ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นร้อนแรงกว่า 3% นับตั้งแต่ โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา โดยล่าสุดวานนี้ (6 กันยายน) ดัชนี Nikkei 225 ปิดตลาดที่ 29,705 จุด เพิ่มขึ้น 531 จุด หรือ 1.83% โดยในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี Nikkei 225 ปรับขึ้นมาแล้วราว 6.7%
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ความร้อนแรงของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นผลจากนักลงทุนคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นแพ็กเกจขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ จากขณะนี้ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวล่าช้าเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา
“โกลแมน แซ็กซ์ ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า GDP ของญี่ปุ่น ปีนี้จะโต 2.6% และปีหน้าโต 3% เป็นการโตที่น้อยกว่า GDP โลกที่ 6.4% และ 4.7% ซึ่งตัวเลขนี้เป็นการประเมินก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลาออก การมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีขึ้น อาจจะมากกว่าตัวเลขนี้หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งมีมูลค่าขนาดใหญ่ออกมา”
ประกิตกล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและความร้อนแรงของตลาดหุ้นถือเป็นจังหวะในการลงทุนที่ดี โดยนักลงทุนที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอยู่แล้ว ควรรอคอยแผนการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นหนุนให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น แล้วจึงหาจังหวะขาย
ส่วนนักลงทุนที่รอจังหวะลงทุน คาดว่าตลาดจะมีการย่อตัวลงหลังจากปรับตัวสูงขึ้นรุนแรงมากแล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้าน สาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้นจากความคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าดัชนี Nikkei จะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดอย่างมาก
“เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีปัญหามากและไม่เติบโตมาก่อนที่จะเจอโควิด เพราะมีคนสูงอายุมาก ดอกเบี้ยต่ำ คนออมเงินมากกว่าใช้จ่าย มองดูแล้วถึงจะมีโมเมนตัม แต่ไม่ใช่อัปเทรนด์ ไม่เหมือนสหรัฐฯ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะไม่แรง เป็นแค่การฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ”
สาห์รัชกล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นควรเน้นการลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้น โดยนักลงทุนที่มีการลงทุนอยู่แล้ว ควรหาจังหวะขายออกในช่วงที่ตลาดหุ้นตอบรับมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมา ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่เคยเข้าลงทุน อาจใช้กลยุทธ์ติดตามและเข้าซื้อเมื่อตลาดอ่อนตัวลง และขายออกเมื่อมีกำไร
มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน ดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้นแล้วประมาณ 10% ถือเป็นการฟื้นตัวที่ล่าช้าเมื่อทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากญี่ปุ่นยังถูกกดดันจากความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าการมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะส่งผลให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะมีมาตรการกระตุ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไป
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce