“ในชีวิตนี้เราจะได้ไปเที่ยวอวกาศไหม?” เป็นคำถามที่ใครหลายๆ คนคงเคยนึกถึง ซึ่งเป็นคำถามที่เกิดขึ้นจากการที่คนธรรมดาอย่างเรา เห็นความเป็นไปได้ว่าการเที่ยวอวกาศนั้นอาจเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต เนื่องจากการเกิดขึ้นของบริษัทขนส่งทางอวกาศ SpaceX ของ Iron Man ในชีวิตจริงอย่าง อีลอน มัสก์ และบริษัทคู่แข่งอย่าง Blue Origin ของ เจฟฟ์ เบโซส์
โดยหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลกอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ประกาศหันมาโฟกัสธุรกิจอวกาศมากขึ้น โดยกล่าวว่าบริษัทตะลุยอวกาศอย่าง Blue Origin ของเขานั้นถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาเลย พร้อมทั้งประกาศว่าจะเพิ่มเวลาเป็น 2 เท่าให้กับ Blue Origin หลังก้าวลงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ Amazon ในเดือนกรกฎาคม
แม้ว่าก่อนหน้านี้เบโซส์จะเข้ามามีส่วนร่วมใน Blue Origin อยู่บ้าง แต่เขายังต้องทุ่มเวลาส่วนใหญ่ในฐานะประธานกรรมการบริหารไปกับ Amazon ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลกได้ ดังนั้นการที่เบโซส์ทุ่มเวลาให้กับ Blue Origin เพิ่มเป็น 2 เท่าถือเป็นนัยสําคัญต่อการเติบโตของธุรกิจอวกาศนี้
Blue Origin นั้นกำลังต่อสู้อย่างดุเดือดกับ SpaceX ในการแย่งสัญญาการลงจอดจรวดบนดวงจันทร์จาก NASA ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยลูกค้าหลักของเครื่องยนต์จรวด BE-4 ของ Blue Origin เริ่มส่งเสียงบ่นจากการดำเนินการส่งมอบที่ล่าช้ามาหลายปี และการปล่อยจรวดแบบโคจรครั้งแรกของ Blue Origin ก็ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน แต่การวิจัยอวกาศแบบปล่อยจรวดขึ้นไปตรงๆ ไม่มีการโคจร หรือเรียกว่าแบบ Sub-orbital สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
กระนั้น Blue Origin ก็มีอุปสรรคอยู่ในเรื่องการลาออกของวิศวกรและผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง บ็อบ สมิธ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ Blue Origin กับวิศวกรและผู้บริหารระดับสูงหลายคน ทำให้คนเหล่านี้ทยอยกันลาออกไป
การให้เวลาที่มากขึ้นกับ Blue Origin ของเบโซส์อาจเป็นการช่วยให้ Blue Origin พัฒนาไปได้เร็วยิ่งขึ้น โดยพนักงานในนั้นกล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่า ปกติเเล้วเบโซส์จะจัดช่วงถาม-ตอบระหว่างเขากับพนักงานเป็นประจำทุกปี แต่ในตอนนี้เบโซส์ได้หยุดช่วงถาม-ตอบนั้นไป เพราะต้องใช้เวลาไปทุ่มให้กับ Blue Origin
นอกจากด้านเวลาที่เบโซส์ทุ่มให้แล้ว ในด้านเงินทุนก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่ามีการเพิ่มด้วยหรือไม่ เพราะในปี 2017 เบโซส์เคยกล่าวไว้ว่า เขาได้ขายหุ้นของ Amazon จำนวน 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อนำมาลงทุนใน Blue Origin และในปัจจุบันเขาก็ยังขายหุ้น Amazon อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจะนำมาลงทุนใน Blue Origin
ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงของ Blue Origin ได้จัดประชุมเกี่ยวกับสัญญาปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ตของโปรเจกต์ Kuiper ของ Amazon โดย United Launch Alliance (ULA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อสร้างจรวดระหว่างบริษัท Boeing และ Lockheed Martin ซึ่ง ULA นี้เป็นผู้ชนะดีลการปล่อยดาวเทียมครั้งแรกของ Amazon ไปเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งเบโซส์ก็ได้เข้าร่วมการประชุมโปรเจกต์ Kuiper ของ Blue Origin ครั้งนี้ด้วย
Amazon ได้ทำสัญญาปล่อยดาวเทียมจำนวน 9 ครั้ง กับ ULA ในเดือนเมษายน และเน้นย้ำว่าจะต้องมีพันธมิตรเพื่อปล่อยดาวเทียมหลายๆ ราย สำหรับปล่อยดาวเทียม Kuiper จำนวน 3,235 ดวง ซึ่งนี่อาจเป็นก้าวสำคัญต่อไปของ Blue Origin ที่อาจประสบความสำเร็จจากความช่วยเหลือของเบโซส์
ภาพ: Jonathan Newton / The Washington Post via Getty Images
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หนุ่มน้อยวัย 18 ปี จะเป็นนักบินอวกาศที่เด็กที่สุดที่ร่วมเดินทางกับพี่น้องเบโซส์ และ Blue Origin หลังผู้ชนะประมูลตั๋ว 917 ล้านบาท ขอเลื่อนไฟลต์บิน
- ‘Blue Origin’ บริษัทเทคโนโลยีอวกาศของ เจฟฟ์ เบโซส์ เผย ‘ตั๋วทัวร์อวกาศใบแรก’ ราคาประมูลพุ่งแตะ 63 ล้านบาทแล้ว
- ‘ย้ายประเทศ’ ไม่หนำใจ ย้ายไปสำรวจอวกาศกันดีกว่า ‘Blue Origin’ เปิดประมูลตั๋วทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ใบแรก เดินทาง 20 ก.ค. นี้
- เจฟฟ์ เบโซส์ นำ Blue Origin เปิดตัวต้นแบบยานอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์ ‘Blue Moon’ เชื่ออาจเดินทางทันปี 2024
อ้างอิง: