วิกฤตการณ์ในเมียนมายังคงลุกลาม ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคและอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยับของประเทศใดย่อมมีนัยสำคัญ
กว่า 60 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นใช้แนวทาง ‘คงความสัมพันธ์พิเศษ’ กับเมียนมา ให้ความช่วยเหลือ ลงทุน และรักษาระยะห่างจากนโยบายของตะวันตกที่พยายามโดดเดี่ยวทหารเมียนมา (ตะมะดอว์)
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ EAOs และตัวแทนของรัฐบาลเอกภาพ (NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมา พบกับตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น
หรือญี่ปุ่นกำลังส่งสัญญาณปรับจุดยืนต่อผู้นำทหาร? ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองทัพเมียนมากำลังอ่อนแอลงในช่วงเวลากว่า 3 ปีของการรัฐประหาร
จับตารัฐบาลญี่ปุ่นคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา
วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเสนอภาพผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ มาซาฮิโกะ โคมูระ พบกับตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา โคมูระระบุว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือและพูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา”
ปกติแล้วญี่ปุ่นจะเดินหน้าทางการทูตอย่างระมัดระวัง แต่การที่ตัวแทนภาครัฐพบกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) และมีภาพลงบนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ บ่งบอกถึงการปรับท่าทีของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลจากกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมาเปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 ญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนในเมียนมาสูงเป็นอันดับ 3 มูลค่า 99.353 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อันดับ 1 และอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ และจีน ด้วยมูลค่าการลงทุน 346.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 236.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ญี่ปุ่นมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผ่านการพัฒนาต่อเมียนมาตั้งแต่ปี 1954 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 70 ปีเต็ม เมื่อมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่ลงทุนในเมียนมา การตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารจึงเป็นเรื่องยาก ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนกลุ่มต่อต้านและใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ไทยพยายามใช้แนวทางการทูตต่อเมียนมาอย่างระมัดระวังเช่นกัน แต่ไทยถูกมองว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนติดกับฝั่งตะวันตกของไทย มีคนหนีภัยการสู้รบเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากเกิดการสู้รบที่เมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่งผลต่อการค้าข้ามพรมแดนของทั้งสองประเทศที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว
อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเมียนมาเป็นอันดับหนึ่ง และเตรียมหาช่องทางคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธของเมียนมา เมื่อปานปรีย์ลาออก การทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการด้านเมียนมาจึงจบลงไปด้วย ขณะนี้สายตาจึงจับจ้องไปที่การทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศท่านใหม่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ในเรื่องการวางท่าทีของไทย
ไทยกำลังปรับนโยบายต่อเมียนมา?
วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Salween Press ในเมียนมา รายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่ม คือตัวแทนของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU, กลุ่มกอบกู้รัฐฉาน RCSS, พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP), องค์การแห่งชาติกะฉิ่น (KNO) และ NUG ในเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ด้านหนึ่งมีกระแสตั้งคำถามถึงการพูดคุยที่ไม่ได้มาจากภาครัฐโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการพูดคุยโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่อีกด้านถูกมองเป็นการทูตแบบ Track 2 ที่เดินหน้าโดยประชาชน
อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวคือ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงเรื่องการดำเนินการตัดบริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ไปยังศูนย์หลอกลวงที่ชเวโก๊กโก่และเคเคพาร์กที่ชายแดนไทยในรัฐกะเหรี่ยง ยิ่งอาจจะแสดงถึงแนวทางของไทยที่ออกห่างจากรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น
ภูมิรัฐศาสตร์ผ่านสมรภูมิเมียนมา
สหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับ ‘ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธ’ แก่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและกองกำลังป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธของรัฐบาลคู่ขนาน (NUG) ของเมียนมา และยังคงผลักดันให้ประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ต้องดำเนินการที่หนักแน่นมากขึ้นต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ขณะเดียวกันจีนมีบทบาทสำคัญในเมียนมา โดยเฉพาะการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทูตแก่รัฐบาลทหารเมียนมา การที่จีนมีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน ทำให้ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมา
เส้นทางข้างหน้า
นโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นต่อเมียนมาชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทูตในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในเสถียรภาพของเมียนมา ต้องตระหนักถึงแรงกดดันทางการทูตที่เปลี่ยนไปและต้องรับมืออย่างรอบคอบ เพื่อให้ไทยมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และรักษาบทบาทในฐานะผู้เล่นที่มีความรับผิดชอบและมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไทยกำลังถูกจับตามองเรื่องการวางสมดุลทางการทูต และอาจถูกกดดันมากขึ้นในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก แต่อีกด้านย่อมหมายถึงโอกาสที่จะใช้แนวทางการทูตเชิงรุก เพื่อพิสูจน์คำมั่นที่ว่า ไทยจะกลับสู่จอเรดาร์โลกอีกครั้ง
ภาพ: Jiji Press / AFP / Japan Out / Esfera via Shutter Stock