในช่วงกลางปี 2022 เพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางในการปรับปรุงสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด
โดยบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้เปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงคือ Populous ซึ่งเป็นเจ้าพ่อวงการสถาปัตยกรรมระดับโลก มีผลงานที่ระบือลั่นคือการเนรมิตสนามท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม รังเหย้าใหม่ของทีมไก่เดือยทอง ที่จะพาทีมก้าวไปข้างหน้าในโลกของอนาคตได้ดีกว่ารังเก่าอย่างไวต์ฮาร์ตเลน ที่ควรจะเหลือไว้แค่ความรักและความทรงจำ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา Populous ได้ดำเนินการเกี่ยวกับแผนการปรับปรุงโอลด์แทรฟฟอร์ด และมีข้อเสนอด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ
- ปรับปรุงสนามในสเกลเล็ก
- ขยายอัฒจันทร์ฝั่งใต้และปรับปรุงสนามทั้งหมด
- สร้างสนามแห่งใหม่ไปเลย
How-to-ทิ้ง-โอลด์แทรฟฟอร์ด
ในตัวเลือกที่มีการเสนอแนะจาก Populous ข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการทุบสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดทิ้ง
ข้อเสนอนี้แม้จะฟังดูทำร้ายจิตใจอยู่บ้าง เพราะสนามแห่งนี้คือชีวิตและจิตวิญญาณของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ผ่านเรื่องราวช่วงเวลาทั้งดีและร้ายมายาวนานกว่า 113 ปี แต่ในมุมมองของนักออกแบบแล้ว โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นสนามฟุตบอลที่ไม่มีอนาคตอีกแล้ว
ในภาษาที่ Populous ใช้คือ “มันเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของวงจรชีวิตแล้ว”
คริส ลี ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า “ภายในสโมสรก็รู้กันดีว่ามีสิ่งที่จะต้องจัดการ” และเคยเตือนผู้บริหารไปแล้วว่า แมนฯ ยูไนเต็ดไม่สามารถเพิกเฉยปล่อยให้โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นไปแบบนี้ เพราะมันกำลังจะนำไปสู่จุดจบของสนาม ที่สำคัญที่สุดคือมันจะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดสูญเสียขีดความสามารถที่จะไล่ตามสนามของทีมคู่แข่ง
โอลด์แทรฟฟอร์ดไม่ได้อยู่ในสถานะ ‘ผู้นำ’ ของวงการในตอนนี้ พวกเขาอยู่ในฐานะ ‘ผู้ตาม’
แนวทางที่ดีที่สุดคือการสร้างสนามแห่งใหม่ที่เป็นสนามระดับโลกอย่างแท้จริงแล้วตัดใจทุบโอลด์แทรฟฟอร์ดทิ้งเสีย เพราะการปรับปรุงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต
ฟังแบบนี้จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็เรื่องใหญ่จริงแหละ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แมนฯ ยูไนเต็ดมีความได้เปรียบอยู่มาก เพราะมีมรดกตกทอดจากการที่สโมสรมีที่ดินจำนวนมากในครอบครอง โดยที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของที่ดินผืนนี้เท่านั้น
นั่นหมายถึงพวกเขาสามารถสร้างสนามแห่งใหม่โดยที่ยังใช้งานโอลด์แทรฟฟอร์ดได้เหมือนเดิม
เป็นแนวทางเดียวกับที่อาร์เซนอลเคยทำในการสร้างสนามแห่งใหม่ที่แอชเบอร์ตันโกรฟไปด้วย แต่ก็ยังใช้สนามไฮบิวรีไปตามเดิมจนกระทั่งสนามใหม่เสร็จสิ้น ซึ่งง่ายกว่าโจทย์ที่ Populous เคยสร้างสนามใหม่ของสเปอร์สที่มีด้านหนึ่งติดกับสนามไวต์ฮาร์ตเลนเดิม
และง่ายกว่าคู่แข่งตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูลที่สนามแอนฟิลด์อยู่ในย่านชุมชน ทำอะไรก็ติดขัดยากไปหมด การจะปรับปรุงอัฒจันทร์ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก่อสร้างจากภายนอกแล้วรอที่จะประกอบเข้าไปใหม่
ดังนั้นหากเลือกแนวทางนี้ แมนฯ ยูไนเต็ดสามารถสร้างสนามใหม่ได้โดยที่โอลด์แทรฟฟอร์ดยังใช้งานไปเหมือนเดิม สโมสรจะยังหารายได้จากวันแข่งขันได้เหมือนเดิม ซึ่งในฤดูกาลที่แล้วทำเงินรายได้ 136.4 ล้านปอนด์ เฉพาะจากการจำหน่ายบัตรเข้าชม หรือคิดเป็นเงิน 4.1 ล้านปอนด์ต่อเกม
ถือว่าดีกว่าเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนา ที่ต้องระเห็จไปใช้สนามอื่นแทนในระหว่างการทุบและสร้างซานติเอโก เบอร์นาบิวกับคัมป์นูแห่งใหม่บนเนื้อที่เดิม จนทำให้ขาดรายได้มหาศาลเป็นระยะเวลานาน
ที่สำคัญการสร้างสนามใหม่คือการเปิดพื้นที่จินตนาการให้สามารถเนรมิตสนามฟุตบอลที่สุดยอดที่สุดได้โดยไม่ติดขัดเรื่องโครงสร้างของสนามเดิม
ฟังแล้วดูดีมากๆ แต่มีปัญหาใหญ่อยู่เรื่องเดียว!
ใครจะเป็นคนออกเงิน?
ในข้อเสนอแนะของ Populous ที่เสนอต่อฝ่ายบริหารของแมนฯ ยูไนเต็ดนั้นใช้งบประมาณแตกต่างกันออกไป
การปรับปรุงสนามแบบย่อมๆ ใช้เงินจำนวนหนึ่ง ขณะที่การปรับปรุงสนามทั้งหมดพร้อมการขยายอัฒจันทร์เป็น 90,000 ที่นั่ง คาดว่าจะใช้เงินมากถึง 800 ล้านปอนด์
แล้วการสร้างสนามใหม่?
มีการคำนวณเอาไว้ว่าหากสั่งก่อสร้างวันนี้งบประมาณจะอยู่ที่ 2 พันล้านปอนด์ หรือราว 8.7 หมื่นล้านบาท (ตกเก้าอี้แป๊บ)
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะงบประมาณค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือใครจะเป็นคนออกเงิน?
สำหรับเซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ผู้นำของ INEOS Sport ที่เข้ามาดูแลกิจการสโมสรให้นั้น มีรายงานว่าจะช่วยควักเงินจำนวน 158 ล้านปอนด์ และจะจ่ายเพิ่มให้อีก 79 ล้านปอนด์ภายในปีหน้า ซึ่งเป็นเงินแค่ก้อนเล็กเท่านั้น
แล้วครอบครัวเกลเซอร์? Telegraph Sport รายงานว่า พวกเขายินดีที่จะโปะให้อีก 500 ล้านปอนด์
แต่นั่นก็ยังไม่ถึง 800 ล้านปอนด์ สำหรับออปชันของการปรับปรุงสนามและเพิ่มความจุอัฒจันทร์ด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการสร้างสนามแห่งใหม่เลยถ้าจะควักเงินกันเท่านี้
มองตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นไปได้คือการปรับปรุงสนามและเพิ่มความจุอัฒจันทร์ที่รวมเงินกันระหว่างแรตคลิฟฟ์กับเกลเซอร์แล้วขาดเหลือไม่มาก เพียงแต่ท้ายที่สุดแล้วจะเลือกทางไหนก็ขึ้นอยู่กับสองฝ่ายหารือกัน
เพราะในบรรดาสิ่งที่ต้องทำทั้งหมดนั้น เรื่องนี้คือเรื่องที่ตัดสินใจยากที่สุดแล้ว
อ้างอิง: