ผู้เล่น 22 คนในสนาม ผู้ชมอีกกว่า 58,000 คนบนอัฒจันทร์
ไม่มีสักคนที่จะมีเรื่องราวแบบเดียวกัน ต่อให้คล้ายแค่ไหนก็มีความต่างในความทรงจำของเกมฟุตบอลนัดหนึ่งที่พวกเขาจะคิดถึงตลอดไป
เรากำลังพูดถึง ‘冬の国立 Fuyu no Kokuritsu’ หรือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลายแห่งชาติของญี่ปุ่นครับ รายการฟุตบอลที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงและคิดถึงในความรู้สึกของแฟนฟุตบอลจำนวนมากที่ได้นั่งชมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด – ซึ่งช่อง BG Sports นำมาเสนอให้แก่ผู้ชมชาวไทยเป็นชาติแรกของโลก นอกจากชาวญี่ปุ่นที่ได้ชมการแข่งขันรายการนี้ – หรือไฮไลต์การแข่งขันสำหรับบางคนที่ได้ชมไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เก็บเกี่ยวทีเดียวเชียวจากการแข่งขันรายการนี้
เพียงแต่ก่อนจะไปไกล ผมคิดว่าเราควรจะได้ทำความรู้จักกับ 冬の国立 Fuyu no Kokuritsu กันสักเล็กน้อย
冬の国立 Fuyu no Kokuritsu (Winter Kokuritsu) เป็นชื่อการแข่งขันฟุตบอลประจำปีของโรงเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศญี่ปุ่น ตามชื่อรายการแข่งขันเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า All Japan High School Soccer Tournament
ปกติแล้วการแข่งขันฟุตบอลระดับชั้นมัธยมในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 รายการใหญ่ด้วยกัน แต่ที่เป็นที่กล่าวถึงและอยู่ในความทรงจำสำหรับคนจำนวนมาก ผ่านสื่อที่กลายเป็นสารแห่งวัฒนธรรมอย่างมังงะกีฬาคือ ‘อินเตอร์ไฮ’
รายการเดียวกับที่สมาชิกทีมฟุตบอลคาเคงาวะที่นำโดย โทชิฮิโกะ ทานากะ, คาซึฮิโระ ฮิรามัตสึ และ เคนจิ ชิราอิชิ รวมถึงกัปตันทีม อัตสึชิ คามิยะ ต้องการพิชิตเพื่อสานต่อความฝันของ คุโบะ โยชิฮารุ ผู้สร้างตำนานลากผ่านผู้เล่นทั้งสนามก่อนยิงประตูและยืนสิ้นใจ
อินเตอร์ไฮ – Inter High School Sports Festival หรือ Inter-High (インターハイ) – จะเป็นรายการแข่งขันประจำช่วงฤดูร้อนที่จัดขึ้นโดย All Japan High School Athletic Federation หรือสหพันธ์โรงเรียนมัธยมญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1965 เก่าแก่น้องๆ รายการฟุตบอลยูโรเปียนคัพที่ปัจจุบันคือยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
อีกรายการหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าเพราะเพิ่งเริ่มแข่งขันเมื่อปี 1990 คือ ถ้วยเจ้าชายทาคามาโดะ (Prince Takamado Cup) ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามของ เจ้าชายโนริฮิโตะ ทาคามาโดะ ‘เจ้าชายแห่งวงการกีฬา’ ของประเทศญี่ปุ่น
แต่รายการฟุตบอลที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดคือ Fuyu no Kokuritsu ที่เริ่มแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 1917 ปัจจุบันการแข่งขันดำเนินมาถึงครั้งที่ 103 แล้ว
เราอาจเปรียบได้ว่ารายการนี้คือ ‘ฟุตบอลโลก’ ของเด็กมัธยมญี่ปุ่นก็ว่าได้ครับ
หรือความจริงแล้วมันคือ ‘โลกทั้งใบ’ ของพวกเขา
ไม่ว่าจะโรงเรียนไหนก็ตามที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ระยะสั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ต้องเก็บตัวฝึกซ้อมมาอย่างหนักหน่วง ซ้อมมื้อเช้า ซ้อมมื้อเย็น วันหยุดก็ไม่เว้น
ที่ต้องพยายามกันมากขนาดนั้น เพราะราคาของความฝันมันแพงแสนแพง
แต่มันก็ให้ผลตอบแทนที่แสนคุ้มค่าเช่นกัน
จากจุดเริ่มต้นอย่างการสมัครเข้าชมรมฟุตบอล ไปสู่การได้ใช้จ่ายวันเวลากับเพื่อนร่วมทีม เพื่อร่วมกันทำอะไรสักอย่างที่มีความหมายไปด้วยกัน
และสำหรับบางคน – พวกเขาอาจพบดอกไม้และความรักระหว่างทาง – เหมือนในภาพฝันของมังงะ ที่ชมรมมักจะมีผู้จัดการทีมนักเรียนสาวน่ารัก นิสัยดี มาแต่งแต้มสีสันให้ชีวิตได้ค้นพบความหมายมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะเป็นรุ่นน้องสักคนที่ประทับใจในความทุ่มเท
โดยที่หัวใจจะถูกทดสอบมากที่สุดสำหรับนักฟุตบอลที่เรียนอยู่ในระดับชั้นปี 3 ของไฮสคูล
เพราะนี่คือปีสุดท้ายสำหรับพวกเขา ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกแล้ว
Now or Never
องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ทำให้การแข่งขันรายการนี้ ซึ่งแข่งขันกันในช่วงกลางฤดูหนาวของญี่ปุ่น เร่าร้อนขึ้นมาด้วยแรงใจและไฟฝัน จนถึงจุดที่อุณหภูมิของหัวใจสูงที่สุดในเกมนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว
ปีนี้นัดชิงชนะเลิศเป็นการพบกันระหว่างทีมโรงเรียนมาเอะ บาชิ อิคุเออิ จากจังหวัดกุนมะ พบกับริวสึ เคไซ คาชิวะ จากจังหวัดชิบะ
โดยที่เรื่องราวเบื้องหลังทั้งสองโรงเรียนนี้เคยพบกันมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 2017 ซึ่งมาเอะ บาชิ อิคุเออิ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะไปได้ในครั้งนั้น
ถึงแม้ว่าจะเคยอ่านมังงะฟุตบอลญี่ปุ่นมานานแค่ไหน ส่วนตัวผมไม่เคยได้เห็นภาพบรรยากาศการแข่งขันของจริงผ่านการถ่ายทอดสดแบบนี้มาก่อนเลย
และภาพนั้นงดงามกว่าที่คาดมากครับ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องคุณภาพของการถ่ายทอดสดที่ดีมากๆ
แต่เป็นเกมในสนาม ที่เราได้เห็นการต่อสู้กันของผู้เล่นสองทีมที่ต่างห้ำหั่นกันในเชิงของเกมลูกหนัง
คุณภาพของเกมการแข่งขันนั้นผมเชื่อว่าคนที่ได้ชมเห็นตรงกันว่า ถ้าไม่บอกว่าเป็นเกมระดับเด็กมัธยม ก็คงคิดว่าเป็นการแข่งขันลีกฟุตบอลอาชีพดีๆ เลย เพราะคุณภาพของเกมนั้นสูงเกินเด็กไปมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของความฟิตและความสดของร่างกาย แต่รวมถึงทักษะการเล่นและความเข้าใจเกมฟุตบอล
ที่สำคัญคือพวกเขาสู้กันด้วยเทคนิค ชิงไหวชิงพริบกันด้วยแท็กติก
เห็นภาพสเต็ปเท้าของคาเมดะที่แหวกกองหลังก่อนทำประตูนำให้ริวสึ เคไซ คาชิวะ และจังหวะไขว้ดึงบอลหลอกที่สุดเส้นหลังของคุโรซาวะ ก่อนเปิดเข้ากลางมาด้วยน้ำหนักพอดีสุดๆ ให้ชิบาโนะโขกตีเสมอให้มาเอะ บาชิ อิคุอิเอ ตีเสมอแล้วผมอดคิดภาพตามเป็นมังงะช็อตต่อช็อตไม่ได้
เหมือนเราได้เห็นท่าไม้ตายทีเด็ดของตัวละครอย่างไรอย่างนั้น
สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของสปิริตน้ำใจนักกีฬา
เราเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องมีใครบอกว่าเด็กๆ ทั้งสองโรงเรียนนั้นมีทัศนคติแบบไหนในการเล่นกีฬา
สิ่งเหล่านี้ทำให้การแข่งขันนี้บริสุทธิ์ เป็น ‘Pure football’ ที่แท้จริง
โดยที่กองเชียร์ที่อยู่บนอัฒจันทร์อีกเกือบ 60,000 คนนั้นก็คงได้บางสิ่งบางอย่างกลับไปจากวันนี้ด้วยเหมือนกัน
เกมนั้นสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และต้องสู้กันถึงฎีกา ที่แม้แต่การดวลจุดโทษก็ชวนหัวใจจะวาย
ก่อนที่สุดท้ายมาเอะ บาชิ อิคุเออิ จะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้แบบสุดเดือดในการดวลจุดโทษ 9-8 โดยได้ฮีโร่ของทีมคือกัปตันทีมอย่างฟุจิวาระที่เซฟจุดโทษลูกที่ 9 ได้ (คิดถึงวากาบายาชิขึ้นมาอีกแล้ว) ก่อนที่ชิมาโนะจะยิงเป็นคนสุดท้าย พาทีมเป็นแชมป์ได้สำเร็จ
วินาทีนั้นเองเป็นวินาทีที่อารมณ์ ความรู้สึก ความฝัน และความหวัง ทุกอย่างถูกระเบิดออกมาพร้อมกัน เป็นวินาทีชีวิตที่งดงามที่สุด
เราได้เห็นทั้งรอยยิ้มของผู้ชนะ น้ำตาของผู้แพ้ และการสวมกอดซึ่งกันและกัน
ไม่ว่าจะจบอย่างไร แต่ ‘มันจบแล้ว’
แต่ไม่ว่าเส้นทางของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีคนได้ก้าวต่อไปเป็น ‘โปร’ กี่คน และกี่คนที่ต้องปล่อยความฝันให้เป็นความฝันต่อไป
พวกเขาทุกคนต่างได้ของรางวัลติดตัวเป็นกล่องความทรงจำที่แสนล้ำค่า
ไม่มีอะไรที่แลกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีทางและไม่มีวัน
ผมจบการเขียนวันนี้พร้อมกับจิบกาแฟอึกสุดท้ายที่คลายความอุ่นลงไปมากแล้ว เพราะใช้เวลาในการบรรจงร้อยเรียงเรื่องราว
กาแฟเย็นชืดไปมากแล้ว แต่ยังพอสัมผัสได้ถึงรสชาติที่ดี
สายลมหนาวปะทะใบหน้าเบาๆ
ฤดูหนาวนั้นฉันเคยฝันถึงเกมฟุตบอล และฉันคิดถึงเธอขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ
- บางคนมีรายการนี้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เช่น ชุนสุเกะ นากามูระ หรือ เคสุเกะ ฮอนดะ สองนักเตะระดับตำนานที่เคยลงชิงชัยถ้วยรายการนี้มาแล้ว รวมถึง เจฟเฟอร์สัน ทานิบาส แบ็กบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็เคยลงแข่งรายการนี้มาก่อน
- มีช่วงเดียวที่การแข่งขันหยุดไปคือระหว่างปี 1941-1945 เพราะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2