วันนี้ (18 พฤษภาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพัก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ (สำนวนที่สอง) คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ ศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216
โดยอัยการยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยบริเวณท้องสนามหลวงไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ พล.อ. เปรม ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพวกจำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่า พล.อ. เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น)
เบื้องต้นจตุพร จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างการพิจารณาขอกลับคำให้การจากเดิมเป็นรับสารภาพและได้รับการประกันตัว
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงวินิจฉัยได้ว่า จตุพร จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในเวลานั้น นำมวลชนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์จริง รวมทั้งได้พูดปลุกระดมปราศรัยโจมตี พล.อ. เปรม และปลุกระดมให้ประชาชนทำลายเครื่องกีดขวางและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการความวุ่นวายกับคุกคามสิทธิเสรีภาพของ พล.อ. เปรม
จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานผู้สนับสนุนให้เกิดการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และสนับสนุนให้ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ต้องโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาบรรเทาโทษ ให้ลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 12 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 2 ศราวุธ หลงเส็ง ศาลพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อนี้ยังฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพยานบุคคลให้การไม่ชัดเจน และข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงแค่ขับรถเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ หรือต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โดยหลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่นำตัวจตุพรลงไปรอฟังคำสั่งคำร้องขอประกันตัวที่ห้องควบคุมตัวใต้ศาลอาญา
จตุพรเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่าเป็นไปตามที่ตนคาดหมาย ไม่ได้รู้สึกกังวลหรือหนักใจ เพราะตนเองก็ผ่านการติดคุกมาแล้วถึง 5 ครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก
ทั้งนี้ จตุพรมมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มและผ่อนคลาย ทนายความของจตุพรกล่าวว่า เตรียมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจตุพร จำนวน 2 แสนบาท และเตรียมยื่นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ.3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก นพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., วิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา