×

รู้จัก เจเรมี ฮันต์ อดีตผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ สู่ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ท่ามกลางความท้าทาย Perfect Storm

15.10.2022
  • LOADING...
เจเรมี ฮันต์

รู้จัก เจเรมี ฮันต์ อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร สู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 4 ในรอบหลายเดือน ขวัญใจสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม และผู้ที่ ลิซ ทรัสส์ คาดว่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเก้าอี้นายกฯ ของเธอได้ ท่ามกลางการเรียกร้องให้ทรัสส์ลงจากตำแหน่ง หลังจากเป็นผู้นำประเทศได้ไม่ถึง 2 เดือน

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ควาซี ควาร์เต็ง นับเป็นรัฐมนตรีคลังรายแรกๆ ที่ต้องเซ่นสังเวยการดำเนินนโยบายผิดพลาด ท่ามกลางมรสุม Perfect Storm ถือเป็นการตอกย้ำคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ว่า การดำเนินนโยบายการคลังในยุคนี้ควรสอดรับกับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ที่กำลังมุ่งลดปริมาณเงินในระบบเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม) ควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่เขาประกาศมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายน จนสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงิน ส่งผลให้เงินปอนด์ดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เทียบดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการคลังของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ควาร์เต็งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอังกฤษได้เพียง 38 วัน นับเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

 

รู้จัก ‘เจเรมี ฮันต์’ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด

 

เจเรมี ฮันต์ ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ยาวนานคนหนึ่ง และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญหลายครั้ง เริ่มจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในช่วงปี 2010-2012 ภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน

 

ก่อนจะกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกฯ 2 คน ได้แก่ เดวิด คาเมรอน และ เทเรซา เมย์ ก่อนที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงปี 2018-2019

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการลาออกของเมย์ ฮันต์ประสบความล้มเหลวในการรับเลือกเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม โดยพ่ายแพ้ให้แก่ บอริส จอห์นสัน ในปี 2019 จากนั้นฮันต์จึงลดบทบาทของตัวเองไปพักหนึ่ง

 

โดยหลังความพ่ายแพ้ฮันต์เคยกล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าสำหรับผม โอกาสเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และผมมีมันแล้วในปี 2019” คำพูดดังกล่าวดูเหมือนว่าฮันต์จะยอมรับว่าความทะเยอทะยานของเขาที่จะก้าวไปสู่จุดสูงสุดของการเมืองได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฮันต์ยังสนับสนุน ริชิ ซูนัค ในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรค และเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษกับทรัสส์ จุดนี้ทำให้ฮันต์ถูกมองข้ามอีกครั้ง ในยามที่ทรัสส์คัดเลือกทีมรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากผู้ใกล้ชิดและผู้ที่สนับสนุนเธอ

 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทรัสส์ได้เลือกฮันต์ให้เป็นรัฐมนตรีคลังคนที่ 4 ของสหราชอาณาจักรภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน โดยความรับผิดชอบหลักของฮันต์ตอนนี้คงจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตลาด หลังจากแผนเศรษฐกิจของควาร์เต็งก่อนหน้านี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาด

 

การแต่งตั้งฮันต์ของทรัสส์ครั้งนี้ยังถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะลดแรงกดดันภายในพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งมีหลายคนได้แสดงความไม่พอใจกับผลงานของเธออย่างมาก ขณะที่ผลโพลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน มีคะแนนนำพรรคอนุรักษนิยมไป 30 คะแนนแล้ว

 

สมาชิกสภา ‘รักและเคารพ?’

 

เบอร์นาร์ด เจนกิน ส.ส. จากพรรคอนุรักษนิยม กล่าวบนทวิตเตอร์ว่า “การแต่งตั้งฮันต์เป็นนายกรัฐมนตรีดูจะเป็นทางเลือกที่ฉลาด เพราะเขาได้รับความไว้วางใจและเป็นที่เคารพทั่วทั้งรัฐสภา แต่ตอนนี้เราต้องใจเย็น การพูดถึงการถอดนายกฯ หรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จะไม่ทำให้ตลาดการเงินสงบลง”

 

ขณะที่ทรัสส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ฮันต์เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาที่มีประสบการณ์และเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวางที่สุด และฮันต์จะแบ่งปันความเชื่อมั่นและความทะเยอทะยานของดิฉันที่มีต่อประเทศของเรา”

 

แผนหั่นภาษีจะอยู่ต่อไปหรือไม่?

 

ฮันต์มีประวัติในการสนับสนุนนโยบายลดหย่อนภาษี และทรัสส์ก็กล่าวว่า เธอมองว่าฮันต์เป็นคนที่มีเป้าหมายเดียวกันกับเธอในการสร้างเศรษฐกิจที่มีการเติบโตสูงและเก็บภาษีต่ำ

 

คำพูดดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ทรัสส์ประกาศว่าเธอจะเก็บภาษีนิติบุคคลของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นตามแผนที่วางไว้ แต่ยกเลิกแผนการที่จะเก็บภาษีที่อัตรา 19% หลังจากได้รับการตอบสนองของตลาดในเชิงลบ

 

โดยย้อนกลับไปขณะที่ฮันต์ชิงตำแหน่งผู้นำพรรค ฮันต์เคยให้คำมั่นที่จะลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอังกฤษที่ซบเซา และยกเลิกการเก็บภาษีในอัตราธุรกิจ (Business Rates)

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทรัสส์กล่าวว่า เธอจะก้าวไปข้างหน้าด้วยการลดภาษีเงินได้ แต่ฮันต์กล่าวว่า แผนการดังกล่าวยังรอได้ นอกจากนี้ เขายังสัญญาว่าจะเดินหน้าแผนการขึ้นภาษีเงินเดือน เพื่อเป็นทุนการใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทรัสส์จะยกเลิก

 

ด้านนักวิจารณ์หลายคนมองว่าฮันต์คงจะยังประสบปัญหาเดียวกันกับ รมว.คลังคนก่อน นั่นคือ วิธีสร้างสมดุลระหว่างการลดภาษีหลายพันล้านปอนด์ไปพร้อมๆ กับการรักษาการใช้จ่ายของภาครัฐ

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool ว่า ควาร์เต็งนับเป็นรัฐมนตรีคลังรายแรกๆ ที่ต้องเซ่นสังเวยนโยบายผิดพลาด ท่ามกลางมรสุม Perfect Storm และผู้นำอังกฤษได้ส่งสัญญาณให้แก่ตลาดแล้วว่า การดำเนินนโยบายการคลังด้วยการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ขณะที่ธนาคารกลางกำลังพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ กำลังสิ้นสุด

 

“ท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษคงได้คิดแล้วว่า การจะต่อมาตรการโดยไม่จัดการกับต้นตอของปัญหาอาจจะไม่ใช่ทางออก ปัญหาอาจไม่จบ และจะเสียหายกันไปยิ่งกว่านี้ สุดท้ายจึงตัดสินใจยอมเสียสละท่านรัฐมนตรีคลัง (หลังจากอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 38 วัน) ยอมสละแขน เพื่อรักษาชีวิต เพื่อจะได้ Set Zero ความผิดพลาด เริ่มต้นใหม่ ส่งสัญญาณกับตลาดว่า นโยบาย ‘โลกสวย’ ลดภาษี ช่วงแบงก์ชาติอังกฤษสู้ศึกเงินเฟ้อ ได้จากไปเรียบร้อยแล้ว” กอบศักดิ์กล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising