×

ทำไมอูเบอร์ในญี่ปุ่นไม่ได้รับความนิยม บทเรียนที่แท็กซี่ไทยต้องอ่าน!

โดย Katto Panarat
27.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สาเหตุที่ Uber ไม่อาจพิชิตแท็กซี่ญี่ปุ่นได้ นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะแท็กซี่ญี่ปุ่นมีการปรับกลยุทธ์สู้กับธุรกิจ Ride Sharing อย่างหลากหลาย ทั้งปรับค่าโดยสารใหม่ เพิ่มความสะดวกในการจ่ายเงิน ผูกการจ่ายเงินกับค่าโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่ความสุภาพอ่อนน้อม ความสะอาด และไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร
  • ญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิเสธบริการ Ride Sharing เพียงแต่ธุรกิจเหล่านั้นต้องทำงานหนักมากหากคิดจะสู้กับแท็กซี่ญี่ปุ่น
  • แท็กซี่ไทยก็ปรับตัวสู้กับธุรกิจ Ride Sharing ได้ เพราะมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น แต่ควรทำแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมการใช้งาน เพิ่มความแม่นยำในเส้นทาง และต้องไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร

     ทุกวันนี้ Uber ได้เข้ามา disrupt ธุรกิจแท็กซี่ทั่วโลก แต่มาดูกันว่าในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไรกันบ้าง

     ในประเทศญี่ปุ่นนั้น Uber ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่กระโดดลงมาทดลองตลาดของชาวญี่ปุ่น โดย UberTAXI เคยทดลองวิ่งให้บริการในโตเกียวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันได้ระงับการให้บริการไปแล้วเหลือเพียงแค่ UberBLACK ที่ยังคงให้บริการอยู่

     (นอกจาก UberBLACK ก็มี UberEATS) ซึ่งไม่มี UberTAXI แล้ว เนื่องจากกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถทะเบียนป้ายดำ ประกอบการรับจ้างทำการรับส่งผู้โดยสารนั่นเอง

 

UberBLACK

 

ทำไม Uber ถึงพิชิตแท็กซี่ญี่ปุ่นไม่ได้

     สาเหตุที่ UberTAXI ไม่ได้รับความนิยมและระงับการให้บริการไป นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแท็กซี่ญี่ปุ่น (JapanTaxi) ในปัจจุบันมีการปรับตัวและเอากลยุทธ์ต่างๆ มาสู้ธุรกิจ ride sharing เช่น

  1. การปรับค่าโดยสารใหม่ เป็นการปรับลดค่าโดยสารเริ่มต้นให้ถูกลง ค่าโดยสารเริ่มต้น 1 กิโลเมตรแรก (ประมาณ 1.052 km.) ราคา 410 เยน และหลังจากหนึ่งกิโลเมตรแล้วทุกๆ 280 เมตรจะคิด 90 เยน ซึ่งจากเดิมราคาเริ่มต้นที่ 730 เยน เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่นั่งระยะใกล้ เดิมค่าโดยสารเริ่มต้นของแท็กซี่ญี่ปุ่นแพง ทำให้หลายคนหันไปใช้บริการ Ride Sharing
  2. อัพเดตแอปพลิเคชันใหม่ เพิ่มฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปให้ครอบคลุมและใช้งานง่ายและทันยุคทันสมัย จากเดิมใช้แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบค่าบริการได้ก่อนใช้บริการ
  3. JapanTaxi Wallet เพิ่มความสะดวกสบาย เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดกับแท็บเล็ต ไม่ต้องชำระด้วยเงินสดให้เสียเวลา และที่สำคัญแท็กซี่ญี่ปุ่นทุกคันออกใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้ง หรือจ่ายผ่าน JapanTaxi Wallet สามารถรับใบเสร็จรับเงินออนไลน์และปรินต์ออกมาใช้งานได้
  4. JapanTaxi Wallet เลือกผูกกับบัตรเครดิตได้หลายบริษัทค่อนข้างครอบคลุมบัตรที่สามารถชำระค่าบริการได้ รวมถึงจ่ายผ่าน Apple Pay, Yahoo Wallet, Docomo หรือ AU Payment (จ่ายพร้อมค่าโทรศัพท์รายเดือนสำหรับลูกค้า docomo และ AU)
  5. การเรียกใช้แท็กซี่ในโตเกียวต่างจากพื้นที่อื่นมาก โตเกียวสามารถเรียกแท็กซี่เมื่อไหร่ก็ได้เพราะมีแท็กซี่ขับผ่านไปมาหลายคัน ไม่จำเป็นต้องจองผ่านแอปพลิเคชันก็ได้

 

UberBLACK

 

     แต่การใช้แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่คนญี่ปุ่นมักจะใช้กันในบางสถานการณ์ เช่น หลังดื่มแอลกอฮอล์ คนญี่ปุ่นจะไม่ขับรถเลย เพราะกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวด ถึงแม้จะไม่มีด่านตรวจหรือจุดเป่าลมตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบประเทศไทย แต่คนญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดตรงนี้ แม้เพียงอึกเดียวก็จะไม่ขับรถเพราะไม่อยากเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

     หรือเมื่อรถไฟเที่ยวสุดท้ายของวันหมด ต้องพึ่งพาแท็กซี่กลับบ้านแล้วเวลานั้นไม่อยากรอ หรือคอยโบกแท็กซี่บนถนน

     ข้อได้เปรียบของแท็กซี่ญี่ปุ่นที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากคือ ความสุภาพ ความสะอาดของคนขับแท็กซี่ ด้วยยูนิฟอร์ม ใส่ถุงมือขับรถ เบาะนั่งปูผ้าสีขาวสะอาดตา

     ช่วงแรกแอปพลิเคชันของ Uber สามารถเรียกรถแท็กซี่ทั่วไปได้ด้วย แต่ตอนนี้แท็กซี่ที่เข้าร่วมกับ JapanTaxi มีมากขึ้น รวม 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทแท็กซี่เข้าร่วมแล้ว 322 บริษัท รวมจำนวนแท็กซี่ทั้งหมด 33,552 คัน (ตัวเลขอ้างอิงจาก japantaxi.jp/partners)

     ดังนั้น Uber ในญี่ปุ่นจะได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนต่างชาติที่เดินทางมาโตเกียว และรู้จัก คุ้นเคย ใช้งาน Uber มาก่อนอยู่แล้วเท่านั้นเอง

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดแข็งของ Uber ที่ยังทำให้ UberBLACK ยังคงให้บริการได้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นเพราะระดับของ UberBLACK เป็น Luxury Taxi ซึ่งกลุ่มเป้าหมายต่างกันกับแท็กซี่ญี่ปุ่น และการไม่มีค่าชาร์จพิเศษกลางคืน อาจจะทำให้ Uber ราคาเท่าๆ กันกับแท็กซี่ทั่วไปในยามค่ำคืน เพราะแท็กซี่ญี่ปุ่นจะคิดค่าชาร์จพิเศษอีก 20% หลังเวลา 23:00 ถึง 05:00 (*แล้วแต่พื้นที่) เหมาะสำหรับคนที่ต้องเดินทางช่วงกลางคืน

     Ride Sharing ไม่ว่าจะเป็น Uber / Lyft / Didi Dache จะมีโอกาสเติบโตในประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า อาจจะกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่การปิดประตูไม่รับธุรกิจเหล่านี้เลย แต่ธุรกิจ Ride Sharing เหล่านี้ต้องทำงานหนักมาก

     ถึงอย่างไรกรมการขนส่งของประเทศญี่ปุ่นและกระทรวงคมนาคมของประเทศญี่ปุ่น ยังคงพิจารณาข้อบทกฎหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและเพื่อเพิ่มงานให้กับคนในชุมชน และเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินกับคนในชุมชนที่ต้องการใช้ Ride Sharing

     จังหวัดอื่นๆ และชุมชนที่ต้องการใช้ Ride Sharing ของประเทศญี่ปุ่นคิดว่ามีหลายพื้นที่ ตอนนี้ยังมีการเก็บข้อมูลและวิจัยความเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ถึงความจำเป็นที่จะนำธุรกิจ Ride Sharing เข้าสู่ชุมชนนั้น

 

Taxi (Photo: ponsulak/shutterstock) 

 

ตัวอย่างการเก็บสถิติถ้าใช้ Ride Sharing ที่ฮะโกะดะเตะ

     ฮะโกะดะเตะมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 300,000 คน มีรถเมล์และแท็กซี่วิ่งให้บริการรวมๆ กันอยู่ประมาณ 1,000 คัน (นอกนั้นทุกครัวเรือนมีรถยนต์ส่วนตัวใช้กันหมด จำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลมีประมาณ 10,000-20,000 คัน)

     ถ้ามี Ride Sharing ให้บริการ 3,000 คัน คนจะรอรถเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น ผลตรงนี้ทำให้เป็นที่พูดถึงว่า แท็กซี่และรถเมล์ที่ยังมีจำนวนน้อยทำให้เสียเวลารอนาน นอกจากนี้ถ้าใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาเป็น Ride Sharing เพียงแค่ 3,000 คันจาก 15,000 คัน (เฉลี่ยจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล) ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

     ข้อดีของ Ride Sharing ที่เหมาะกับคนญี่ปุ่นคือ สังคมของผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น การใช้ Ride Sharing จะช่วยให้ผู้สูงอายุเดินทางไปโรงพยาบาล ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น แก้ปัญหาผู้สูงอายุที่ต่อใบขับขี่ได้ยากขึ้น ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์ของผู้สูงอายุ

     จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่ไม่ยอมรับการเข้ามาของ Uber หรือธุรกิจ Ride Sharing อื่นๆ แต่กำลังหาวิธีการที่จะปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบันและเป็นไปตามกระแสโลก ซึ่งกำลังปรับระบบให้เหมาะสมกับการใช้งานและต้องถูกกฎหมายด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสาร รวมถึงทรัพยากรและพลังงานที่เริ่มจะลดน้อยลง จึงมีความคิดที่ต้องแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน

 

Taxi (Photo: Vassamon Anansukkasem/shutterstock)

 

แท็กซี่ไทยควรสู้ Uber อย่างไร

     แท็กซี่ไทยอาจจะลองเปลี่ยนหรือปรับตัวเองให้สู้กับธุรกิจ Ride Sharing ให้ได้แบบแท็กซี่ญี่ปุ่น เราเคยคุยกับคนขับแท็กซี่ประเทศไทย ในสังคมของคนขับแท็กซี่ไทยเองมีเครือข่าย (ที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท) เป็นเครือข่ายแท็กซี่อิสระ มีช่องทางส่งงานต่อให้กันทางแอปพลิเคชันหนึ่ง ถ้าลูกค้าประจำเรียกแท็กซี่ A แล้วแท็กซี่ A รับงานไม่ได้ ก็จะทำการส่งต่อให้แท็กซี่ B ที่อยู่ใกล้กับลูกค้าและสะดวกรับงาน เราเห็นได้ว่าแท็กซี่ไทยมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีตรงนี้มาใช้งานได้เหมือนกัน ถ้าจะเริ่มทำแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่ครอบคลุมการใช้งานได้บ้างน่าจะดีไม่ใช่น้อย และควรเพิ่มความแม่นยำในเส้นทาง อาจจะพึ่งพา GPS ช่วยในการนำทาง

 

Taxi (Photo: Neale Cousland/shutterstock)

 

     เพราะคนขับแท็กซี่ญี่ปุ่นก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เส้นทาง หรือไม่ชำนาญทาง แต่แท็กซี่ญี่ปุ่นจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร แต่จะใช้ GPS นำทางเพื่อช่วยให้ไปถึงปลายทาง (บางกรณีคนขับแท็กซี่จะแจ้งลูกค้าให้ทราบก่อนว่าตนเองไม่ชำนาญทางนั้น ลูกค้าพร้อมจะไปกับเขาหรือไม่ ลูกค้าต้องเป็นคนเลือกตอบรับหรือปฏิเสธ)

     ส่วนกรณีแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารของประเทศญี่ปุ่น สาเหตุที่เจอกันบ่อย คือ ปลายทางที่จะไปอยู่ใกล้มากเป็นระยะเดินได้ แท็กซี่จะแนะนำให้เราเดินไป แต่ถ้าเรายืนยันจะขึ้นแท็กซี่ เขาก็ต้องไปส่งเราตามปกติ

 

Cover Photo: KARAKADA HLEENOI/shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X