แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการออกมายืนยันว่าโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะเดินหน้าจัดตามกำหนดการระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม จากทั้งฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่น และ โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ของโรคที่มีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 130,000 คนภายใน 123 ประเทศทั่วโลก
แต่ล่าสุดทาง The Japan Times สื่อญี่ปุ่น ได้รายงานว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือ BOJ กำลังศึกษาผลกระทบของการตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกในการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้
โดย BOJ คาดว่าจะออกนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเร่งจากความต้องในช่วงของการแข่งขันโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม
แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากต้องตัดสินยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น
“คุณต้องเตรียมพร้อมหากมีการยกเลิกการแข่งขันและผลกระทบที่จะตามมา” The Japan Times เผยคำพูดของเจ้าหน้าที่เผยถึงการพิจารณาในตอนนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันว่าการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจะเดินหน้าตามกำหนดการเดิม ขณะที่การแข่งขันกีฬาทั่วโลกตามฤดูกาลปกติทั้งฟุตบอล 5 ลีกหลักของยุโรปได้ตัดสินใจระงับการแข่งขันรวมถึงกีฬาระดับเมเจอร์ในสหรัฐฯ วงการมอเตอร์สปอร์ต เทนนิส และกอล์ฟทั่วโลก ได้ตัดสินใจระงับ ยกเลิก หรือเลื่อนจากการแข่งขันจากสถานการณ์ของโควิด-19 แล้ว
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020 สื่อต่างประเทศรายงานว่า จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อครัวเรือนและองค์กรต่างๆ เพราะการบริโภคในส่วนต่างๆ จะเกิดการชะงักตัว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 66,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4% ของ GDP ในประเทศญี่ปุ่น
ส่วนโอลิมปิก หากตัดสินใจเลื่อนการแข่งขัน มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องว่าอาจทำการเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหมายความว่าในปี 2022 จะมีมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งฟุตบอลโลกที่กาตาร์และโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจัดขึ้นในปีเดียวกันเกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: