×

Japonisme หนังสือที่ทำให้เราเข้าใจอิคิไก การอาบป่า วะบิซะบิ และการนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเป็นพลังใจในการสู้ชีวิต

10.11.2019
  • LOADING...
อิคิไก

Japonisme เป็นหนังสือผลงานเขียนของ เอริน นิอิมิ ลองเฮิร์สต์ นักเขียนและบล็อกเกอร์ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อังกฤษ ที่ใช้ชีวิตผสมผสานหลายวัฒนธรรมทั้งที่ ลอนดอน โซล นิวยอร์ก และหลายเมืองในประเทศญี่ปุ่น อาชีพหลักของเธอคือที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ที่แต่ละวันวิ่งวุ่นไปข้างหน้า ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอเขียนในหนังสือเล่มนี้ ที่ชวนให้เราใช้เวลาแต่ละบทอย่างรุ่มรวย เชื่องช้า มองหาความงดงามเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตที่คนอ่านน่าจะหยิบจับหลายประเด็นไปใช้เป็นยารักษาใจได้

 

“ฉันเชื่อว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายอย่างนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้…สำหรับพวกเราที่รู้สึกว่างานหนัก กังวล แห้งเหี่ยว เครียด หรือเร่งร้อนเกินไป หลายครั้งเราต้องพบความยุ่งยาก ตึงเครียด และบีบคั้น เรารู้สึกกดดันอยู่ตลอดว่าทุกสิ่งที่เราทำต้องสมบูรณ์แบบ…แต่การใช้ชีวิตแบบนี้ทั้งไม่ปลอดภัย และไม่ได้คำนึงถึงความวุ่นวายไร้ระเบียบของชีวิตที่แท้จริง”

 

Japonisme เป็นคำที่เริ่มใช้ในปลายศตวรรษที่ 19 ใช้อธิบายความคลั่งไคล้ของโลกตะวันตกในวัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร และการออกแบบของญี่ปุ่น ประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเองยาวนานกว่า 220 ปีหลังแพ้สงคราม และส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศต่างๆ อย่างชัดเจน

 

หนังสือแบ่งออกเป็น 3 บทใหญ่ๆ 

 

1) โคโคโระ (Kokoro) – ความคิดและจิตใจ ซึ่งอธิบายศาสตร์ของอิคิไก สิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย, วะบิซะบิ ความงามในความไม่สมบูรณ์ และ คินสึงิ ความยากลำบากและช่วงเวลาที่หล่อหลอมเรา 

 

2) คาราดะ (Karada) – ร่างกาย การที่เราปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างไร ทั้งเรื่องอาหาร ชา การแช่น้ำ และการเขียนตัวอักษร ซึ่งในบทนี้จะทำให้เราเข้าใจแง่มุมเชิงลึกที่ญี่ปุ่นมีต่อกิจกรรมเหล่านี้ ที่ทำให้ร่างกายเราเชื่อมโยงกับจิตใจ ในส่วนของอาหาร ผู้เขียนได้แทรกเมนูอาหารญี่ปุ่นน่าสนใจเอาไว้หลายเมนูด้วย และบทสุดท้าย 

 

3) ชูกังกะ (Shukanka) การหาหนทางนำสิ่งต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้กลายเป็นนิสัยและกิจวัตรประจำวัน

 

ตลอดทั้งเล่มอ่านง่าย ใช้ภาษาเข้าใจง่าย และหลายสิ่งที่ผู้เขียนเล่าถึงนำมาใช้ได้จริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเช่น สังคมญี่ปุ่นเคารพพื้นที่ส่วนรวม นั่นทำให้คนที่สูบบุหรี่จะพกที่เขี่ยบุหรี่แบบพกพาเพื่อไม่ทิ้งขยะลงบนถนน, การจัดระเบียบ พับผ้า เก็บบ้าน นอกจากจะได้นิสัยความเป็นระเบียบ ยังทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, เขียนบันทึกขอบคุณตัวเองทุกวัน แม้กระทั่งวันที่สิ้นหวัง, ความยากลำบากล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอดีต ตัวตน และเรื่องราวของเรา ไม่มีอะไรเสียหายอย่างแท้จริง ต่อให้น่าเจ็บปวดสักแค่ไหนในตอนแรก, การอาบป่า หรือการเยียวยาด้วยธรรมชาติที่โอบล้อมช่วยลดระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต, ซูชิกินคำเดียวและเคี้ยวช้าๆ เพื่อดื่มด่ำรสชาติและสมดุลของสัมผัส, พิธีชงชาช่วยสลายความกดดันจากชีวิตการทำงานในแต่ละวัน, เทคนิคไม้แขวนเสื้อเพื่อลดปริมาณเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็น ฯลฯ

 

หนังสือเล่มนี้แยกเป็นตอนย่อยๆ ซึ่งเหมาะกับการอ่านซ้ำ ทำซ้ำ และอย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ในเล่ม “เดินก้าวเล็กๆ แต่ทำซ้ำๆ” คือไม่จำเป็นต้องเร่งรัดทำทุกอย่างในครั้งเดียว ให้เราหาวิธีง่ายๆ เพื่อนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของแต่ละคน 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI

หนังสือ Japonisme

เขียนโดย Erin Niimi Longhurst 

แปลโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

สำนักพิมพ์ broccoli

ราคา 490 บาท 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising