×

เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น เมื่อมนุษย์เงินเดือนค่าแรง ‘แทบไม่ขยับ’ มา 30 ปีแล้ว

10.02.2023
  • LOADING...

เช้าวันใหม่วนกลับมาอีกครั้ง…เหมือนเช่นทุกวัน

 

ฮิเดยะ โทคิโยชิ ชายวัยกลางคนชาวญี่ปุ่น ก็ยังลืมตาตื่นจากที่นอนเหมือนเช่นเดิม เพื่อไปทำหน้าที่เดิมของเขาคือครูสอนภาษาอังกฤษในกรุงโตเกียว ชีวิตของเขาหมุนวนอยู่เช่นนี้มากว่า 30 ปีแล้ว และสิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมเลยคือ ‘เงินเดือน’

 

ตลอด 30 ปีของการเป็นครู โทคิโยชิเปิดเผยว่า เงินเดือนเขานั้นแทบไม่ได้ขยับขึ้นเลย

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เมื่อสามปีก่อน เขาได้ตัดสินใจเริ่มเขียนหนังสือขายหลายเล่มด้วยกัน เพราะหมดหวังว่าเงินเดือนจากงานประจำจะขึ้น เลยหาเวลาไปพัฒนาทักษะเพื่อหารายได้อีกทางหนึ่งจากอาชีพเสริม 

 

“ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก เพราะการเขียนหนังสือขายทำให้ผมมีรายได้เข้ามาเพิ่ม ไม่อย่างนั้นผมคงติดอยู่ในกับดักรายได้เดิมๆ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมรอดมาจนถึงวันนี้”

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโทคิโยชิ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพที่ใหญ่ขึ้นของชีวิตมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นที่ต่างทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่เงินเดือนกลับแทบไม่ได้กระเตื้องขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บีบบังคับให้รัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ต้องหวนกลับมาทบทวนปัญหาดังกล่าวว่าจะแก้ไขกันอย่างไรต่อไป เมื่อราคาข้าวของเครื่องใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่หลายบริษัทกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองที่รุนแรงเพื่อให้บรรดานายจ้างปรับขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้าง

 

ปัญหาเรื้อรังหยั่งราก

 

  • ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า ในปี 2021 เงินเดือนเฉลี่ยต่อหัวในหนึ่งปีของญี่ปุ่นอยู่ที่ 39,711 ดอลลาร์ (ราวๆ 1.33 ล้านบาท) สำหรับคนไทยเราอาจจะรู้สึกว่านี่ก็เงินเดือนเยอะมากแล้ว แต่ถ้าลองเทียบกับระดับเมื่อ 30 ปีก่อน หรือในปี 1991 จะเห็นว่าเงินเดือนของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 37,866 ดอลลาร์ (ราว 1.27 ล้านบาท) ชัดเจนว่าสัดส่วนของเงินเดือนแทบไม่ขยับขึ้นเลย 

 

  • ตีให้เห็นภาพชัดกว่านั้นคือ เงินเดือนของพนักงานญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นไม่ถึง 5% แต่หากไปเทียบกับประเทศกลุ่ม G7 อื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี จะเห็นว่าค่าแรงของประชาชนในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 34% ในรอบ 30 ปี

 

  • หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สำนักข่าว CNN ได้รวบรวมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า มีหลายสาเหตุด้วยกันที่ทำให้ค่าแรงของญี่ปุ่นแทบจะคงตัวในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา 

 

เจาะลึก สาเหตุคืออะไร

 

  • ประการแรกเลยคือ ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะ ‘เงินฝืด’ มายาวนานหลายสิบปี สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคืบคลานเข้าสู่ดินแดนซากุระตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 โดยเหตุเริ่มมาจากเงินเยนแข็งค่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง ขณะเดียวกันแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศก็มีต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับบริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นด้วย ทำให้การนำเข้าสินค้านั้นทำกันได้แบบสบายๆ ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมันมือ สถานการณ์ต่างๆ ทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จนท้ายที่สุดฟองสบู่ก็แตกดังโพละ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงต่อเนื่องและยาวนาน

 

  • ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยพื้นฐานแล้วอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต่างไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบมากนัก หรือจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรง

 

  • แต่มาในวันที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเงินในกระเป๋าตัวเองที่อยู่ดีๆ ก็มีมูลค่าลดลงแบบไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ทำให้เริ่มมีเสียงบ่นและเสียงวิจารณ์จากประชาชนที่แข็งกร้าวขึ้นกว่าเดิม

 

  • นอกจากประเด็นเงินเฟ้อแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ค่าแรงของคนญี่ปุ่นไม่กระเตื้องคือเรื่องของผลิตภาพแรงงาน (Productivity Rate)

 

  • ผลิตภาพของประเทศ ซึ่งวัดจากจำนวนคนงานที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อชั่วโมง (GDP per hour) นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ‘น่าจะเป็นเหตุผลหลัก’ ที่ทำให้ค่าจ้างคงที่ 

 

  • “โดยทั่วไปแล้วการขยายตัวของค่าแรงและผลิตภาพนั้นจะแปรผันตรงตามกัน” มูจ อดาเล็ต แม็กโกแวน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำฝ่ายเศรษฐกิจญี่ปุ่นของ OECD กล่าว “เมื่อผลิตภาพขยายตัวขึ้น ประสิทธิภาพของบริษัทก็จะดีขึ้นด้วย และเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะสามารถให้ค่าจ้างที่สูงขึ้นได้”

 

  • นอกจากนี้แม็กโกแวนยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับเรื่องค่าแรง เพราะเมื่อแรงงานอายุมากก็จะสร้างผลิตภาพได้ไม่มากเท่ากับคนหนุ่มสาว รวมถึงได้เงินเดือนที่น้อยลง ขณะที่รูปแบบการทำงานของผู้คนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

 

  • ในปี 2021 เกือบ 40% ของแรงงานทั้งหมดในญี่ปุ่นถูกจ้างแบบพาร์ตไทม์ หรือทำงานนอกเหนือเวลาทำการปกติ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 20% จากปี 1990 และด้วยสัดส่วนของผู้ที่ทำงานไม่ประจำเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้รายได้เฉลี่ยทั่วประเทศน้อยลงด้วย เพราะพวกเขาได้เงินน้อยกว่างานประจำนั่นเอง

 

วัฒนธรรม ‘มนุษย์เงินเดือนชั่วชีวิต’

 

  • นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า วัฒนธรรมการทำงานในแบบฉบับญี่ปุ่นก็มีผลทำให้เงินเดือนไม่ปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

 

  • ปัจจุบันมีหลายคนที่ยังทำงานในระบบการจ้างงานแบบตลอดชีพ (Lifetime Employment) ซึ่งเป็นระบบที่ฝังรากลึกในองค์กรของญี่ปุ่นที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเหนียวแน่น พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนอย่างมั่นคงทุกเดือน รวมถึงโบนัสและสวัสดิการต่างๆ แลกกับการทำงานแบบที่ต้องอุทิศชีวิตให้กับบริษัท ทำให้เราเห็นภาพของมนุษย์เงินเดือนที่เลิกงานแล้วยังกลับบ้านไม่ได้ ต้องทำโอที ต้องสังสรรค์กับเจ้านายและคู่ค้า ด้วยเหตุผลว่านี่คือความรับผิดชอบของพนักงาน 

 

  • แต่ภายใต้ความมั่นคงและอุ่นใจของพนักงานนั้น ทำให้หลายบริษัทระมัดระวังอย่างมากเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขามีวิธีปกป้องพนักงานในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น ในเมื่อนายจ้างเลย์ออฟพนักงานไม่ได้ (หากไม่ได้เกิดวิกฤตหนักหนาจริงๆ) พวกเขาก็ต้องสร้าง ‘กันชน’ บางอย่าง เพื่อสร้างหลักประกันว่าบริษัทจะสามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ตลอดอายุงาน แม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

 

  • อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือระบบอาวุโสในที่ทำงานที่ถือว่าแข็งแกร่งสุดๆ ในองค์กรญี่ปุ่น เพราะยิ่งคนอยู่นาน ตำแหน่งยิ่งสูง ค่าตอบแทนยิ่งดี ต่างกับโลกตะวันตกที่จ่ายเงินจากฝีมือของพนักงานโดยไม่เกี่ยงอายุ ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ค่อยกล้าเปลี่ยนงานมากนัก ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ค่าแรงไม่ได้กระโดดขึ้นเหมือนกับชาติอื่นๆ ที่คนมักจะเปลี่ยนงานเพื่อต่อรองให้บริษัทใหม่เพิ่มค่าแรงเพื่อดึงตัวคนเก่งๆ เข้าองค์กร

 

  • เจสเปอร์ โคลล์ นักยุทธศาสตร์และนักลงทุนด้านญี่ปุ่น เปิดเผยว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดในตลาดแรงงานญี่ปุ่นคือการที่นายจ้างดึงดันจะจ่ายเงินเพิ่มตามระดับความอาวุโส เพราะหากบริษัทเปลี่ยนมาจ่ายเงินตามกลยุทธ์ใครทำงานเก่งได้มากกว่า ก็จะกระตุ้นให้เกิดการย้ายงานมากขึ้น ผู้คนจะอยากไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งที่ดีกว่ามากขึ้น”

 

แรงกดดันต่อบริษัท

 

  • เมื่อเดือนที่ผ่านมา ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้กล่าวเตือนว่า ‘เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง’ โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะชะงักงัน หากบริษัทต่างๆ ไม่ปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้พนักงานสามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมาผู้นำญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยมีบางส่วนขานรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว

 

  • สถานการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ชวนปวดหัวของรัฐบาล โดยในเดือนธันวาคม 2022 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่นนั้นพุ่งขึ้นถึง 4% ซึ่งถึงแม้จะต่ำกว่าชาติใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ถือเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 41 ปีของญี่ปุ่น

 

  • สเตฟาน อังริก นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics ในโตเกียว เปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ว่า “ในประเทศที่ค่าแรงไม่ขยายตัวขึ้นเลยเป็นเวลากว่า 30 ปี มูลค่าเงินที่แท้จริงของค่าจ้างจะลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ”

 

  • ที่ผ่านมาเป้าหมายหลักของรัฐบาลคิชิดะคือการปรับขึ้นค่าแรงประมาณ 3% หรือสูงกว่านั้นทุกๆ ปี แต่มาในวันนี้คิชิดะได้ยกระดับเป้าหมายขึ้นอีกขั้น ด้วยการวางแผนที่จะสร้างระบบที่เป็นทางการมากขึ้นกว่าเดิม 

 

  • โดยรัฐบาลเล็งที่จะออกมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีความครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับการขึ้นค่าจ้าง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภาพของประเทศ รวมถึงจะมีการจัดทำไกด์ไลน์ให้กับบริษัทต่างๆ ภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

  • ในขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่างสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่นหรือ RENGO ก็เตรียมเรียกร้องให้นายจ้างขึ้นค่าแรง 5% ปีนี้ ในการเจรจากับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยให้เหตุผลว่าแรงงานญี่ปุ่นมีค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานโลก

 

  • อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบางบริษัทที่ขานรับนโยบายของผู้นำญี่ปุ่นแล้ว อาทิ Fast Retailing บริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้า Uniqlo ที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ ได้ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานในญี่ปุ่นสูงสุด 40% พร้อมยอมรับว่าค่าตอบแทนของพนักงานในญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาหลายปีแล้ว

 

  • นอกจากนี้ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จากผลการสำรวจในเดือนมกราคม มีบริษัทใหญ่มากกว่าครึ่งของญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะปรับขึ้นค่าแรงในปีนี้แล้ว รวมถึง Suntory บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะปรับค่าแรงขึ้น 6% ให้กับพนักงานในประเทศราว 7,000 ชีวิต แต่จะมีการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงานก่อนการตัดสินใจจะเป็นที่สิ้นสุด

 

  • ในกรณีนี้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก เพราะหากบริษัทยักษ์ใหญ่ขยับก่อน ก็จะเป็นมูฟสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทขนาดเล็กกว่าอื่นๆ ขยับตามไปพร้อมกัน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กร

 

แฟ้มภาพ: Gorodenkoff Via Shutterstock

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X