วันนี้ (30 สิงหาคม) จตุพร พรหมพันธุ์ กับ นิติธร ล้ำเหลือ และคณะหลอมรวมประชาชน ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ปรับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อความเหมาะสม
จตุพรเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ใจความระบุว่า การที่ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เป็นการหยุดสภาวการณ์ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์และคณะยังคงเดินเกมการเมืองเพื่อต่อท่ออำนาจที่ได้มาด้วยการรัฐประหารต่อ
‘ระบอบ 3 ป.’ คือต้นตอใหญ่ของพฤติกรรมฆ่าตัดตอนประชาธิปไตย ที่ยึดครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านกระบวนการยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจ จัดการเลือกตั้ง และกระจายขุมกำลัง ใช้อำนาจผูกขาด
‘ระบอบ 3 ป.’ คือต้นตอใหญ่ของการทำลายศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการบริหารที่ผิดพลาดล้มเหลว ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น และยังมีหนี้นโยบาย และหนี้กองทุนน้ำมันที่ซุกไว้
‘ระบอบ 3 ป.’ ทำลายศักยภาพของไทยในเวทีโลก เป็นรัฐบาลที่ไม่ทันเกม ทำลายหลักการวางตัวเป็นกลาง จนไทยไม่สามารถใช้เวที APEC เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างเต็มที่
‘ระบอบ 3 ป.’ ทำลายศักยภาพของประชาชน ละเมิดสิทธิประชาชนด้วยคดีความที่เป็นการทำลายนิติรัฐ
คณะหลอมรวมประชาชน จึงเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรยุติบทบาทในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในทันที เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และสร้างมาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ. ประยุทธ์จะเกิดความสำนึกรู้ตัวว่า ควรจะยุติบทบาททางการเมือง เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยมากกว่ารูปแบบและวิธีการ เพื่อให้ระบบการเมืองการเลือกตั้งกลับสู่ภาวะปกติ
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์ถึงการสืบทอดอำนาจ และยังขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทางออกทางการเมืองขณะนี้ คือการหยุดอำนาจของคณะ 3 ป. เพื่อยุติระบอบการปกครองอำนาจนิยม หยุดการบริหารประเทศที่รัฐบาลเป็นเพียงตัวแทนกลุ่มผู้มีอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
จตุพรกล่าวต่อว่า คณะ 3 ป. ยื้อเวลาการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ อาจนำไปสู่การปิดตายการเลือกตั้ง
ด้านนิติธรกล่าวว่า ปัจจุบันคณะ 3 ป. ปกครองโดยระบอบอำนาจนิยม ใช้รัฐธรรมนูญล็อกอำนาจเพื่อตนเอง ตัดทอนสิทธิเสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชน ใช้ ส.ว. เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ และการคงอยู่ยังทำให้ประชาชนเคลือบแคลงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญและทหารด้วย