×

สถาบันแรงงานฯ ออกแถลงการณ์ ขอบริษัทเอกชนออกมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานในช่วงโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
20.01.2021
  • LOADING...
สถาบันแรงงานฯ-ออกแถลงการณ์-ขอบริษัทเอกชน

วันนี้ (20 มกราคม) สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ได้ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ ‘อาชีพสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤต’ ที่แท้จริง ต้องไม่ผลักให้คนงานแบกรับความเสี่ยงเอง จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มรับผิดชอบสวัสดิภาพคนทำงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

 

เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ย้อนไปเมื่อต้นปี 2563 บทเรียนหนึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทย คือทำให้เห็นเด่นชัดว่าธุรกิจแพลตฟอร์มมีบทบาทอย่างมากต่อการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่าง โดยทำงานจากบ้านในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เมื่อบริการของบริษัทแพลตฟอร์มซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ จับคู่ระหว่างผู้บริโภคและคนทำงานเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกทั้งแก่ผู้คนที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองถึงร้านได้ และทั้งแก่ผู้คนที่ต้องการรายได้ประทังชีพ

 

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาจากโรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอย อาจกล่าวได้ว่าในภาพรวม บริษัทแพลตฟอร์มต่างได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ส่งเสริมอาชีพแห่งโอกาสท่ามกลางวิกฤต โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดมาก หรือได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเดลิเวอรีและรับส่งผู้โดยสาร ธุรกิจขนส่งพัสดุ รวมถึงแพลตฟอร์มให้บริการอื่นๆ และยังมีบริษัทแพลตฟอร์มอื่นๆ เติบโตขึ้นมาเป็นทางเลือกการประกอบอาชีพแก่คนงาน

 

ในขณะที่กิจการประเภทออฟไลน์ (Offline) อื่นๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคระบาดและเศรษฐกิจจนต้องปลดคนงาน ปิดงานชั่วคราว หรือปรับลดค่าตอบแทนเพื่อลดต้นทุน ในทางตรงกันข้าม มีบริษัทแพลตฟอร์มจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดลิเวอรีอาหารที่ได้ประโยชน์จากรูปแบบการบริหารที่รองรับคนงานจำนวนมากได้และสามารถผลักภาระต้นทุนให้คนทำงาน กลับมีผลกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสภาวะวิกฤต

 

อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์มกับโอกาสทางรายได้ของคนงานแพลตฟอร์มดำเนินควบคู่กันไปอย่างไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้จ้างงานอย่างมักง่าย กล่าวคือ จ้างเป็นคนงานรายชิ้น ที่ปราศจากความมั่นคงทางอาชีพ นอกจากนี้คนงานทุกคนต้องแบกรับต้นทุนการทำงานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิงยานพาหนะ ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน ต้นทุนเวลาของการรอออร์เดอร์งาน และความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้ขาดรายได้โดยไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานทำความสะอาด หรือความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มพนักงานนวดตามบ้าน ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 จากการต้องทำงานนอกบ้าน โดยไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม

 

เวลานี้วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มกลับมาเลวร้ายยิ่งขึ้น และธุรกิจบนแพลตฟอร์มมีแนวโน้มกลับมาได้รับความนิยมในฐานะอาชีพทางเลือกเหมือนช่วงปีที่ผ่านมาอีกครั้ง สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) เห็นว่าหากสังคมไทยจะสามารถยกย่องธุรกิจแพลตฟอร์มให้เป็นผู้สนับสนุนอาชีพแห่งโอกาสที่แท้จริงได้นั้น บริษัทแพลตฟอร์มจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคนงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ผลักภาระต้นทุนการทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงต่างๆ ให้คนงานแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว ดังข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อไปนี้

 

ข้อเรียกร้องเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทแพลตฟอร์ม

  1. ระหว่างที่สถานการณ์โควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง ขอให้บริษัทแพลตฟอร์มจ่ายค่าเสี่ยงภัย (Hazard Pay) อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นค่าตอบแทนพิเศษชดเชยกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อและเจ็บป่วยให้กับคนทำงาน นอกจากนี้ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ ถุงมือพลาสติก ผ้าหรือกระดาษสำหรับทำความสะอาด ฯลฯ ให้กับคนงานโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย

 

  1. บริษัทแพลตฟอร์มต้องจัดทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันโรค โควิด-19 ที่เคลมสิทธิ์ได้จริงให้กับพนักงานทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข โดยบริษัทมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้พนักงานที่ประสงค์เคลมสิทธิ์ประกัน รวมถึงเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนคนงานเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 ในอนาคตด้วย

 

  1. นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่บริษัทแพลตฟอร์มหลายแห่งออกมาตรการจัดทำประกันโรคโควิด-19 ให้คนงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม การได้ฉีดวัคซีนยังเป็นมาตรการป้องกันที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อคนทำงานในช่วงมีการระบาด ซึ่งบริษัทควรจัดหามาให้ หรือใช้วิธีการใดๆ เพื่อให้คนงานในสังกัดเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ในฐานะคนงานที่มีความสำคัญ 

 

  1. ในช่วงโควิด-19 บริษัทแพลตฟอร์มต้องไม่ฉวยโอกาสนี้ในการปรับขึ้นค่าบริการกับผู้บริโภค หรือบังคับให้คนงานรับงานจำนวนมากหากคนงานไม่ต้องการ หรือปรับลดค่าตอบแทนต่อชิ้น และหรือเพิ่มต้นทุนการทำงานของคนงานด้วยวิธีใดๆ เช่น การขึ้นค่าสมัครงาน การบังคับซื้ออุปกรณ์ทำงาน บังคับให้ทำการอบรมเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นและเสียค่าใช้จ่ายสูง และการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเมื่อกดถอนเงินออกจากระบบวอลเล็ต เพื่อแสวงหากำไรเพิ่มเติมจากคนงานและผู้บริโภคอีก

 

  1. บริษัทแพลตฟอร์มต้องยืนยันว่าจะรับฟังและเคารพเสรีภาพของคนงานและบุคคลภายนอกในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของบริษัทก็ตาม โดยเปิดโอกาสให้คนงานและบุคคลภายนอกแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างอิสระ จัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังและปฏิบัติตามความต้องการของคนงาน อาทิ ข้อเสนอของกลุ่มไรเดอร์ Grab ที่เรียกร้องให้บริษัทปรับขึ้นค่าตอบแทนในเขตต่างจังหวัด ยกเลิกการปิดระบบคนงานโดยพลการ รวมทั้งต้องมีมาตรการรับรองกับคนงานว่าการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงานร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มต่อในอนาคต

 

  1. เนื่องจากลักษณะการทำงานบนแพลตฟอร์มเรียกร้องให้คนงานอุทิศเวลาและกำลังแรงงานของตัวเองเพื่อทำงานหนักให้แพลตฟอร์มไม่ต่างจากงานประจำ ดังนั้นบริษัทต้องดูแลคนงานรายชิ้น ที่บริษัทนิยามสถานะการทำงานใหม่อย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ เสมือนเป็นคนงาน ตามมาตรฐานการดูแลขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ผลักภาระให้คนงานรับผิดชอบฝ่ายเดียว เช่น มีสวัสดิการค่าเดินทาง มีวันลาหยุด มีเงินชดเชยเมื่อลาป่วย มีค่าตอบแทนล่วงเวลา (OT) เมื่อคนงานทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สวัสดิการลาคลอดและสงเคราะห์บุตร รวมถึงมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านอื่นๆ ของคนงานขณะเดินทางและขณะทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคนงานหญิงที่ทำงานในสถานที่ปิด เช่น ห้องพักของลูกค้า ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเพียงพอ ไม่มีช่องทางขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ใช้งานได้จริง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising