×

‘ตลาดจิวเวลรี’ ยังคงสดใส จัดพอร์ตอย่างไรให้ได้กำไรในอนาคต

24.08.2024
  • LOADING...

แม้ภาพรวมของการลงทุนในสินค้าฟุ่มเฟือยจะยังดูซบเซา แต่ของสะสมสุดคลาสสิกอย่างเครื่องประดับยังคงทำราคาได้ดี เพราะหากดูตามรายงานล่าสุดของ Knight Frank Luxury Investment Index (KFLII) ที่ติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุนในของสะสม 10 ประเภท พบว่าเครื่องประดับยังคงโดดเด่นในฐานะสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของตาราง และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 8% ในปี 2023

 

สำหรับประเภทที่โดดเด่นคืออัญมณีสีที่มีสไตล์ โดยเฉพาะเครื่องประดับในคอลเล็กชันของคนดังอย่างเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว แหวนของ Tupac Shakur ได้รับการประมูลไปด้วยราคา 1 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 35 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมาณการไว้ 3 เท่า และครองสถิติของที่ระลึกจากวงการฮิปฮอปที่แพงที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมป๊อปมีอิทธิพลต่อการลงทุนจากความหลงใหลที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเครื่องประดับ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

ผลสำรวจของ Bank of America พบว่า ชาวอเมริกันรุ่นใหม่ที่มีรายได้อย่างน้อย 3 ล้านดอลลาร์ เริ่มหันหลังให้กับสินทรัพย์แบบดั้งเดิมแล้วหันไปลงทุนในสินทรัพย์แบบใหม่ โดย 72% ของผู้ที่มีอายุ 43 ปีหรือน้อยกว่านั้น ‘ไม่มั่นใจ’ เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์แบบดั้งเดิมเช่นหุ้นและพันธบัตรเพียงอย่างเดียว ซึ่ง 94% ของกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนียลสนใจของสะสมประเภทนาฬิกา เครื่องประดับ ไวน์ รองเท้าผ้าใบ และงานศิลปะ

 

โดยเครื่องประดับเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นในฐานะตาข่ายนิรภัยเมื่อค่าเงินผันผวนหรือตลาดหุ้นดิ่งลงซบเซา ด้วยสภาพคล่องที่มีมากกว่าของสะสมชนิดอื่นจึงมักถูกใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่เศรษฐกิจซบเซา ความต้องการเครื่องประดับโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนออกมาผ่านยอดขายเครื่องประดับทั่วโลกในปี 2023 ที่เติบโตขึ้น 5-6% ตามผลการศึกษาตลาดสินค้าหรูหราทั่วโลกประจำปีของ Bain-Altagamma

 

ปัจจุบันแม้สหรัฐอเมริกาจะมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับเพชรมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่จากการวิจัยของ De Beers พบว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าหรูหรามากที่สุด โดยภูมิภาคนี้ถือสัดส่วนยอดขายสูงสุดของบริษัทชั้นนำอย่าง Richemont (Cartier, Van Cleef & Arpels) และ LVMH (Bulgari, Tiffany & Co.) เมื่อวัดจากรายได้รวมในทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์โดยร้านจิวเวลรีของ Richemont ยอดขายทางฝั่งเอเชียคิดเป็น 40% ของยอดขายประจำปี อเมริกา 21% ยุโรป 20% ญี่ปุ่น 10% ตะวันออกกลางและแอฟริกา 9%

 

อย่างไรก็ตามแม้ตลาดยังดูสดใส แต่อัญมณีทุกชนิดจะเพิ่มมูลค่าได้ก็ขึ้นอยู่ที่การจัดพอร์ตการลงทุน และเลือกชิ้นที่ใช่เพื่อผลกำไรในอนาคตร่วมด้วย

 


 

อัญมณีสีธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง

 

 

แม้จะมาจากประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอัญมณีคุณภาพอย่างทับทิมจากเมียนมา มรกตจากโคลอมเบีย หรือแซฟไฟร์จากแคว้นแคชเมียร์ในอินเดีย แต่อัญมณีที่ทำราคาได้สูงจริงๆ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะการเป็นอัญมณีสีจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งเพื่อลดข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้หายากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีราคาสูงกว่าอัญมณีทั่วไปราวๆ 40% เลยทีเดียว

 

เพชร

 

 

เพชรสียังคงทำราคาได้สูงในตลาดนักสะสม โดยเฉพาะเพชรสีชมพูกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ผลิตหลักของโลกที่เหมืองอาร์ไกล์ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียหมดลง และปิดตัวในปี 2020 ขณะเดียวกันเพชรใสก็ยังเป็นการลงทุนยอดนิยม ยิ่งเป็นเพชรน้ำงามจากเหมืองเก่าที่ปิดตัวลงไปแล้วเช่นเหมือง Golconda ของอินเดีย ซึ่งปิดตัวไปในศตวรรษที่ 18 (ปัจจุบันผู้ผลิตเพชรรายหลักของโลกคือ บอตสวานา, แอฟริกาใต้, นามิเบีย, แคนาดา และรัสเซีย) นอกจากนี้เทรนด์ที่น่าสนใจคือการสะสมเพชรวินเทจที่เทคนิคการเจียระไนให้เหลี่ยมมุมน้อยกว่าเพชรในปัจจุบัน ก็เป็นเสน่ห์ที่นักสะสมรุ่นใหม่มองหา ซึ่งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคือเลือกสะสมเพชรน้ำดีๆ แม้จะเม็ดไม่ใหญ่แต่ก็ราคาดีกว่าเพชรขนาดใหญ่กว่าแต่มีคุณภาพน้อยกว่า

 

ตรวจสอบแหล่งที่มา

 

 

เครื่องประดับที่มาจากแบรนด์ชั้นนำยิ่งทำราคาได้ดี ไม่ว่าจะเป็น Cartier, Van Cleef & Arpels, Boucheron ฯลฯ ยังคงเป็นสินค้ายอดนิยม นอกจากนี้หากเป็นงานดีไซน์จากศิลปินชื่อดัง หรือคอลเล็กชันเครื่องประดับของคนดังที่มีเรื่องราวน่าสนใจยิ่งเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก

 

ไข่มุกธรรมชาติ

 

 

ปัจจุบันไข่มุกส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยง ซึ่งไข่มุกธรรมชาติจริงๆ จากแหล่งสำคัญๆ ของโลกหมดไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่แล้ว จึงกลายเป็นของหายากน่าสะสม ส่วนอีกประเภทที่มักเป็นข่าวฮือฮาบ่อยๆ คือการค้นพบไข่มุก Melo ซึ่งพบได้ในหอยธรรมชาติแถบตอนล่างของจีนและทะเลอันดามัน มีสีส้มสดใสและพื้นผิวมันเงา มีลวดลายคล้ายเปลวไฟ ราคามีตั้งแต่ 20,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 700,000 บาท สำหรับขนาดย่อมๆ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่และลวดลายสวยงาม ราคาอาจพุ่งไปถึง 1 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 35 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

สไตล์ที่แตกต่าง

 

 

นอกจากการซื้อเครื่องประดับจากแบรนด์ชั้นนำเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้ว ผลงานของดีไซเนอร์รายเล็ก แต่มีผลงานโดดเด่นและผลิตออกมาเพียงไม่กี่ชิ้นต่อปีก็เป็นของที่น่าสะสม อย่างเช่นผลงานของ Ana Khouri ที่จะทำผลงานออกมาประมาณ 35 ชิ้นต่อปี โดยมีสไตล์โดดเด่นคือใช้อัญมณีไปจับคู่กับวัสดุเรียบง่าย หรือผลงานของ Cora Sheibani ที่ใช้อะลูมิเนียมมาจับคู่กับเพชรพลอย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X