×

วิเคราะห์เกมการทูตเชิงรุก ทำไมนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนเวียดนาม-ฟิลิปปินส์?

02.05.2025
  • LOADING...
นายกฯ ญี่ปุ่น

สัปดาห์สุดท้ายในเดือนเมษายน 2025 ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ถือเป็นภารกิจทางการทูตที่มีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น

 

นายกรัฐมนตรีอิชิบะและนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม เห็นพ้องจัดตั้งกลไกหารือร่วมระดับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหม หรือที่เรียกว่า ‘2+2’

 

2+2 คืออะไร? 2+2 ไม่ใช่แค่พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่เป็นเวทีที่ผู้นำด้านการทูตและความมั่นคงของทั้งสองประเทศจะสามารถวางแผนร่วมกันแบบเรียลไทม์

 

นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามมีกรอบ 2+2 กับญี่ปุ่น และสะท้อนความไว้ใจทางยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น การประชุมครั้งแรกจะจัดขึ้นในญี่ปุ่นภายในปีนี้

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเตรียมผลักดันเวียดนามเข้าสู่โครงการ ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ (OSA) เพื่อเสริมแกร่งด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงความสามารถในการดูแลความปลอดภัยทางทะเลของเวียดนาม

 

ขณะที่กับฟากฝั่งฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีอิชิบะและเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เห็นพ้องเดินหน้า ‘ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น’ พร้อมเปิดเจรจาข้อตกลงสองฉบับ ได้แก่ ข้อตกลง แลกเปลี่ยนและสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ (ACSA) และข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง

 

ข้อตกลงทั้งสองฉบับจะช่วยให้ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์สนับสนุนกันด้านอาหาร เชื้อเพลิง อุปกรณ์ และข่าวกรอง ระหว่างการฝึกซ้อมหรือปฏิบัติการร่วม

 

ขณะเดียวกัน ข้อตกลงการเข้าถึงซึ่งกันและกัน (RAA) ที่ลงนามไปเมื่อกลางปี 2024 จะเปิดทางให้กองกำลังญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์สามารถเดินทางเข้าไปฝึกหรือช่วยเหลือในดินแดนของอีกฝ่ายได้ ฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันแล้ว และญี่ปุ่นอยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากสภา

 

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของญี่ปุ่นจากบทบาทผู้สังเกตการณ์สู่การเป็น ‘ผู้ร่วมกำหนดกติกา’ ในภูมิภาค โดยเน้นความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกที่ยึดตามหลักกฎหมาย ไม่ใช่กำลัง

 

เดินเกมเศรษฐกิจ ใต้สงครามภาษี

 

โลกกำลังเปลี่ยน ระเบียบการค้าโลกถูกท้าทายโลกาภิวัตน์กำลังสั่นคลอน ห่วงโซ่อุปทานขาดตอน ด้วยสงครามกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ

 

ญี่ปุ่นไม่รอให้พายุผ่าน แต่เริ่มสร้างระบบกันสั่นสะเทือนของตัวเอง

 

เมื่อต้นเดือนเมษายน สหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีทวิภาคี 24% กับสินค้าญี่ปุ่น และ 46% กับสินค้าเวียดนาม แม้จะถูกระงับชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันเพื่อเปิดทางสำหรับการเจรจา แต่ภาษีนำเข้า 10% ยังคงมีผลอยู่ และนี่คือแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อสองประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก

 

แล้วญี่ปุ่นตอบสนองอย่างไร?

 

ญี่ปุ่นเดินเกมสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับเวียดนามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่าน 3 สิ่งนี้คือ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสีเขียว และสภาพแวดล้อมเอื้อการลงทุน

 

  1. เซมิคอนดักเตอร์: ญี่ปุ่นสนับสนุนการฝึกอบรม นักศึกษาเวียดนามระดับปริญญาเอก 250 คน ในสายงานเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านโครงการที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น-เวียดนาม ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต
  2. พลังงานสีเขียว: ญี่ปุ่นและเวียดนามประกาศความร่วมมือในโครงการพลังงานสะอาดมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมพลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานชีวภาพ และโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ภายใต้กรอบความร่วมมือ Asian Zero Emission Community (AZEC)
  3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน: ญี่ปุ่นยังสนับสนุนการปรับโครงสร้างราชการของเวียดนามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการอนุมัติและเอื้อต่อการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่เวียดนาม

 

อาจเรียกได้ว่าเป็นแผนรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะยาว ญี่ปุ่นกำลังสร้างฐานห่วงโซ่อุปทานใหม่ ลงทุนในความมั่นคงของพลังงาน และแน่นอนสร้างหุ้นส่วนระยะยาวทางเทคโนโลยี โดยเวียดนามคือจุดศูนย์กลางสำคัญในแผนนี้

 

เดินหน้าปฏิรูปนโยบายแรงงานต่างชาติ

 

ในขณะที่เมื่อพูดถึงปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ นั่นก็คือวิกฤตขาดแคลนแรงงานอย่างจริงจัง แรงงานวัยหนุ่มสาวขาดแคลนทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิต เกษตรกรรม แม้แต่การดูแลผู้สูงอายุ และในเวลานี้ ญี่ปุ่นต้องการแรงงาน

 

คำตอบของญี่ปุ่นก็คือ เวียดนาม ณ ปัจจุบัน มีแรงงานเวียดนามมากกว่า 600,000 คน ทำงานในญี่ปุ่น แต่หลายคนอยู่ภายใต้ระบบฝึกงานที่ถูกวิจารณ์มายาวนาน แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังสังคายนาระบบแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศ

 

โดยระบบใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว จะเริ่มใช้เต็มรูปแบบในปี 2027 ทั้งนี้ 3 จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบปฏิรูปแรงงานต่างชาตินี้ที่น่าสนใจ คือ

 

  1. แรงงานเวียดนามจะได้รับสถานะ ‘แรงงานฝีมือเฉพาะทาง’ ที่อยู่ระยะยาวได้
  2. แรงงานสามารถเปลี่ยนที่ทำงานได้ ถ้ามีปัญหา พุ่งเป้าหยุดการเอารัดเอาเปรียบ การแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน และเพื่อปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงานดีขึ้น
  3. และที่สำคัญที่สุด นี่คือครั้งแรกที่ทั้งญี่ปุ่นและเวียดนามจะร่วมกันจัดตั้ง ทะเบียนหน่วยงานจัดหางานที่น่าเชื่อถือ เพื่อปกป้องแรงงานตั้งแต่ยังไม่เดินทางออกจากบ้านเกิด

 

ญี่ปุ่นกำลังสร้าง ‘ห่วงโซ่มนุษย์’ ควบคู่ไปกับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทั้งการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะ มีคุณค่าในตัวเอง และรักษาหุ้นส่วนระยะยาว ทั้งหมดนี้ เวียดนามก็ยังคงเป็นคำตอบ

 

ทำไมต้องเป็นเวียดนาม-ฟิลิปปินส์?

 

หากมองภาพกว้างกว่านั้นออกไป จะเห็นว่าการเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ของนายกฯ อิชิบะ ไม่ใช่แค่ภารกิจทางการทูตธรรมดา แต่มันคือ ‘หมากสำคัญ’ บนกระดานยุทธศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แต่ละก้าวถูกวางอย่างมีเป้าหมาย

 

เวียดนามคือพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเวียดนามระบุว่า ญี่ปุ่นมีเงินลงทุนในเวียดนามสะสมแล้วกว่า 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

Reuters รายงานว่า บริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ เช่น Canon, Honda, Panasonic มีโรงงานตั้งอยู่ที่นี่ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ญี่ปุ่นมองเวียดนามเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการกระจายฐานการผลิตจากจีน

 

ส่วนฟิลิปปินส์ ในอีกมุมหนึ่ง คือพันธมิตรด้านความมั่นคงทางทะเล ประเทศตั้งอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือสำคัญในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดสูง

 

จากการที่ญี่ปุ่นได้ลงนาม ข้อตกลง RAA (Reciprocal Access Agreement) กับฟิลิปปินส์ในปี 2024 ซึ่งเอื้อให้กองกำลังของทั้งสองประเทศเข้าไปฝึกซ้อมหรือช่วยเหลือด้านภัยพิบัติในอีกฝ่ายได้ พร้อมทั้งเริ่มเจรจาข้อตกลงด้าน การแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง และ สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ (ACSA) ซึ่งถือเป็นการขยายความร่วมมือทางทหารในระดับลึก

 

แล้วทำไมต้องเป็นสองประเทศนี้? มี 3 เหตุผลหลักคือ ความไว้ใจ ภูมิศาสตร์ และคุณค่าร่วมกัน

 

เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นประเทศประชาธิปไตยเศรษฐกิจกำลังเติบโต มีนโยบายอธิปไตยทางทะเล โดยผลสำรวจจากสถาบัน Pew Research เมื่อปี 2016 ระบุว่า ประชาชนทั้งสองประเทศมีมุมมองเชิงบวกต่อญี่ปุ่นสูงที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย

 

อีกมิติสำคัญคือความร่วมมือสามฝ่าย (Trilateral Dynamics) การเดินทางครั้งนี้ยังสะท้อนการปรับสมดุลของความร่วมมือญี่ปุ่น-สหรัฐฯ-เวียดนาม และญี่ปุ่น-สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์

 

ญี่ปุ่นไม่ได้เข้ามาเพื่อแทนที่สหรัฐฯ แต่เพื่อ ‘แบ่งเบาภาระ’ ในการส่งเสริมหลักการของอินโด-แปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific)

 

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ต้องเดินบนเส้นบางๆ เพราะหลักการในจุดยืนของอาเซียนคือ ‘ความเป็นกลาง’ การสร้างพันธมิตรทวิภาคีที่ลึกขึ้น อาจถูกตีความว่าเป็นการแบ่งขั้วใหม่ในภูมิภาค และนั่นอาจทำให้บางประเทศในอาเซียนรู้สึกต้องเลือกข้าง ซึ่งขัดกับแนวทางที่อาเซียนยึดถือมาตลอด

 

จากความร่วมมือด้านความมั่นคง พลังงาน เทคโนโลยี ไปจนถึงแรงงานและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนไหวอย่างมีชั้นเชิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

หลายโครงการอาจดูเงียบ ไม่หวือหวา แต่สะท้อนการวางรากฐานเพื่อความมั่นคงและความยืดหยุ่นระยะยาว ผ่านความไว้ใจ การลงทุน และการประสานประโยชน์ร่วมกัน

อาจถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามว่า ความเป็นผู้นำในเอเชีย กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่สุขุม อ่อนโยน และร่วมมือมากขึ้นหรือไม่

 

ในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยแรงดึงหลายทาง บางที ความมั่นคงอาจไม่ได้เกิดจากการแข่งกันแสดงพลัง แต่อยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์แบบมีเงื่อนไขที่ทรงพลังก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising