เราอาจจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า การยืนกีดขวางบนบันไดเลื่อนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ควรยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งของบันไดเลื่อน เพื่อเว้นเป็นทางเดินให้สำหรับคนรีบได้เดินขึ้นไปก่อน มีการรณรงค์กันอยู่หลายแห่ง แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ตาม
‘โตเกียวมักนิยมยืนชิดซ้าย ส่วนโอซาก้ามักยืนชิดขวา’ มาได้อย่างไร
การยืนชิดฝั่งซ้ายหรือขวาของคนญี่ปุ่นนั้นมีหลายคนให้ความเห็นไว้ว่า น่าจะเริ่มมาจากปี 1970 ที่โอซาก้าเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Expo ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นของคนญี่ปุ่น มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจมาก จึงรับเอาวัฒนธรรมจากต่างประเทศ (คาดว่าเป็นจากลอนดอน) ที่ยืนชิดขวามาใช้ในโอซาก้า และขยายไปยังเมืองใกล้เคียง ทำให้ภูมิภาคคันไซส่วนมากจะยืนชิดขวา
ส่วนคนโตเกียวที่นิยมยืนชิดซ้าย เพราะใช้หลักความคิดเดียวกับคนขับรถ พวงมาลัยขวา ชิดซ้ายไปนิ่งๆ ใครอยากแซงให้ขึ้นทางขวาล่วงหน้าไปเลย
แต่วันนี้โตเกียวเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ เพราะมีการเริ่มรณรงค์งดเดินบนบันไดเลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าหลายแห่งติดป้ายขอความกรุณาไม่เดินและหยุดยืนบนบันไดเลื่อน
แต่ตอนนี้บริษัทใหญ่อย่าง JR-East Railway Company เริ่มรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังที่สถานีรถไฟโตเกียวก่อนเป็นที่แรก ด้วยการจัดให้เจ้าหน้าที่ยืนประกาศ ขอความกรุณางดเดินบนบันไดเลื่อน ถ้าท่านใดรีบก็ให้ใช้บันได รวมไปถึงติดป้ายงดเดินบนบันไดเลื่อนตัวใหญ่ๆ ในสถานีรถไฟ และเปลี่ยนสีราวจับของบันไดเลื่อนเป็นสีชมพูเพื่อให้สังเกตได้ชัด
การรณรงค์ครั้งนี้เริ่มจริงจังเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผ่านไปเพียง 2-3 วัน จำนวนคนที่หยุดยืนบนบันไดเลื่อนมีมากขึ้น แม้จะมีเสียงคนเดินตามหลังมาต่อว่าว่าให้รีบขยับเดินขึ้นไป เกะกะ กีดขวาง ซึ่งเป็นเสียงของความเคยชินยังคงมีอยู่บ้างก็ตาม
การรณรงค์เน้นไปที่สามอย่างหลักๆ คือ ยืนสองด้านซ้ายขวา มือจับราวบันไดเลื่อน ใครจะเดินให้ใช้บันได
รายงานตัวเลขจากหน่วยงานดับเพลิงญี่ปุ่น (Fire and Disaster Management Agency) ระบุว่า ทุกปีมีคนได้รับบาดเจ็บและต้องหามส่งโรงพยาบาลจากการเดินบนบันไดเลื่อนไม่ต่ำกว่าพันคน สถิติตัวเลขย้อนหลังไป 5 ปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการใช้บันไดเลื่อนราว 7,000 คน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนการใช้บันไดเลื่อนเพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การรณรงค์อย่างจริงจังลักษณะนี้จะมีไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งคาดว่าคนใช้บันไดเลื่อนในโตเกียวและขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มคุ้นเคยและกลายเป็นความเคยชินโดยไม่รู้สึกผิดว่า ‘การยืนบนบันไดเลื่อนเป็นการกีดขวางผู้อื่น’ อีกต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า