เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน Boeing 737-800 ของสายการบิน Jeju Air เที่ยวบินที่ 7C2216 ที่เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินมูอันในเกาหลีใต้ กลายเป็นโศกนาฏกรรมทางอากาศครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีของเกาหลีใต้ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 179 คน โดยมีเพียงลูกเรือ 2 คนที่อยู่ด้านหลังเครื่องบินเท่านั้นที่รอดชีวิต แต่ก็บาดเจ็บค่อนข้างมาก อุบัติเหตุครั้งนี้ยังถือเป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2024 และเป็นอุบัติเหตุทางอากาศของเครื่องบิน Boeing 737 ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2
จากสถิติทั้งหมดน่าจะพบว่าอุบัติเหตุครั้งนี้น่ากลัวเป็นอย่างมาก ซึ่งยืนยันได้จากภาพวิดีโอวินาทีสุดท้ายที่เครื่องบินร่อนลงจอดที่สนามบินมูอันโดยล้อไม่กาง และเครื่องบินไถลไปชนกับคันดินจนเกิดระเบิดไฟลุกท่วม
เครื่องบินออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 02.28 น. วันที่ 29 ธันวาคม และเตรียมลงจอดที่สนามบินมูอันในช่วงราว 09.00 น. แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินแจ้งให้นักบินระวังเหตุชนนกหรือ Bird Strike ในเวลา 08.57 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่อีกเพียง 3 นาทีต่อมา เที่ยวบินที่ 7C2216 ก็ส่งสัญญาณฉุกเฉิน ซึ่งเครื่องบินพยายามลงจอด แต่ล้อไม่กาง จึงพยายามบินขึ้นและวนเพื่อลงจอดใหม่ทั้งที่ล้อไม่กาง และไถลออกนอกรันเวย์
แน่นอนว่าสาเหตุการตกในครั้งนี้จะต้องมีการสอบสวนโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถเข้าถึงหลักฐานต่างๆ ของเครื่องบินและสภาวะแวดล้อมโดยรอบได้ แต่ก็มีหลายประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต ซึ่งก็น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญจะต้องสอบสวนเพื่อหาคำตอบ
- เครื่องบินถูกนกชนหรือนกชนจนเครื่องยนต์เสียหายทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งมีกรณีที่เครื่องบินถูกนกชนและสูญเสียกำลังเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่องมาแล้ว อย่างกรณี US Airways เที่ยวบินที่ US1549 ที่ลงจอดบนแม่น้ำฮัดสัน ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าเที่ยวบินที่ 7C2216 นั้นสูญเสียกำลังเครื่องยนต์ไปเพียง 1 หรือทั้ง 2 เครื่อง
- ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดนักบินจึงไม่วนรอจนกว่าจะแก้ไขเรื่องล้อไม่กางได้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะน้ำมันใกล้หมด หรือเครื่องยนต์เสียกำลังทั้งหมด หรือเพราะเหตุใด หรือแม้แต่นักบินทราบหรือไม่ว่าล้อไม่กาง ถ้าน้ำมันใกล้หมดก็น่าสังเกตว่าเครื่องบินเติมน้ำมันมาพอที่จะบินวนรอเพื่อแก้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ตรงนี้เรายังไม่อาจคาดเดาได้ แต่ที่เรารู้ก็คือเครื่องบินลงจอดโดยที่ล้อไม่กาง
- หอควบคุมการบินทราบหรือได้รับแจ้งหรือไม่ว่าเครื่องบินลำนี้ล้อไม่กาง ถ้าทราบ มีการแจ้งเตือนหรือเตรียมรับมือในกรณีลงจอดโดยล้อไม่กางหรือไม่ ถ้าไม่ทราบ ทำไมนักบินถึงไม่แจ้งหอบังคับการบิน หรือนักบินเข้าใจว่าล้อกาง ซึ่งตรงนี้ต้องรอการสอบสวนอย่างเดียว
- ในคลิปวิดีโอการลงจอด เราจะเห็นเหมือนกับว่าเครื่องยนต์ด้านขวาเปิด Thrust Reverser ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แรงขับของเครื่องยนต์มาย้อนทิศทางเพื่อช่วยในการเบรก ตรงนี้ไม่แน่ชัดว่าเป็นการเปิดโดยความตั้งใจหรือระบบเปิดขึ้นเอง หรือจริงๆ แล้ว Thrust Reverser ไม่ทำงานแล้วในตอนลงจอด แต่ถ้าเปิดโดยความตั้งใจ ก็อาจแปลว่าเครื่องยนต์ยังมีกำลังหรือระบบไฟฟ้าบนเครื่องยังทำงานได้อยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็มาถึงข้อสังเกตต่อมาก็คือ
- ทำไมล้อถึงไม่กาง เพราะโดยปกติแล้วล้อจะมีระบบสำรองจำนวนมาก ถ้าในกรณีที่ระบบไฟฟ้าของเครื่องเสียหาย นักบินสามารถใช้ระบบกางล้อด้วยมือเพื่อพยายามกางล้อได้ หรือเครื่องบินสามารถใช้แรงดึงดูดและแรงเหวี่ยงในการกางล้อได้ แต่ก็แน่นอนว่ามันไม่รับประกันว่าจะสามารถกางล้อได้ในทุกกรณี ซึ่งในกรณีนี้ต้องสืบหาต้นตอกันต่อไปว่าเพราะเหตุใดล้อถึงไม่สามารถกางได้
ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นหนึ่งในหลายข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญจะต้องหาคำตอบ ซึ่งโดยปกติแล้วการวิเคราะห์อุบัติเหตุทางอากาศนั้นจะสามารถหาข้อสรุปได้จากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นได้ เช่น ข้อมูลจากกล่องดำ, ข้อมูลสภาพอากาศ, ข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างหอควบคุมการบินและเครื่องบิน และข้อมูลอื่นๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาจุดเชื่อมโยงไปเรื่อยๆ จนสามารถย้อนกลับไปสู่สาเหตุที่แท้จริงได้ ดังนั้นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จะทำได้เพียงตั้งข้อสังเกต ไม่สามารถให้ข้อสรุปถึงสาเหตุได้
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น หน่วยงานด้านนิรภัยการบินของเกาหลีใต้จะต้องเป็นผู้สอบสวน โดยหน่วยงานนิรภัยการบินของสหรัฐอเมริกาจะมีอำนาจเข้ามาร่วมสอบสวนด้วยโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นประเทศต้นทางผลิตเครื่องบินลำนี้
รายงานล่าสุดคือเจ้าหน้าที่ค้นพบกล่องดำ 1 ใน 2 กล่องของเครื่องบินแล้ว แต่กล่องดำที่ได้มีสภาพเสียหายบางส่วน ซึ่งถ้าห้องปฏิบัติการในเกาหลีใต้ไม่สามารถอ่านข้อมูลได้ ก็ต้องส่งไปที่ห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ ซึ่งการสอบสวนน่าจะกินเวลาหลายเดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงติดๆ กันในช่วงนี้ การเดินทางทางอากาศก็ยังถือเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดบนโลกของเราอยู่เช่นเดิม
ภาพ: Lee Geun Young via Reuters