กระทรวงการคลังญี่ปุ่นยกระดับคำเตือนเกี่ยวกับภาวะความผันผวนของค่าเงินเยนในห้วงเวลานี้ พร้อมบอกใบ้เตรียมเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยตรงหากจำเป็น เพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าไปมากกว่านี้ ซึ่งความเป็นไปได้ของการเข้าแทรกแซงมีมากขึ้น เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าดำเนินการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Rate Check เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา
โดยการดำเนินการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนของ BOJ มักถูกมองว่าเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่บ่งชี้ว่า BOJ อาจเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ความเคลื่อนไหวของ BOJ มีขึ้นหลังจากที่ ชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะใช้ทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการเข้าแทรกแซงตลาดโดยตรง หากค่าเงินเยนยังคงทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
วานนี้ (14 กันยายน) ค่าเงินเยนร่วงหนักแตะระดับ 142.35 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในการซื้อ-ขายระหว่างวัน ก่อนปิดตลาดขยับแข็งค่าเล็กน้อยที่ 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังถือว่าอ่อนค่าอย่างมาก ซึ่งค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมานี้ได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ของตลาดว่า BOJ อาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของค่าเงินเยน
รายงานระบุว่า ญี่ปุ่นไม่เคยเข้าแทรกแซงตลาดเงินด้วยการเทขายดอลลาร์และช้อนซื้อเยนอีกเลยนับตั้งแต่ปี 1998
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะยืนยันหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนของ BOJ โดยเสริมว่า รัฐบาลจะติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดกับ BOJ อย่างใกล้ชิดต่อไป แต่หากรัฐบาลตัดสินใจเข้าแทรกแซง ก็จะทำ ‘ทันทีและทำต่อเนื่อง’
ยูกิโอะ อิชิซูกิ นักยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอาวุโสของ Daiwa Securities Co กล่าวว่า การตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อนเข้าแทรกแซงตลาด ซึ่งความจริงที่ว่ามีการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นการส่งข้อความไปยังตลาดว่า (หน่วยงาน) พร้อมที่จะเข้าไปแทรกแซง และการที่การตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ทำให้ตลาดค่อนข้างกังวล เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ BOJ จะแทรกแซง
ถึงกระนั้นนักวิเคราะห์ตลาดก็ยังแสดงความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้และประสิทธิผลของการแทรกแซงดังกล่าว แม้ว่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจะกำลังสร้างความปวดหัวให้กับญี่ปุ่นที่พึ่งพาการนำเข้าและขาดแคลนทรัพยากร
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเผชิญกับอุปสรรคหากต้องการก้าวเข้ามาแทรกแซงตลาด เพราะต้องได้รับความยินยอมจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้เงินดอลลาร์แข็งค่า เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเดินหน้าลดอัตราเงินเฟ้ออยู่ในขณะนี้
ด้าน ทาคุยะ คันดะ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย Gaitame.com เปิดเผยว่า การตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจมีผลบ้างทางใดทางหนึ่ง เพราะถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ค่าเงินเยนเริ่มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนในห้วงเวลาที่การแทรกแซงด้วยการช้อนซื้อเงินเยนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ทั้งนี้ แรงกดดันจากการขายเงินเยนรุนแรงขึ้นหลังจากข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 กันยายน) ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ บั่นทอนความหวังของหลายฝ่ายที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดระดับความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
รัฐบาลคลังญี่ปุ่นยอมรับว่า ความผันผวนของค่าเงินเยนเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจและค่อนข้างน่ากังวลใจ
โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นจะดำเนินการนโยบายเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น และออกมาตรการเพื่อรับมือกับค่าเงินเยนอ่อนค่า เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ กระนั้นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็กล่าวว่า ญี่ปุ่นควรฉวยโอกาสที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าในการกระตุ้นภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
อ้างอิง: