×

เจนินสำคัญอย่างไร ทำไมกลายเป็นศูนย์กลางต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลในปาเลสไตน์

12.08.2022
  • LOADING...

“มันไม่ใช่ความจริงที่ชาวอาหรับเกลียดชังชาวยิวเพราะเหตุผลส่วนตัว เชื้อชาติ หรือศาสนา พวกเขามองพวกเรา (ซึ่งก็ถูกต้องตามความเห็นของพวกเขา) ว่าพวกเราเป็นพวกตะวันตก พวกต่างชาติ หรือแม้แต่พวกบุกรุกที่เข้ามายึดดินแดนอาหรับเพื่อที่จะสร้างรัฐยิว ในเมื่อเราขณะนี้จำต้องทำตามเป้าหมายของเรา ซึ่งขัดกับความปรารถนาของชาวอาหรับ เราก็คงต้องอยู่กับภาวะสงครามตลอดไป” – โมเช ดายัน (Moshe Dayan) อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพและนักการเมืองอิสราเอล

 

การทำสงครามของอิสราเอลที่มุ่งเป้าทำลายล้างกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งเหนือดินแดนปาเลสไตน์ ปฏิบัติการทางทหารครั้งล่าสุด (5-7 สิงหาคม 2022) ของอิสราเอลก็เช่นกัน ที่มีต้นสายปลายเหตุมาจากความพยายามที่จะกำจัดกลุ่มปาเลสไตน์อิสลามิกญิฮาด (Islamic Jihad) หรืออย่างน้อยก็ทำให้กลุ่มดังกล่าวอ่อนแอลง ทว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตคือ สมรภูมิของการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้มีใจกลางอยู่ที่ดินแดนฉนวนกาซาอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเมือง ‘เจนิน’ (Jenin) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอลต่างหาก

 

เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้คนชาวปาเลสไตน์ พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจนินอยู่ในสภาวะสงครามมานานหลายเดือนแล้ว อิสราเอลใช้กำลังเข้าไปยิงถล่มโจมตีเมืองนี้ มีการไล่ล่าสังหารผู้คนจำนวนมาก แต่ชาวปาเลสไตน์ก็สามารถโต้กลับ ขณะที่คณะปกครองปาเลสไตน์กลับนิ่งเฉยและเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ห่างๆ” อันที่จริงเมืองเจนินเป็นหนึ่งในสองเมือง (นอกเหนือจากกาซา) ที่อำนาจของอิสราเอลยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ระยะหลังอิสราเอลได้เปลี่ยนยุทธวิธีการสู้รบในดินแดนแห่งนี้ จากแต่ก่อนที่มักใช้ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งเป้าสังหารแกนนำคนสำคัญของชาวปาเลสไตน์แทน แต่ปฏิบัติการหลายครั้งก็นำไปสู่ความสูญเสียของประชาชนคนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อย

 

คำถามที่สำคัญคือทำไมต้องเป็นเมือง ‘เจนิน’? มันมีความสำคัญอย่างไรที่แตกต่างจากกาซาในสายตาของอิสราเอล? และเจนินจะกลายเป็นพื้นที่การปะทะกันครั้งใหม่ระหว่างขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์กับอิสราเอลหรือไม่? 

 

เจนิน: ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง

2 สิงหาคม 2022 เป็นวันที่กองกำลังอิสราเอลบุกเข้าไปจับกุม บัสซาม อัล-ซาอฺดี (Bassam al-Saadi) หนึ่งในแกนนำอาวุโสของขบวนการอิสลามิกญิฮาด และเป็นปฏิบัติการโจมตีที่ทำให้เยาวชนปาเลสไตน์เสียชีวิตไป 1 คน ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อิสราเอลได้บุกโจมตีเจนินจนทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวน 13 คนได้รับบาดเจ็บ และมี 1 คนที่เสียชีวิต ปลายเดือนเดียวกันก็มีปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การสังหารเยาวชนคนปาเลสไตน์อีก 1 คน บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 3 คน เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก จนนำไปสู่การสังหารชิรีน อาบู อัคเลห์ (Shireen Abu Akleh) นักข่าวอาวุโสของสำนักข่าว Al Jazeera แต่เนื่องด้วยชิรีนเป็นชาวปาเลสไตน์ (คริสเตียน) สัญชาติสหรัฐฯ และเป็นนักข่าวชื่อดัง เรื่องนี้จึงทำให้อิสราเอลถูกประณามไปทั่วโลก

 

แต่การถล่มโจมตีเจนินก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทหารอิสราเอลพร้อมรถถัง 30 คัน ได้บุกเข้าไปในเจนินอีกครั้ง นำกำลังที่มีอยู่ล้อมรถชาวปาเลสไตน์คันหนึ่งกลางถนนในเมือง แล้วกราดยิงชาย 4 คนที่อยู่ในรถ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือชาย 3 คนเสียชีวิตทันที ส่วนอีกคนบาดเจ็บสาหัส สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการบุกโจมตีครั้งใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ทั้งกลุ่มอิสลามิกญิฮาดและกลุ่มฟาตะห์ ทว่าในท้ายที่สุดอิสราเอลก็เลือกถล่มโจมตีกาซาในสถานการณ์รุนแรงระลอกล่าสุด เพราะเป็นดินแดนที่กลุ่มอิสลามิกญิฮาดมีฐานกำลังที่เข้มแข็งมากที่สุด

 

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เยาวชนคนหนุ่มสาวในเมืองเจนินเป็นกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้แรงกดดันมากที่สุด พวกเขาเห็นบ้านเรือนของญาติพี่น้องถูกทำลาย ผู้คนชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารเป็นประจำ และต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากภายใต้การยึดครองของอิสราเอล นอกจากนั้น ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในเจนินยังทำลายความชอบธรรมของคณะปกครองปาเลสไตน์ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนของตนเองได้แม้แต่น้อย ด้วยเหตุดังกล่าว เจนินจึงกลายเป็นเมืองที่ประชาชนคนปาเลสไตน์ต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตนเอง บางครั้งถึงขั้นบุกเดี่ยวเข้าไปทำร้ายชาวยิวในประเทศอิสราเอลเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่ชาวปาเลสไตน์ 2 คนใช้อาวุธมีดไล่แทงผู้คนในเมืองเอลอาด ประเทศอิสราเอล จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

เจนิน: สนามการแข่งขันทางการเมือง

ในการพุ่งเป้าโจมตีเมืองเจนินนั้น อิสราเอลมีเป้าหมายที่สำคัญ 2 ประการ หนึ่งคือขัดขวางไม่ให้คณะปกครองปาเลสไตน์ (Palestinian Authority: PA) อ้างความชอบธรรม เป็นผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวในการควบคุมความมั่นคงในเมืองเจนิน และอีกประการหนึ่งคือเพื่อสนับสนุนให้ตัวแสดงที่เป็นกองกำลังชนเผ่าเข้ามาใช้อำนาจควบคุมในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายต่างล้มเหลวในการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชน ดังจะเห็นจากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองฮีบรอน (Hebron) เพราะเมืองนี้กองกำลังชนเผ่าถือเป็นผู้ที่คอยรักษาความมั่นคงและแก้ปัญหาความขัดแย้งให้กับประชาชนในพื้นที่

 

อิสราเอลต้องการเห็นการปกครองในลักษณะนี้เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ เพราะแม้ระเบียบชนเผ่าจะมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพและความปลอดภัยให้กับสมาชิกชนเผ่าของตนเอง แต่พวกเขาไม่เคยที่จะเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมืองจากอิสราเอลเลย นี่คือตัวอย่างที่อิสราเอลอยากให้เกิดขึ้นในเมืองเจนิน มิใช่การปกครองโดยคณะปกครองปาเลสไตน์ที่มีเป้าหมายสุดท้ายในการมีรัฐ-ชาติเป็นของตนเอง อธิบายง่ายๆ คือ อิสราเอลต้องการลดบทบาทผู้นำของชาวปาเลสไตน์ ให้เป็นเพียงผู้ที่บริหารจัดการพลเรือนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของรัฐอิสราเอลเท่านั้น โดยปราศจากอำนาจที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมืองจากอิสราเอล

 

ในอีกด้านหนึ่ง คณะปกครองปาเลสไตน์ก็คอยเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์อยู่อย่างเงียบๆ รอจังหวะที่อิสราเอลเพลี่ยงพล้ำ เพื่อที่จะสอนบทเรียนสำคัญให้อิสราเอลว่า หากไร้ซึ่งอำนาจของคณะปกครองปาเลสไตน์แล้ว เสถียรภาพด้านความมั่นคงของดินแดนภายใต้การยึดครองจะเลวร้ายลงเช่นใด โดยคณะปกครองปาเลสไตน์หวังเอาไว้ว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง อิสราเอลก็คงจำต้องหันกลับมาพึ่งพาตนเองเหมือนเดิม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะปกครองปาเลสไตน์ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐฯ ให้เป็นผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในดินแดนภายใต้การยึดครอง ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเจนินจึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คณะปกครองปาเลสไตน์ ได้รับการยอมรับท่ามกลางวิกฤตด้านความมั่นคงที่เลวร้ายลง

 

ท่ามกลางการแข่งขันและการชิงความได้เปรียบระหว่างอิสราเอลกับคณะปกครองปาเลสไตน์ดังกล่าว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวปาเลสไตน์ในเจนิน ทั้งจากปฏิบัติการทางทหารที่เหี้ยมโหดของอิสราเอล และความละเลยเพิกเฉยของคณะปกครองปาเลสไตน์ที่ไม่สนใจปกป้องชีวิตประชาชนของตนเอง ทำให้ชาวปาเลสไตน์บางคนหันไปใช้ความรุนแรงอันเป็นทางออกทางเดียวที่พวกเขามองเห็น 

 

ประชาชนคนปาเลสไตน์ในเจนิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาว ได้ลุกขึ้นสู้กับการถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบ อันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาที่ล้มเหลวของคณะปกครองปาเลสไตน์ (รวมถึงประเทศผู้บริจาคทั้งหลาย) ท่ามกลางการขาดโอกาสในการทำงาน เยาวชนที่ท้อแท้และสิ้นหวังเหล่านี้จึงได้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ โดยมองว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทวงศักดิ์ศรีของพวกเขากลับคืนมา

 

เจนิน: สัญลักษณ์ของการต่อต้านการยึดครอง

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเจนินมิได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของการตอบโต้ปฏิบัติการของอิสราเอลเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์อีกด้วย เพราะเจนินคือสัญลักษณ์ของการต่อต้านการยึดครองโดยกองกำลังต่างชาติมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกและเรื่องเล่าของผู้คนท้องถิ่นในเจนิน ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิหลักในการต่อต้านการยึดครองของอังกฤษในยุคอาณานิคม ที่ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขายอมสละชีพเพื่อรักษาแผ่นดินเอาไว้ นอกจากนี้เมื่อปี 2002 เจนินยังเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดที่สุดระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองทัพอิสราเอลในช่วงเหตุการณ์การลุกฮือ หรือ Intifada ครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 50 คนเสียชีวิต พร้อมกับทหารอิสราเอลมากกว่า 20 ชีวิต

 

เจนินเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่สุดชายขอบของดินแดนเวสต์แบงก์ และอยู่ใกล้ชิดกับเขตดินแดนของอิสราเอล อันทำให้ชาวปาเลสไตน์ซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นสามารถบุกเข้าไปก่อเหตุในอิสราเอลได้ง่าย อีกทั้งการที่อิสราเอลได้ขยายที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิวออกไปเรื่อยๆ ในดินแดนเวสต์แบงก์ ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะแยกดินแดนทั้ง 2 ออกจากกัน เยาวชนปาเลสไตน์ที่จับอาวุธต่อสู้กองทัพอิสราเอลวันนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่อมเกลาการต่อสู้มาจากประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในพื้นที่ และได้เห็นตัวอย่างการเสียสละของผู้นำที่เป็นบรรพบุรุษของพวกเขาเอง  

 

ประตูทางเข้าเมืองเจนิน ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ เพียงครึ่งตารางกิโลเมตร (ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยประมาณ 14,000 คน และชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนที่เป็นสมาชิกของขบวนการอิสลามิกญิฮาดและฟาตะห์) ประดับด้วย ‘กุญแจบ้าน’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิทธิในการกลับคืนแผ่นดินแม่ของชาวปาเลสไตน์ นอกจากนั้น ยังมีธงชาติปาเลสไตน์ติดอยู่หน้าประตูเต็มไปหมด รวมถึงโปสเตอร์ของนักโทษชาวปาเลสไตน์และ ‘ผู้พลีชีพ’ ที่ถูกฉาบไว้ทั่วกำแพงค่าย เสมือนคนเหล่านี้คือแบบอย่างของการต่อต้านการยึดครอง

 

เมื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของเจนินในฐานะศูนย์กลางของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ประกอบกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าเจนินวันนี้กำลังหวนคืนสู่รากเหง้าของการต่อต้านการยึดครองอีกครั้ง ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็มีแนวโน้มจะใช้กำลังความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะส่งผลร้ายต่อผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจในงานเสวนาว่าด้วยเรื่อง ‘ฤาชาวปาเลสไตน์จะไร้สิทธิบนแผ่นดินแม่’ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2022 ว่า 

 

“นโยบายป้ายพิษตนเองของรัฐอิสราเอลกำลังฉีกกระชากสังคมอิสราเอลเอง เฉกเช่นยาพิษที่คนฉวยใช้กับตนเอง ผลรวมของนโยบายร้ายกาจเหล่านี้ทำให้รัฐอิสราเอลอ่อนแอ และกลายเป็นรัฐอันตรายด้วยการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงต่อทั้งผู้คนของตนเองและสันติภาพในตะวันออกกลาง…นอกจากอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐอิสราเอลที่กำลังเคลื่อนไปในทางสุดโต่งมากขึ้นแล้ว มันยังเคลื่อนไปในเส้นทางที่เป็นรัฐทหารมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นปัญหากับตัวของอิสราเอลเอง พูดง่ายๆ คือพวกเขาต้องนอนกอดปืน แทนที่จะนอนกอดหมอน การใช้ชีวิตอาศัยในแต่ละวันก็จะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง”

 

ภาพ: Nedal Eshtayah / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising