ญี่ปุ่นกำลังวาดเส้นรอบหมู่เกาะเซ็งกากุ (Senkaku) หรือที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู (Diaoyu) เพื่อกำหนดวงล้อม (Island Chain) ไม่ให้จีนรุกล้ำ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางฝั่งญี่ปุ่น เพื่อปกป้องหมู่เกาะที่สองชาติมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ต่างอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ
โนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ CNN โดยกล่าวถึงหมู่เกาะพิพาทดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออกว่า หมู่เกาะเซ็งกากุเป็นดินแดนของญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย และญี่ปุ่นจะปกป้องดินแดนส่วนนี้ด้วยการตอบโต้การคุกคามใดๆ ของจีนอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ขยายกองกำลังป้องกันตนเอง โดยเพิ่มเครื่องบินขับไล่ F-35 ที่ล้ำสมัย และเปลี่ยนเรือรบเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการสร้างเรือพิฆาต เรือดำน้ำ และขีปนาวุธใหม่ แต่ถึงกระนั้น งบประมาณรายจ่ายด้านการทหารของญี่ปุ่นยังน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน
“เพื่อต่อต้านการดำเนินการของจีนต่อหมู่เกาะเซ็งกากุและพื้นที่อื่นๆ ในทะเลจีนตะวันออก…เราต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังปกป้องดินแดนของเราอย่างเด็ดเดี่ยว ด้วยจำนวนเรือยามชายฝั่งของญี่ปุ่นที่มากกว่าของจีน” รมว.กลาโหมญี่ปุ่นกล่าว “ญี่ปุ่นไม่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะเซ็งกากุกับประเทศอื่นๆ” เขากล่าวเสริม
หมู่เกาะพิพาทที่ไม่มีคนอาศัยอยู่แห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 1,900 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้เพียง 1 ใน 3 ของระยะทางดังกล่าว ความตึงเครียดเหนือหมู่เกาะพิพาทนี้คุกรุ่นมานานหลายปีแล้ว ย้อนไปเมื่อปี 2012 สถานการณ์ตึงเครียดเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้พุ่งถึงจุดเดือด ปลุกความรู้สึกชาตินิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวจีน เป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงตามที่สาธารณะในหลายเมืองของจีน รถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นถูกทำลายเสียหาย ร้านค้าและร้านอาหารญี่ปุ่นถูกบุกรุกทำลาย เช่นเดียวกับสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง
สถานการณ์ตึงเครียดไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังทวีความรุนแรงในระดับรัฐบาลด้วย โดยรัฐบาลจีนมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างแข็งกร้าวเช่นกัน
“หมู่เกาะเตียวหยูเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของจีน และเป็นสิทธิ์โดยธรรมชาติ (Inherent Right) ของเราที่จะดำเนินการลาดตระเวนและบังคับใช้กฎหมายในน่านน้ำเหล่านี้” กระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวในแถลงการณ์เมื่อปีที่แล้ว
จีนสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพิพาทด้วยการส่งเรือลาดตระเวน และออกกฎหมายใหม่ที่เปิดทางให้หน่วยยามชายฝั่งมีอำนาจมากขึ้น
รายงานของทางการญี่ปุ่นระบุว่า เรือของหน่วยยามฝั่งของจีนได้รุกล้ำเข้าไปยังน่านน้ำของญี่ปุ่น หรือภายใน 12 ไมล์ทะเลจากแผ่นดินญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 88 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ในเขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) หรือเขตที่ต่อออกไปอีก 12 ไมล์ทะเลจากทะเลอาณาเขต พบการบุกรุกของจีน 851 ครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของจีนคือการนำกำลังของตนเข้าประจำการในและรอบๆ พื้นที่ช่วงชิง (Contested Area) และใช้กฎหมายและอำนาจของปักกิ่งเหนือพื้นที่เหล่านั้น
“การแสดงสิทธิ์ของรัฐชายฝั่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการยืนยันอำนาจอธิปไตย” อเลสซิโอ ปาตาลาโน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามและยุทธศาสตร์ ที่ King’s College ในลอนดอนกล่าว “มีการกระทำที่ท้าทายส่วนสำคัญของดินแดนอธิปไตยของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วและไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้”
ภาพ: JIJI PRESS JAPAN OUT JIJI PRESS / AFP
อ้างอิง: