ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่ม JAS ในวันนี้ (14 มิถุนายน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรงและมาพร้อมกับมูลค่าการซื้อขายแน่น โดยหุ้น บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ปิดการซื้อขายภาคเช้าที่ 3.34 บาท เพิ่มขึ้น +0.38 บาท หรือ +12.84% มูลค่าการซื้อขาย 2,223.18 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้น บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ หรือ JTS ปิดที่ 19.60 บาท เพิ่มขึ้น +3 บาท หรือ +18.07% มูลค่าการซื้อขาย 154.43 ล้านบาท
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน หุ้น JAS ยังไม่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นและผลประกอบการ แต่หากประเมินในเชิง Momentum หุ้น JAS และ JTS น่าจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสื่อสารและบันเทิง อาทิ บริษัทข้ามชาติจากจีนอย่าง Tencent ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการด้านการวางโครงข่ายและบริการ Data Center ได้รับผลประโยชน์
อย่างไรก็ตาม เป็นปัจจัยบวกสำหรับทั้งอุตสาหกรรมไม่ใช่เฉพาะเครือ JAS เท่านั้น
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า JAS ขาดทุนไตรมาส 1/2564 ลดลง 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) กลไกหลักคือการควบรวมธุรกิจบริษัทย่อยเข้าด้วยกัน ลดความซับซ้อนธุรกิจ ส่งสัญญาณถึงขั้นพลิกมีกำไรตั้งแต่ปลายปีนี้ ซึ่งจะแน่นอนขึ้นหากการสร้างรายได้กลับมาเติบโตขึ้นมาเป็นอีกแรงเสริม
ฝ่ายวิจัยประเมินว่า หลังจากนี้ JAS จะขาดทุนไตรมาสละไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยต้นทุนบางส่วนยังลดความซ้ำซ้อนได้อีก เช่น ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้รัฐ ซึ่งคาดว่าจะช่วยชดเชยต้นทุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น Home Shopping รวมถึงการหาคอนเทนต์ใหม่ๆ บนกล่อง IPTV ซึ่งคาดว่าจะประคองต้นทุนได้
และหาก JAS เริ่มกลับมาเติบโตได้ เชื่อว่ามีโอกาสเห็นการพลิกทำกำไรปลายปี 2564 แต่ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของต้นทุนและพัฒนาการของรายได้ จึงยังคงประมาณการผลประกอบการปีนี้ขาดทุนที่ 1.5 พันล้านบาท ลดลง 49%
สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุดของ JAS ไตรมาส 1/2564 ขาดทุน 265 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 725 ล้านบาท หรือ 73% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 990 ล้านบาท และขาดทุนลดลง 662 ล้านบาท หรือ 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขาดทุน 927 ล้านบาท
สาเหตุที่ผลประกอบการดีขึ้นเป็นเพราะในไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 56 ล้านบาท คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักของบริษัทฯ ยังคงมาจากส่วนงานให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตทีวี บริการ 3BB
ขณะที่ต้นทุนบริการไตรมาส 1/2564 ลดลง 310 ล้านบาท หรือ 10% ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 49 ล้านบาท หรือ 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563
สำหรับ 3BB ณ สิ้นไตรมาส 1/2564 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 3.49 ล้านราย เมื่อหักจำนวนผู้ใช้บริการภาคองค์กร ลูกค้า Wi-Fi กลุ่ม Barter กลุ่มที่ใช้ในกิจการภายใน กลุ่มบริการเสริมอื่น และกลุ่มที่มีหนี้ค้างออก โดยจะมียอดผู้ใช้บริการสำหรับลูกค้าทั่วไปในส่วนที่เป็น Fixed Broadband และที่สามารถเก็บเงินได้ (Billable Sub) ประมาณ 2.36 ล้านราย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อราย (ARPU) 603 บาทต่อเดือน
แผนธุรกิจปี 2564 จากการระบาดโควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค เกิดเป็น New Normal ผู้คนต้องทำงานหรือเรียนจากที่บ้านมากขึ้น แม้จะเป็นผลดีต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่ผลกระทบของภาวะโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการแย่งชิงลูกค้าและการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก
บริษัทจึงมีแผนมุ่งเน้นให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตด้วยไฟเบอร์คุณภาพสูงที่มาพร้อมกับบริการเสริมต่างๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มอรรถประโยชน์ให้กับลูกค้า ตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการให้ครอบคลุมด้านต่างๆ สร้างความผูกพันต่อแบรนด์ 3BB ให้มากขึ้น และทำให้อัตราการยกเลิกบริการ (Churn Rate) ลดลง
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น