ศาลฎีกาญี่ปุ่นมีคำตัดสินให้ข้าราชการผู้เป็นบุคคลข้ามเพศสามารถใช้ห้องน้ำตามเพศที่ตนนิยามได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อาคารของกระทรวงการค้า เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม เคยสั่งห้ามไม่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าใช้ห้องน้ำตามเพศวิถีของตน
เว็บไซต์ The Japan News ของหนังสือพิมพ์ The Yomiuri Shimbun รายงานว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงฯ ได้สื่อสารกับพนักงานในสังกัดซึ่งเพศกำเนิดเป็นชายแต่ใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงว่า เธอต้องใช้ห้องน้ำที่อยู่ถัดไปอีก 2 ชั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานเพศหญิงคนอื่นๆ
ในเวลาต่อมา พนักงานคนดังกล่าวจึงได้ยื่นคำฟ้องร้องต่อรัฐบาล โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ยุติธรรมสำหรับเธอ และในที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิในการสั่งห้ามไม่ให้พนักงานใช้ห้องน้ำที่ตนต้องการ
ณ ปัจจุบัน พนักงานคนดังกล่าวยังไม่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ถึงเช่นนั้น เธอได้รับการวินิจฉัยถึงภาวะความไม่พึงพอใจในเพศสภาพตนเอง (Gender Dysphoria) ตั้งแต่ปี 1999 และด้วยการอนุญาตจากกระทรวงฯ เธอจึงได้แต่งตัวในเครื่องแบบของเพศหญิงเพื่อเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2010
ในช่วงที่ผ่านมา พนักงานรายนี้เคยเรียกร้องกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (National Personnel Authority) เพื่อขอให้กระทรวงฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้ห้องน้ำ แต่ความพยายามก็ไม่เป็นผล เธอจึงได้ฟ้องร้องกระทรวงฯ ในปี 2015
ต่อมาในปี 2019 ศาลแขวงโตเกียวก็มีคำตัดสินออกมาว่าการกระทำของกระทรวงฯ นั้นผิดกฎหมาย แต่ในปี 2021 ศาลสูงกลับมีคำตัดสินในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้การฟ้องร้องต่อศาลฎีกาจึงเกิดขึ้น
การตัดสินนี้จึงถูกจารึกลงไปในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากเป็นกรณีแรกในศาลฎีกาญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติในที่ทำงานสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งผลการตัดสินนี้ยังอาจเป็นการกระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของชุมชน LGBTQIA+ มากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
แฟ้มภาพ: ShutterStockStudio Via Shutterstock
อ้างอิง: