ช่วงต้นปีนอกจากเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มต้นทำตามเป้าหมายใหม่ๆ ของแต่ละคนแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่เรามีโอกาสได้เจอกับโปรกอล์ฟสาวไทยอย่าง จีโน่ หรือ โปรจีน-อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟสาวไทยวัย 21 ปี ที่เพิ่งคว้าแชมป์ CME Group Tour Championship 2024 และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น Rolex Testimonee มาตั้งแต่ปี 2023
เนื่องจากช่วงต้นปีคือช่วงเวลาที่นักกอล์ฟสาวไทยที่แข่งขันอยู่ในต่างประเทศเกือบตลอดทั้งปีจะได้กลับมาเตรียมแข่งในสนามที่เรียกว่า Hometurf หรือสนามเหย้า ในศึก Honda LPGA Thailand ที่ปีนี้จะแข่งขันกันระหว่างวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์นี้
จีโน่นับเป็นหนึ่งในนักกีฬาไทยที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เราทุกครั้งที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่เธอสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์ Ladies European Tour ด้วยวัยเพียง 14 ปี โดยเธอเปิดเผยว่า หลักการในการแข่งขันกอล์ฟของเธอคือ ‘ทุกความสำเร็จเกิดขึ้นจากความล้มเหลว’ เพราะเธอเชื่อว่าเราต้องผิดพลาดมาก่อนเราถึงจะสามารถเก่งขึ้นได้
ไปจนถึงเมื่อต้นปี 2023 ที่เธอเพิ่งคว้ารางวัล Rookie of the Year 2022 ซึ่งเป็นปีแรกที่เธอเทิร์นโปรเต็มตัว และก้าวขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกได้สำเร็จ โดยจีโน่เปิดเผยว่า การเป็นมือหนึ่งของโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงตารางงานของเธอในแต่ละวัน ที่ยังคงต้องทำงานหนักและโฟกัสที่การพัฒนาตัวเอง เพราะเธอเชื่อว่า “นักกอล์ฟเป็นคนที่ควรอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่าไปเสียดายอดีต อย่าไปกังวลกับอนาคต และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด”
การมาสัมภาษณ์จีโน่อีกครั้งจึงเป็นโอกาสพิเศษที่เราชื่นชอบ เพราะจะได้สำรวจความคิดและเรียนรู้จากประสบการณ์ระดับสูงตั้งแต่วัยเด็กของเธอ
จีโน่เล่าถึงการเดินทางที่ผ่านมาในเส้นทางนักกอล์ฟหน่อย
มีทุกองค์ประกอบทางอารมณ์ แต่คำเดียวที่อธิบายทุกอย่างได้คือความท้าทาย คิดว่าเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องเจอ เพราะไม่มีเส้นทางที่ง่ายในอาชีพ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเล่นกอล์ฟอายุ 6 ขวบจนถึงตอนนี้ ใช้เวลานานมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ เป็นอาชีพที่มีขึ้นมีลงแบบโรลเลอร์โคสเตอร์
คิดว่าเราประสบความสำเร็จเร็วตอนอายุน้อยมาก เลยทำให้มีความกดดันจากสื่อและแฟนๆ รวมถึงจากตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นถ้าจะมีคำอธิบายจากตัวเองกับอาชีพนักกอล์ฟที่ผ่านมา นับเป็นเส้นทางที่ดีมาจนถึงตรงนี้ที่ยังไม่ผ่านครึ่งทางของอาชีพ เป็นเส้นทางที่ตื่นเต้นมาก
วิธีรับมือกับแรงกดดันของเรา
มีช่วงที่รับมือได้ดีและไม่ดี จริงๆ แล้วเผชิญมาแบบเร็วมาก ตั้งแต่ทีมชาติ เป็นตัวเด่นๆ ตัวทำคะแนนให้ทีมตั้งแต่เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์
มีช่วงที่รับมือได้ไม่ดีเลย แล้วก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนเทิร์นโปรก็มีความสนใจมาที่เราเยอะ แต่ว่าก็รับมือดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่พอมองในอีกจุดจุดหนึ่งคือเป็นเรื่องดีที่เจอเร็ว
ทำทุกโมเมนต์ที่มีให้ดีที่สุด โฟกัสกับสิ่งที่เรามี เพราะเชื่อว่านักกีฬามีขึ้นและมีลง เป็นเรื่องปกติ เวลาที่มันขึ้นอยู่ ก็ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เท่าที่นักกีฬาคนหนึ่งจะทำได้ ก็คือโมเมนต์นั้นพอใจกับทุกๆ สิ่งที่ได้ทำออกไป
คิดว่าอันนั้นเป็น Self-Care ที่ทำได้ดีที่สุดเวลามีความกดดัน ไม่ว่าเราจะรับมือกับมันได้ดีหรือไม่ดี
ความทรงจำที่ดีที่สุดในอาชีพ
มีโมเมนต์ที่ชอบเยอะ แต่อันแรกในตอนเด็กคือ 2 เหรียญทองซีเกมส์ ตอนที่อายุ 14 ปี ที่พิเศษเพราะนั่นคือปีแรกกับทีมชาติไทย และอายุน้อยมาก ตื่นเต้นมาก แต่ยังคว้าเหรียญทองมาได้ 2 เหรียญ ทำให้มันพิเศษมาก
ส่วนตอนที่เป็นกอล์ฟหญิงอาชีพแล้วคือชัยชนะครั้งแรกใน LPGA เป็นสิ่งที่พิเศษมาก ที่พิเศษเพราะทุกคนบอกตลอดว่าแชมป์ครั้งแรกยากที่สุด และยากที่สุดจริงๆ ตอนที่ได้แชมป์แรกตามหลังอยู่ถึง 7-8 ช็อตในรอบสุดท้าย และกลับมาเพลย์ออฟ 2 หลุม และคว้าชัยชนะได้
แมตช์ในความทรงจำ
แมตช์ที่อยู่ในความทรงจำและอยากขอบคุณมากๆ เลยคือปีที่พี่เม (โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล) ได้แชมป์ เพราะว่าทุกคนเสียดายและมีโมเมนต์เกิดขึ้นเยอะ แต่เรารู้สึกขอบคุณวันนั้นที่ไม่ได้แชมป์ เพราะถ้าวันนั้นได้แชมป์ก็ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองใน LPGA ณ ตอนนั้นจะเป็นอย่างไร
แต่พอไม่ได้แชมป์ก็ต้องไปทำทุกอย่าง เริ่มหาประสบการณ์ต่างๆ นานาใหม่กว่าจะได้เข้าไปอยู่ใน LPGA ทำให้ประสบการณ์เยอะขึ้นจริงๆ กระดูกแข็งขึ้น เที่ยวบินเยอะขึ้น ถ้าชนะไปตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้ดีขนาดนี้ก็ได้
มันเสียดายและเสียใจเป็นเรื่องปกติ แต่พอมองไปก็ขอบคุณที่ไม่ชนะ มันเป็นเวลาที่ยังไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่วันและเวลาของเรา มันอาจจะทำให้เราต้องไปที่อื่นก่อน ไปลำบากก่อน
มุมมองที่มีต่อ Work Life Balance
Work Life Balance เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องมี เพราะบางทีเวิร์กได้ แต่คิดถึงเรื่องเวิร์ก 24 ชั่วโมงไม่ได้ จะ Burnout กัน ทุกคนน่าจะเข้าใจ
เมื่อก่อนเป็นคนที่ซ้อมเยอะมากๆ ต้องตั้งใจซ้อม เป้าหมายต้องไปให้ถึง ใส่สุดแบบ 100% แต่บางครั้งลืมคิดถึงเรื่องสุขภาพและร่างกาย เพราะเราคิดไปเยอะ ร่างกายก็เครียดไปด้วย ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ต้องมี
โดยเฉพาะคนเอเชียที่จะมีเรื่องการทำงานกับสปอนเซอร์ อันนั้นก็เป็นส่วนสำคัญ เราก็พยายามแยกไปซ้อมให้เรียบร้อย และก็ไปซ้อมให้สุดๆ จะได้ไม่ต้องมีอะไรมากังวล ชีวิตส่วนตัวก็ฟิตเนส กิน ดูซีรีส์ ส่วนอาหารชอบทุกอย่าง ชอบอาหารญี่ปุ่นมากที่สุด
การเป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก
มีช่วงที่ขึ้นมือหนึ่งของโลก ตอนที่กำลังจะขึ้นทุกคนจะรู้ก่อนประมาณสัปดาห์หนึ่ง เพราะ LPGA จะบอกก่อน รู้ก่อน ก็ยังไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไร งงอยู่ว่าสมมติพรุ่งนี้ได้ขึ้นมือหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะรู้สึกอย่างไร จะตื่นเต้นหรือดีใจ แต่ได้โทรหารุ่นพี่เพื่อปรึกษา
เขาบอกว่าไม่เห็นต้องรู้สึกอะไร ไม่เห็นต้องตื่นเต้น เพราะเราไม่ใช่มือหนึ่งของโลกคนเดียว เขาขึ้นกันมาเยอะแล้ว ซึ่งก็จริง เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่เคยขึ้นมาก่อน มีคนที่อยู่มานานมาก อยู่มาก่อน ขึ้นมาเยอะ มีเยอะ
พอผ่านไป ได้เป็นมือหนึ่งของโลกมาสัปดาห์หนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกอะไรจริงๆ
มีชื่อ จีโน่ อาฒยา ที่เป็นมือหนึ่งของโลก แต่ในส่วนของเรายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม พยายามที่จะพัฒนาตัวเองในทุกๆ อย่างเหมือนเดิม ยังเป็นคนเดิมที่ไม่ว่าจะอันดับโลกเท่าไรก็ไม่ลืมสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งของโลกหรือที่เท่าไรก็ตาม เราก็ต้องพัฒนาอยู่ดี
แต่ถามว่ากดดันไหม ก็กดดันเวลาแข่งนิดหน่อย เพราะจะได้ยินตลอด ถ้าจะบอกว่าไม่กดดันก็คงเป็นเรื่องโกหก
ดีตรงที่กอล์ฟไม่เหมือนกีฬาอื่นที่เราคาดหวังอะไรไม่ได้จากการแข่งขันเพียงแมตช์เดียว วันหนึ่งดี วันหนึ่งไม่ดี เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับกอล์ฟ ก็เลยไม่ได้อะไรมาก
Key to Success ในกีฬากอล์ฟ
ปัจจัยที่ช่วยให้สำเร็จในกีฬากอล์ฟมีหลายอย่าง แน่นอนว่าการทำงานหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด การทำงานฉลาดก็คือสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเราเป็นคนที่ทำงานหนัก ฝึกซ้อม 8-10 ชั่วโมงต่อวัน คุณภาพมาก่อนจำนวนเสมอ เพราะกอล์ฟหรือนักกีฬาต้องใช้ร่างกายเยอะ ต้องดูแลร่างกาย สมอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกอล์ฟ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือทีม เพราะพวกเขาคือคนที่ช่วยผลักดันคุณไปสู่ความสำเร็จ พวกเขาอยู่ด้วยตลอด ทั้งช่วงเวลาที่ดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะเล่นแบบไหน สกอร์แบบไหน แต่พวกเขาก็ยังอยู่ข้างคุณ จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักกีฬามาก เพราะเราต้องการคนที่อยู่กับเราได้ตลอดเวลา
ทีมคือครอบครัว ผู้จัดการ โค้ช และแคดดี้
ส่วนวินัยสำคัญเสมอ สำหรับนักกีฬา การซ้อมหนักเป็นที่หนึ่งเสมอ ตอนนี้ใส่ใจเรื่องของตัวเองและเรื่องจิตใจเยอะ เพราะนักกีฬาระดับนี้ฝีมือไม่ได้ต่างกันมาก แต่เรื่องจิตใจจะเป็นตัวบ่งบอกเวลาออกไปแข่งขัน เป็นสิ่งที่อยากพัฒนาไปเรื่อยๆ
คำแนะนำสำหรับนักกอล์ฟรุ่นต่อไป
อย่าซีเรียสเกินไป คำว่าประสบความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกันจริงๆ ไม่มีใครมาบอกว่าอะไรคือประสบความสำเร็จ อะไรคือดี
แล้วก็อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร มองเขาเป็นไอดอลได้ มองเขาว่าอยากทำแบบนี้ แต่อย่าเปรียบเทียบกับเขาว่าเขามีนู่นนี่นั่น
แล้วก็อย่าซีเรียสเกินไป เพราะพอมองกลับมาแม้เราจะทำได้ดีมากหรือไม่ดีเลยวันนี้ แต่เราก็จะภูมิใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ดีในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็อย่าไปซีเรียสมาก
ลองสนุกกับสิ่งที่ทำแล้วเราจะทำออกมาได้ดี เมื่อเราสนุกกับมันและทำในสิ่งที่เรารัก เราก็จะอยากทำออกมาให้ดีในทุกๆ วัน เพราะซีเรียสไปบางทีก็ Burnout ได้ง่าย
ที่สำคัญคือ
อย่าเป็นเหมือนจีน เลือกเส้นทางของตัวเอง
เพราะเห็นนักกอล์ฟดาวรุ่งที่มีการพูดถึงเราด้วย ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เลือกเส้นทางของตัวเองเพราะเรา ก็ไม่เคยคิดว่าต้องเป็นเหมือนใคร เป็นอะไร อย่างไร เพราะว่ามันจะไม่มีวันมีความสุขได้เลยถ้าเราตั้งใจว่าเราต้องเหมือนคนอื่น
เพราะเราไม่มีทางเหมือนเขาได้ขนาดนั้น เราอาจจะคล้ายเขาได้ ลองเส้นทางที่เขาเคยลองได้ แต่ก็ต้องลองผิดลองถูก และลองไปเถอะ เพราะอย่างไรมันก็ผิด
จริงนะ อย่างไรมันก็ผิด ทุกคนเคยผิดมาก่อน เรียนรู้จากความผิดพลาดเยอะมากถึงจะมาถึงจุดจุดนี้ได้ เพราะว่าความผิดพลาดและการที่เราล้มมันทำให้ไปได้เร็วและดีกว่าตอนที่เราสำเร็จ หากมีช่วงที่ชนะเยอะยิ่งไม่ดี เพราะทำให้เราเสพติดการชนะ
เคยก็เป็นคนคนนั้นเหมือนกัน เคยเสพติดการชนะ จนแพ้แล้วมันดาวน์มากๆ แม้ว่าผลงานจะดีมาก แต่แพ้แล้วแบบว่าเมื่อไรจะชนะสักที มันเสพติดชัยชนะเกินไป
แล้วพอตอนล้มมันจะดาวน์กว่าคนอื่น ทั้งที่ไม่ได้ล้มอะไรขนาดนั้นเลย
การเตรียมพร้อมสภาพจิตใจสำหรับการแข่งขัน
ช่วงนี้ฟังพอดแคสต์เยอะก่อนออกไปแข่ง ส่วนใหญ่เป็นพอดแคสต์พัฒนาตัวเอง ไม่ได้ฟังเพลง เช่น นิ้วกลม Library
ส่วนใหญ่จะฟังเรื่องการอยู่กับปัจจุบันและการต่อสู้กับความคิดในหัว จะมาสายกีฬาด้วยและเกี่ยวกับธรรมะด้วย อยู่กับปัจจุบัน รู้สึก มีสติ อยู่กับลมหายใจ เป็นการสร้างสมาธิ
ความท้าทายทางจิตใจมีตลอดทุกวัน แต่มันสู้กับตัวเองทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่กับกีฬากอล์ฟ แต่ว่าจะมีเรื่อยๆ ช่วงที่ผ่านมาก็ฝึกเรื่องจิตใจกับตัวเองเยอะ
อะไรลองในสนามได้ก็ลอง เช่นลองเปลี่ยนความคิดของตัวเองจากลบให้กลายเป็นบวกได้ ณ เวลาที่ลบอยู่ เป็นอะไรที่ยาก แต่พยายามลองเวลาเดินในสนาม พยายามรู้ตัวเองในทุกขณะที่เดินอยู่
Role Model ในสนามกอล์ฟ
ลิเดีย โค เขาประสบความสำเร็จเร็วมาก และเป็นคนเดิมตลอด เป็นพี่ในทัวร์ที่น่ารักมาก เวลามองคนที่เป็นต้นแบบเราไม่ได้มองที่ว่าเขาเก่ง แต่มองรอบด้านที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นวินัยที่เขามี การวางตัวหรือนิสัย จะสำคัญมากๆ สำหรับเรา
ลิเดียเป็นคนหนึ่งที่นิสัยดีมาก มีวินัยดีสุดๆ ขยันมาก ก็เลยเป็นต้นแบบ แข่งขันกับเขาเมื่อไรก็ยังมองเขาเป็นต้นแบบ รู้ว่าแข่งกันแต่ก็ยังมองเขาเป็นรุ่นพี่ตัวอย่าง ทั้งอาชีพและส่วนตัว
เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวในอาชีพ
เป้าหมายระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาเกมสั้นในกอล์ฟ ชัยชนะที่ Honda LPGA Thailand ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะรายการนี้สำคัญมาก เป็นสนามในบ้านเกิด ซึ่งหากสามารถคว้าชัยชนะได้จะเป็นสิ่งที่พิเศษมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2021 เปลี่ยนแปลงชีวิตเราเป็นอย่างมาก เป้าหมายระยะยาวคือคว้าแชมป์รายการ Major ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่อยากให้เกิดขึ้นมากๆ
มุมมองต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’
เวลาเป็นส่วนสำคัญ เวลาเป็นสิ่งเดียวที่คนทั้งโลกมีเท่ากัน ไม่มีอะไรที่คนทั้งโลกมีเท่ากันยกเว้นเวลาเลย อยู่ที่ตัวเราอยากแบ่งเวลาในแต่ละวันไปทำอะไร และเราไม่สามารถหาข้ออ้างได้ว่าเราไม่มีเวลา เพราะเรามีเวลาเท่ากัน
แค่เราจะทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน มีประโยชน์หรือปล่อยไปเฉยๆ เวลาพีคของนักกอล์ฟ โดยเฉพาะผู้หญิงมีน้อย เวลาพีคมีน้อยมาก ต้องรีบไขว่คว้ามัน
อย่างอายุ 28 ปีเป็นต้นไปของผู้หญิงก็จะเริ่มพีคน้อยลง ประมาณ 23-28 ปีก็จะเป็นช่วงพีคของผู้หญิง กอล์ฟต้องใส่ใจกับเวลา เพราะช่วงพีคมีน้อย และต้องพีคให้ถูกเวลาของร่างกายของเรา
ความรู้สึกในฐานะคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง Rolex Testimonee
รู้สึกเป็นเกียรติและรู้สึกเกินความคาดหมาย เพราะเป็นคนที่ชอบ Rolex อยู่แล้วก่อนที่จะได้เป็น
แบรนด์ที่รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ และเป็นแบรนด์ระดับโลกมากๆ ที่รู้สึกว่านักกีฬาดังๆ ที่เก่งๆ ทุกคนเขาอยู่
และเขาก็เป็นตัวแทนของ Rolex และ Rolex ก็เป็นตัวแทนของกีฬาได้ดี
รุ่นที่ชอบที่สุดของ Rolex
Rolex Day-Date Platinum ชอบเพราะสวย ชอบสีฟ้าด้วย เป็นหน้าปัด Ice Blue เป็นแชมป์แรกที่เราได้ เป็นของขวัญที่ซื้อให้กับตัวเอง
อยากสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับนักกอล์ฟไทยในฐานะ Rolex Testimonee
อยากเป็นแรงบันดาลใจให้กันนักกอล์ฟไทยรุ่นต่อไป เพราะคิดว่าเรามีนักกอล์ฟเก่งๆ มากมายแต่ไม่ค่อยออกนอกประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ยากในการไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาเกือบทั้งปี เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา และการได้เห็นนักกีฬาอเมริกันเก่งๆ แต่ไม่ได้เห็นเราแข็งแกร่งเท่าพวกเขา
ดังนั้นอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟไทยรุ่นต่อไปว่าเรามีศักยภาพ มีความสามารถ และทำได้ดีพอที่จะไปเวทีอเมริกันหรือยุโรป เราไม่ได้อ่อนแอ แต่เราแข็งแรง โดยเฉพาะจากเอเชีย เราแข็งแกร่งมากในกีฬากอล์ฟหญิง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่อยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟรุ่นต่อไป
สำหรับ Rolex Testimonee เมื่อปี 1967 อาร์โนลด์ พาลเมอร์, แจ็ค นิคคลอส และ แกรี เพลย์เยอร์ หรือเจ้าของฉายา The Big Three คือ 3 นักกอล์ฟแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนากีฬากอล์ฟอย่างต่อเนื่อง
โดยในวงการกีฬายังมีทั้ง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ อดีตนักเทนนิสเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 20 รายการ และ ไทเกอร์ วูดส์ ตำนานของวงการกอล์ฟ ก็ได้รับตำแหน่ง Rolex Testimonee เช่นเดียวกัน
ซึ่ง โปรจีน-อาฒยา ฐิติกุล เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง Rolex Testimonee จากความสำเร็จตั้งแต่วัยเยาว์ และนับเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจคนสำคัญของวงการกีฬาไทยในฐานะที่ก้าวขึ้นไปสู่ความสำเร็จระดับโลกมาแล้วหลายเวที