การสำรวจรายไตรมาสล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยให้เห็นว่าครัวเรือนญี่ปุ่นยังคงเป็นยอดนักออม เนื่องจากมีเงินสดและเงินออมมากกว่า 1 พันล้านล้านเยน หรือประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2023 โดยปริมาณ 1 พันล้านล้านเยนนั้นใกล้เคียงกับจำนวนดวงดาวทั้งหมดใน 10,000 ทางช้างเผือกรวมกัน หรือเทียบเท่าจำนวนเซลล์ในร่างกายของผู้ชายวัยผู้ใหญ่จำนวน 28 คนรวมกันโดยประมาณ
รายงานระบุว่า เงินสดคิดเป็น 52.6% ของสินทรัพย์ทางการเงินในครัวเรือนญี่ปุ่น ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากสภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ทำให้ครัวเรือนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ประหยัดอดออมมากกว่าการใช้จ่าย ซึ่งจากข้อมูลของ BOJ ณ เดือนมีนาคม 2023 พบว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ในครัวเรือนที่ถือเป็นเงินสดในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่เพียง 12.6% และในยูโรโซนที่ 35.5%
อย่างไรก็ตาม BOJ พบว่าความชอบในการสั่งสมความมั่งคั่งของครัวเรือนชาวญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป เห็นได้จากมูลค่ารวมของสินทรัพย์ครัวเรือนในหุ้นในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 29.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การออมเงินสดเพิ่มขึ้นเพียง 1%
Tomo Kinoshita นักกลยุทธ์การตลาดระดับโลกที่ Invesco Asset Management ชี้ว่า ทัศนคติในการลงทุนกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากตลาดที่พุ่งสูงขึ้นทำให้หลายครัวเรือนเห็นผลตอบแทนที่ได้มากกว่าการออม โดย Kinoshita ประเมินว่า ราว 1 ใน 10 ครัวเรือนในญี่ปุ่นมีรายได้จากการลงทุนในตลาดหุ้น 6 ล้านเยน ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ หลังดัชนี Nikkei 225 Stock Average ปิดตลาดทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งเกินระดับสูงสุดครั้งก่อนในปี 1989 และยังเป็นการขยับขึ้นทะลุแนวจิตวิทยาเป็นครั้งแรก
รายงานระบุว่า แนวโน้มที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้งหลังจากตกต่ำมานานหลายทศวรรษ ทำให้รัฐบาลพยายามหามาตรการสนับสนุนจูงใจให้ชาวญี่ปุ่นนำเงินออมไปลงทุนในตลาดเพื่อความมั่งคั่งเพิ่มเติม เช่น ล่าสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งจะยกเครื่องปรับปรุงระบบบัญชีออมทรัพย์ส่วนบุคคลปลอดภาษี Nippon หรือ Nippon Individual Savings Account (NISA) ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดน่าสนใจมากขึ้นด้วยการยกเลิกการจำกัดระยะเวลาการจ่ายเงินปันผล ขณะที่การเพิ่มทุนอื่นๆ สามารถรับการยกเว้นภาษี ยกเลิกเงินสมทบรายปี และเพิ่มวงเงินการลงทุนได้มากขึ้นเป็น 2 เท่าหรือมากกว่า
อ้างอิง: