×

สนุกปนสยองไปกับ 5 การ์ตูนผีญี่ปุ่นจากยุค 90s ที่เราคิดถึง

25.10.2018
  • LOADING...

การ์ตูนแนวสยองขวัญในปัจจุบันมักจะนิยมเนื้อเรื่องยาวอย่างการฆาตกรรม เกมเดิมพันชีวิต สัตว์ประหลาด ความน่ากลัวของจิตใจมนุษย์ที่ลึกลับซับซ้อน ในขณะที่การ์ตูนสยองขวัญยุค 90s กลับเล่าเรื่องภูติผีพื้นบ้าน ตำนานเมือง และเรื่องลึกลับจากทางบ้าน

 

และนี่คือ 5 การ์ตูนผีญี่ปุ่นยุค 90s ที่เราคิดถึง ซึ่งกลับไปอ่านกี่ทีก็ยังสนุกปนสยอง และในบางเรื่องบางตอนได้กลายเป็นตำนานเรื่องเล่าของผีญี่ปุ่นที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี

 

 

ชั่วโมงเรียนพิศวง

เรื่องและภาพโดย โยสุเกะ ทากาฮาชิ

สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (15 เล่มจบ)

การ์ตูนสยองขวัญสุดคลาสสิกยุค 90s ที่เรานึกถึงเป็นเรื่องแรก แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยเล่ม 1-5 เล่าเรื่องสุดสยองของ ยามางิชิ นักเรียนมัธยมที่เจอกับเรื่องราวประหลาด ลึกลับ และความตายแบบจบเป็นตอนๆ (ที่ตายซ้ำตายซ้อนได้ทุกตอน) มีตั้งแต่เรื่องคลาสสิกของผีญี่ปุ่นอย่างวิญญาณแค้น ไปจนถึงเรื่องที่เล่าได้ยากซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเรื่องนี้อย่างเรื่องเสียงหลอนที่ได้ยินอยู่คนเดียว, พื้นที่ที่ค่อยๆ แคบลงจนบีบอัดร่างกาย, คำสาปของผู้หญิงที่มีงูอยู่ในปาก ไปจนถึงตำนานเมืองคลาสสิก

 

ส่วนที่สองของ ชั่วโมงเรียนพิศวง เป็นเหมือนการเปิดภาคใหม่ (เล่ม 6-15 ) ยามางิชิกลายเป็นตัวละครหลัก (ที่ไม่ตายหายเป็นตอนๆ อีกต่อไป) แต่มีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเดินเรื่องให้ต่อเนื่องอย่าง คุดัง คุกิโกะ อาจารย์ประจำชั้นที่เรียกตัวเองว่าแม่มด กับเหล่านักเรียนในห้องที่ต้องเจอกับผีและความสยอง โดยมีอาจารย์คุดังคอยปกป้องช่วยเหลือ และตัวละครลึกลับมากมายอย่าง คุณพี่สุดหล่อ ที่จะโผล่เข้ามาพร้อมกับเรื่องราวประหลาดๆ

 

ชั่วโมงเรียนพิศวง ยังหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือการ์ตูนเก่า แต่ราคาอาจสูงขึ้นมาหน่อย เพราะค่อนข้างโด่งดังสำหรับนักสะสมการ์ตูนแนวสยองขวัญในยุคนั้น

 

 

มืออสูรล่าปีศาจ

เรื่องโดย โช มาคุระ

ภาพโดย ทาเคชิ โอกาโนะ

สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ (31 เล่มจบ) / ภาคใหม่ มืออสูรล่าปีศาจ NEO (1-15 ยังไม่จบ)

“นะโม ไดจิ ไดฮิ คิวงุ คิวนัน…” คาถาปล่อยพลังมืออสูรที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ผ่านไปกี่ปีก็ยังจำได้ มืออสูรล่าปีศาจ เล่าเรื่องของ นูเอโนะ เมสุเกะ หรือครูนูเอโนะ ที่มีมือซ้ายกักเก็บอสูรไว้ และมีพลังคอยปกป้องเหล่าเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมโดโมริจากภูติผีปีศาจ

 

 

มืออสูรล่าปีศาจ โดดเด่นด้วยเรื่องเล่าสยองขวัญประจำโรงเรียนที่สนุกและน่าติดตามอย่าง ตุ๊กตาพละที่ออกมาวิ่งเล่นยามกลางคืน, บันได 13 ขั้น, คุณฮานาโกะ ผีห้องน้ำ, ภาพโมนาลิซ่ากินคนในห้องศิลปะ และตำนานเมืองที่เหล่าเด็กนักเรียนในวัยอยากรู้อยากเห็นออกไปตามล่าจนเจอกับเหตุการณ์สุดสยองที่ครูนูเอโนะต้องคอยยื่นมือ (อสูร) เข้ามาช่วยทุกครั้งอย่าง ผีสาวปากฉีก, ภูติแห่งโชคลาภ, ศาลเจ้าตัดคอ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวละครหลักมากมายอย่าง เจ้าหญิงหิมะ (ยูคิเมะ) หรือปีศาจจิ้งจอก

 

มืออสูรล่าปีศาจ เล่าเรื่องแบบจบเป็นตอนๆ และจบแบบหลายๆ ตอนสำหรับพาร์ตของภูติผีที่เป็นปมปัญหาหลักและจุดกำเนิดของมืออสูร รวมถึงเล่าเรื่องราวมิตรภาพของเด็กๆ ห้อง ป.5/3 และครูนูเอโนะได้สนุก ซาบซึ้ง มีความทะลึ่งตึงตัง ตลก และชวนให้ติดตามจนทำให้เราติดหนึบขนาดที่เรียกได้ว่าชีวิตวัยเด็กต้องคอยวนเวียนแถวร้านการ์ตูนเพื่อถามว่า มืออสูรล่าปีศาจ เล่มใหม่มาหรือยังเลยทีเดียว

 

 

ปัจจุบัน มืออสูรล่าปีศาจ เพิ่งกลับมาออกภาคใหม่ มืออสูรล่าปีศาจ NEO ได้ 15 เล่ม (เล่าเรื่องราวต่อจากภาคก่อน เป็นช่วงที่เด็กๆ ป.5/3 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และตัวละครเด็กประถมห้องใหม่ที่ครูนูเอโนะดูแล) ยังหาซื้อได้ตามร้านหนังสือการ์ตูนทั่วไป

 

 

ผีซ่าส์กับฮานาดะ

เรื่องและภาพโดย มาโกโตะ อิชิกิ

สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (5 เล่มจบ)

เรื่องราวของ อิจิโระ เจ้าเด็กแสบประจำเมืองที่ดันโดนรถบรรทุกชนจนสาหัส แต่กลับฟื้นกลับขึ้นมาพร้อมความสามารถพิเศษอย่างการเห็นผี เลยเกิดเป็นเรื่องราวป่วนๆ ปนสยองระหว่างเด็กแสบกับเหล่าภูติผีที่ทยอยมาขอความช่วยเหลือจากอิจิโระให้ช่วยฟังคำขอร้องในการไปทำภารกิจต่างๆ เพื่อให้วิญญาณของตัวเองไปสู่สุคติ

 

ความสนุกของ ผีซ่าส์กับฮานาดะ นอกจากความสยองขวัญแล้วต้องยกย่องให้กับความตลกและเนื้อเรื่องที่ชวนประทับใจกับการเติบโตของอิจิโระ จากเจ้าเด็กแสบคนหนึ่งที่ค่อยๆ เติบโตไปกับภารกิจช่วยเหลือภูติผีจนกลายเป็นอิจิโระในแบบที่เราคาดไม่ถึง ฉากดราม่าต่างๆ ในเรื่องเรียกได้ว่าเป็นระดับมาสเตอร์พีซสำหรับแนวดราม่าคอเมดี้ที่ชวนให้ติดตามและผูกพันกับเหล่าตัวละครเหมือนได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน และทรงพลังด้วยหลายฉากเรียกน้ำตา เป็นการ์ตูนเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนที่รู้จักและได้อ่านร้องไห้ได้แบบไม่อาย

 

ผีซ่าส์กับฮานาดะ ออกมา 4 เล่มจบ และมีเล่ม 5 ที่เป็นภาคเล่าพิเศษ ล่าสุดสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเพิ่งนำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งให้นักสะสมได้สะสมกันแบบครบเซต

 

 

ก้นหอยมรณะ

เรื่องและภาพโดย จุนจิ อิโต้

สำนักพิมพ์ NED (พิมพ์ล่าสุดในไทย 1 เล่มจบ ฉบับพิมพ์ก่อนหน้า 3 เล่มจบ)

งานปี 1998 ของปรมาจารย์ด้านการ์ตูนสยองขวัญ จุนจิ อิโต้ ว่าด้วยเรื่องของเมืองที่ต้องคำสาป ‘ก้นหอย’ ที่ผู้คนในเมืองต่างๆ เริ่มเจอกับเรื่องราวประหลาดที่เชื่อมโยงกับรูปก้นหอย หอยทาก และการบิดเป็นเกลียว กับการค้นหาคำตอบของตัวเอกว่าทำไมเมืองจึงต้องคำสาป โดยเล่าเหตุการณ์สยองขวัญที่ผู้คนในเมืองค่อยๆ ถูกสาปในรูปแบบต่างๆ กันไป ทั้งการกลายเป็นหอยทาก ร่างกายที่ค่อยๆ บิดเกลียวลงสู่ทะเล เล่าผ่านลายเส้นน่าขนลุกที่เมื่อได้อ่านแล้วจะไม่อยากมองวงกลมๆ ไปอีกสักพัก

 

ก้นหอยมรณะ นับเป็นผลงานคลาสสิกของอาจารย์จุนจิ อิโต้ ที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักในเมืองไทย พร้อมๆ กับผลงานคลาสสิกอื่นๆ อย่าง โทมิเอะ (หญิงสาวปริศนาที่ไม่มีวันตายและแยกร่างไปได้เรื่อยๆ แรงบันดาลใจไปสู่ตัวละครแนนโน๊ะในซีรีส์ของบ้านเราในปัจจุบัน), ปลามรณะ และ คลังสยองขวัญลงหลุม

 

ก้นหอยมรณะ ถูกตีพิมพ์ใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยสำนักพิมพ์ NED เจ้าของลิขสิทธิ์เดิม แต่ปรับรูปเล่มใหม่จาก 3 เล่มจบเป็นจบในเล่ม (ใหญ่) ที่ยังหาซื้อได้ตามร้านหนังสือการ์ตูนทั่วไป

 

 

โรงเรียนเฮี้ยน

เรื่องโดย ทาดาชิ อากิ

ภาพโดย มิยูกิ ฮิกิตะ

สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (5 เล่มจบ)

โรงเรียนเฮี้ยน คือการ์ตูนผีและเรื่องลึกลับในโรงเรียนที่จัดว่าคลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่ง ความน่ากลัวคือผู้เขียนหยิบเอาเรื่องเล่าสยองขวัญของนักเรียนประถม-มัธยมญี่ปุ่นจากเมืองต่างๆ ที่ส่งจดหมายเข้ามา ซึ่งการเล่าเรื่องมีดีเทลที่ดูสมจริงและลงลึก ทำให้เรื่องราวและภาพที่ออกมาสร้างความน่ากลัวมากกว่าการ์ตูนสยองขวัญในช่วงเดียวกัน

 

ตอนที่เป็นเรื่องเล่ากันมาจนถึงปัจจุบันในระดับที่ชาวกระทู้พันทิปยกให้เป็นหนึ่งในการ์ตูนผีที่น่ากลัวที่สุดอย่าง ‘เดวิด’ เด็กนักเรียนที่โดนแกล้งจนหายสาปสูญจากการจมน้ำและทำรองเท้าหาย เดวิดออกมาตามล่านักเรียนในห้องทีละคนโดยการถามว่า  “เห็นรองเท้าไหม” และใครที่ตอบไม่ได้จะถูกฆ่าตาย โดยมีฉากคลาสสิกอย่างการโทรศัพท์ว่าจะมาหาที่บ้านและการไล่ตามในวันฝนตก

 

โรงเรียนเฮี้ยน เป็นอีกเรื่องที่ปัจจุบันถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่และยังหาซื้อได้อยู่เช่นกัน ใครที่เคยอ่านคงรู้คำตอบกันแล้วว่ารองเท้าของเดวิดอยู่ที่ไหน และต้องตอบอย่างไรจึงจะมีชีวิตรอด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising